อัยการสูงสุดศาลอาญาระหว่างประเทศยื่นขอหมายจับ ‘มินอ่องหล่าย’

เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 20:36:09
X
• ข้อหาคือการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
• เหยื่อคือชาวโรฮิงญา

เอเอฟพี - อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ขอให้ผู้พิพากษาออกหมายจับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า จากข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวโรฮิงญา

คำร้องของ คาริม ข่าน ต่อผู้พิพากษาของศาลในกรุงเฮก นับเป็นคำร้องครั้งแรกของศาลเพื่อขอหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่าในความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา

“หลังจากสืบสวนอย่างอิสระ ครอบคลุม และเป็นกลาง สำนักงานของเราได้สรุปว่ามีเหตุผลสมควรที่จะเชื่อว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย รักษาการประธานาธิบดี รับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ข่านระบุในคำแถลง

สิ่งนี้ยังรวมถึงอาชญากรรมของการเนรเทศและการกดขี่ข่มเหง ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อขึ้นระหว่างวันที่ 25 ส.ค. ถึง วันที่ 31 ธ.ค.2560 ข่านระบุ

ทั้งนี้ โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้

ในปี 2562 อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดการสอบสวนอาชญากรรมต้องสงสัยที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่าในปี 2559 และปี 2560 ที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม 750,000 คนในพม่า ต้องอพยพหลบหนีไปยังบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

เวลานี้ โรฮิงญาราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงใกล้กับเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่เป็นเมืองชายแดนของบังกลาเทศ ผู้อพยพหลายคนกล่าวหาว่ากองทัพพม่าก่อเหตุสังหารหมู่และข่มขืน

ข่านกล่าวว่าอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหานั้นกระทำโดยกองทัพพม่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจและพลเมืองที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญา

“นี่เป็นครั้งแรกที่ยื่นคำร้องขอหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่า และจะมีตามมาอีกมาก” ข่าน กล่าวเตือน

พม่าได้รับความเสียหายจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ต่อต้านการปกครองของทหาร นับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งของอองซานซูจี ในเดือน ก.พ.2564

รัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับการโจมตีครั้งใหญ่ของกลุ่มติดอาวุธเมื่อปีที่แล้ว ที่ยึดครองพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้าง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนจีน

เมื่อต้นเดือนนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ว่ากองทัพพร้อมแล้วสำหรับการเจรจาสันติภาพ หากกลุ่มติดอาวุธจะเข้าร่วม ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์

การปราบปรามทางทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนีไปยังบังกลาเทศ หลายคนบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสยดสยองเกี่ยวกับการฆาตกรรม การข่มขืน และการวางเพลิง

ชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในพม่าถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และต้องได้รับอนุญาตในการเดินทางออกนอกเมือง

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพในช่วงการปราบปรามดังกล่าว ปฏิเสธคำจำกัดความว่าโรฮิงญาโดยระบุว่าเป็นสิ่งสมมติขึ้น

ผู้พิพากษา ICC ต้องตัดสินใจว่าจะออกหมายจับหรือไม่ ซึ่งหากอนุมัติ สมาชิก 124 ประเทศของ ICC จะต้องจับกุมผู้นำรัฐบาลทหารพม่าถ้าเขาเดินทางไปยังประเทศเหล่านั้น

จีน พันธมิตรหลักและผู้จัดหาอาวุธของรัฐบาลทหารพม่า ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC

คำร้องของข่านเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และผู้นำสูงสุดของกลุ่มฮามาส จากสงครามในกาซา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่นชมความเคลื่อนไหวเรื่องพม่าของข่าน โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการทำลายวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเว้นโทษ ที่เป็นปัจจัยสำคัญมาอย่างยาวนานที่ทำให้กองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ผู้พิพากษาจะตัดสินคำร้องขอของอัยการ แต่ประเทศสมาชิกของ ICC ควรตระหนักถึงการกระทำนี้เพื่อเตือนถึงบทบาทสำคัญของศาลเมื่อประตูยุติธรรมอื่นๆ ถูกปิดลง” ทนายความอาวุโสของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ

ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดทำการในปี 2545 เป็นศาลอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมเลวร้ายที่สุด.

ที่มา : MgrOnline