อย่ามือลั่นกดปุ่มนิวเคลียร์! โฆษกรัสเซียเผย ‘สายด่วน’ ที่ใช้คุยกับสหรัฐฯ ในยามวิกฤต ‘ไม่ได้ถูกใช้งาน’
เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 14:04:34
• ความตึงเครียดระหว่างมอสโกและตะวันตกเพิ่มสูงสุด
• สายด่วนนี้เคยใช้ลดความขัดแย้งในสถานการณ์วิกฤต
ทำเนียบเครมลินแถลงวันนี้ (20 พ.ย.) ว่า “สายด่วน” ที่สหรัฐฯ และรัสเซียเคยใช้เป็นช่องทางพูดคุยเพื่อลดระดับความขัดแย้งในสถานการณ์ขั้นวิกฤต “ไม่ได้ถูกใช้งานในตอนนี้” ท่ามกลางอุณหภูมิความตึงเครียดระหว่างมอสโกกับตะวันตกที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปีจนทำให้หลายฝ่ายเริ่มผวาดผวาว่าอาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์
เมื่อวานนี้ (19) ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ประกาศลดเพดานเงื่อนไขขั้นต่ำสำหรับการนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้เพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบดั้งเดิมที่อาจกระทบต่ออธิปไตยและความอยู่รอดของแดนหมีขาว โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดไฟเขียวให้ยูเครนนำอาวุธพิสัยไกลของอเมริกามาใช้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
ยูเครนเริ่มนำระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ที่ได้จากสหรัฐฯ ไปใช้ยิงโจมตีรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (19) ในความเคลื่อนไหวที่ส่อยกระดับความขัดแย้งขณะที่สงครามล่วงเข้าสู่หลัก 1,000 วัน
สายด่วนระหว่างมอสโกและวอชิงตันถูกเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1963 เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่เคยเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเมื่อปี 1962 และเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยตรง
“เรามีสายด่วนที่พิเศษและปลอดภัยเพื่อการสื่อสารระหว่างประธานาธิบดีทั้ง 2 ฝ่ายคือรัสเซียกับสหรัฐฯ และยังสามารถวิดีโอคอลกันได้ด้วย” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน บอกกับสำนักข่าว RIA แต่เมื่อถูกถามว่าสายด่วนนี้ยังคงมีการใช้งานอยู่หรือไม่ เขาก็ตอบสั้นๆ ว่า “เปล่า”
เปสคอฟ ยังให้สัมภาษณ์กับ RIA ด้วยว่า ชาติตะวันตกมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ในเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการอนุญาตให้ยูเครนนำอาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ มาใช้
“และแน่นอน พวกเขากำลังใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายนี้” โฆษกหมีขาวระบุ
มอสโกเคยออกมาเตือนแล้วว่า หากสหรัฐฯ อนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS ยิงโจมตีแดนหมีขาว ก็จะถือเป็นสัญญาณว่าตะวันตกต้องการยกระดับสงคราม
สงครามที่รัสเซียเป็นฝ่ายเปิดฉากรุกรายยูเครนในเดือน ก.พ. ปี 2022 ได้ทำลายเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ของยูเครนจนย่อยยับ บีบให้ประชาชนหลายล้านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย และยังคร่าชีวิตพลเรือนไปอีกหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครน
นักการทูตรัสเซียหลายคนชี้ว่า ระดับความตึงเครียดในเวลานี้เทียบได้กับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งสองมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นเสี่ยงจะเปิดสงครามนิวเคลียร์กันรอมร่อ และเตือนว่าชาติตะวันตก “คิดผิด” หากเชื่อว่ารัสเซียจะยอมอ่อนข้อในประเด็นยูเครน
ทำเนียบเครมลินระบุว่า รัสเซียถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องปราม (deterrence) และหลักการนิวเคลียร์ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรดาศัตรูเข้าใจแจ่มแจ้งถึง “การแก้แค้น” ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากดินแดนรัสเซียถูกโจมตี
ที่มา : รอยเตอร์
ที่มา : MgrOnline