ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในหลายด้านของชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นคือกระบวนการหางานและการสมัครงาน รายงานแนวโน้มตลาดปี 2025 จากบริษัทจัดหางาน Career Group Companies ระบุว่า ประมาณ 65% ของผู้สมัครงานใช้ AI ในหลายขั้นตอนของกระบวนการสมัครงาน ได้แก่
19% ใช้ AI ในการเขียนประวัติย่อ (resume)
20% ใช้ในการเขียนจดหมายสมัครงาน
9% ใช้ในการสร้างภาพถ่ายโปรไฟล์
7% ใช้ในการฝึกสัมภาษณ์
5% ใช้ในการสร้างตัวอย่างผลงาน
5% ใช้ในการให้คำแนะนำด้านอาชีพ
นายจ้างตั้งข้อสงสัย การใช้ AI ช่วยสมัครงานผิดจริยธรรมไหม?
จิลเลียน ลอว์เรนซ์ (Jillian Lawrence) รองประธานอาวุโสของ Career Group Companies เปิดเผยมุมมองกับ CNBC Make It ว่า เธอได้เห็นการใช้งาน AI พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา และคิดว่าวัยทำงานยุคนี้กำลังมองหาใช้วิธีการสมัครงานที่ชาญฉลาดขึ้น ไม่น่าแปลกใจเลยถ้าพวกเขาจะสนใจหรือลองใช้ AI มาช่วยในขั้นตอนการสมัครงาน
อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในกระบวนการสมัครงานยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่ามันเหมาะสมหรือไม่ จากการศึกษาของ Zety ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านอาชีพและการหางาน (เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว) ชี้ว่า 42% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลมองว่า การใช้ AI ในกระบวนการสมัครงานเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางจริยธรรม
ความกังวลเหล่านี้เพิ่มขึ้นเมื่อ AI ถูกนำมาใช้ในการประเมินทักษะของผู้สมัครงาน โดยมากกว่าสองในสามของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ AI ในด้านนี้
จัสมิน เอสคาเลรา (Jasmine Escalera) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Zety สะท้อนความเห็นว่า ความกังวลเหล่านี้มีเหตุผล "หากคุณใช้มันเพื่อเสริมทักษะของคุณหรือแสดงทักษะที่คุณไม่มีจริง ๆ นั่นเป็นปัญหา โดยพื้นฐานแล้วหากคุณใช้เอไอเพื่อแสดงทักษะนั้น มันก็แปลว่าคุณอาจไม่สามารถทำงานนั้นได้จริงๆ" เธออธิบาย
เปิดคำแนะนำการใช้ AI ที่ดีที่สุดสำหรับผู้สมัครงาน
ลอว์เรนซ์แนะนำว่า หากผู้สมัครงานใช้ AI มาช่วยเขียนเรซูเม่หรือจดหมายสมัครงานต่างๆ ก็ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ AI สร้างขึ้น ผู้สมัครควรใช้เวลาในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกอย่างที่ AI สร้างขึ้นนั้น เป็นข้อมูลของผู้สมัครจริงๆ ที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับทักษะและความสามารถของผู้สมัคร เนื่องจาก AI อาจสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเกินจริงได้
"AI อาจสร้างข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อนและไม่ถูกต้องเสมอไป สิ่งใดที่ไม่เป็นความจริง ผู้สมัครงานจะต้องแก้ไขใหม่ รวมถึงตรวจทานเนื้อหาในใบสมัครซ้ำหลายๆ รอบเพื่อความถูกต้องครบถ้วนที่สุด" เธอ อธิบายเพิ่มเติม
คำแนะนำนี้สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่าง เจเรมี ชิเฟลิง (Jeremy Schifeling) ผู้เขียนหนังสือ "Career Coach GPT" ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการใช้ AI ในกระบวนการหางาน เขาแนะนำให้ผู้สมัคร "ตรวจสอบ ตรวจสอบ และตรวจสอบ" ทุกอย่างที่พวกเขาใช้ AI สร้างขึ้น
"สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการคือการนั่งอยู่ในการสัมภาษณ์รอบสุดท้ายแล้วถูกถามเกี่ยวกับประวัติย่อที่ AI สร้างขึ้นแบบผิดๆ และคุณตอบไม่ได้ (เพราะลืมตรวจทานข้อมูล) จนอาจทำให้อับอายในระหว่างสัทภาษณ์" เขาย้ำ
ด้าน เอสคาเลรา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Zety ให้คำแนะนำอีกว่า ควรใช้ AI เพื่อช่วยปรับแต่งใบสมัครให้ตรงกับคำอธิบายลักษณะงาน เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจง่ายขึ้น และอาจรวมถึงการใช้ AI ช่วยคัดกรองศัพท์เทคนิคเฉพาะของสายงานนั้นๆ หรือใช้มันช่วยการตรวจสอบไวยากรณ์ ฯลฯ แต่นอกเหนือจากนั้นคุณควรเขียนจดหมายสมัครงานและเรซูเม่ด้วยตัวเอง
"ตัวคุณคือพื้นฐาน และ AI เข้ามาเพื่อเสริมพื้นฐานที่คุณมีให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าใช้มันเพื่อทำงานให้คุณทั้งหมดทุกอย่าง" เธอกล่าว
ขณะที่ ลอว์เรนซ์ เตือนให้วัยทำงานคนรุ่นใหม่ระวังการอัปโหลดข้อมูลส่วนบุคคลเข้าสู่โปรแกรม AI เพราะมันอาจถูกใช้เกินวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวได้
สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับทั้งลอว์เรนซ์และเอสคาเลรา คือ ปรากฏการณ์นี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนมองว่าการใช้ AI ในกระบวนการสมัครงานจะยังคงแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกคนจะใช้เอไอทำเรื่องนี้กันอย่างปกติ แต่สิ่งสำคัญคือต้องหาวิธีใช้มันให้ผลลัพธ์ใบสมัครงานออกมาดีที่สุด ไม่ใช่ใช้มันทำแทนทั้งหมดทุกขั้นตอน
อ้างอิง: CNBC, CareerGroupCompanies, Zety