รมว.พลังงานจับมือส.อ.ท.เตือนภาคอุตฯ-SMEเร่งปรับตัว เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เผยแพร่ : 17 ต.ค. 2567 14:12:03
X
• ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายจากแผนพลังงานใหม่ ที่เน้นการลดการปล่อยคาร์บอน ตามเทรนด์โลก
• แผนพลังงานใหม่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อตอบสนองเป้าหมายการลดโลกร้อน
• สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาระบุถึงความจำเป็นในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม

รมว.พลังงาน-ส.อ.ท. เตือนภาคอุตฯและSMEs ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายแผนพลังงานใหม่ มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน ตามเทรนด์โลก

วันนี้ (17 ตุลาคม 2567) สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 ภายใต้หัวข้อ “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน พร้อมแนวทางการปรับตัวภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กระทรวงพลังงานกำลังนำมาใช้ผลักดันให้ประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
และประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลก และนับเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างเร่งด่วน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) จะมีส่วนช่วยอุตสาหกรรมก้าวสู่การแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ส.อ.ท. จึงได้มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) โดยเน้นการขับเคลื่อน First Industries หรืออุตสาหกรรมเดิม และขยายผลสู่ Next-GEN Industries ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curves) ที่ขับเคลื่อนด้วย BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เป็นทิศทางของโลกในปัจจุบัน โดยภาคอุตสาหกรรมต้องมีการเตรียมความพร้อมและรับมือต่อผลกระทบจากมาตรการภายใต้กรอบนโยบายจากต่างประเทศ ที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยและอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการสู่ Smart SMEs ผ่าน 4GO ประกอบไปด้วย

1. Go Digital & AI ภายใต้โครงการ “Digital One” เพื่อช่วยยกระดับ SMEs ทั่วประเทศ โปรแกรมด้านต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดรายจ่าย ตรงนี้เป็นนโยบายเชิงรุกที่จะช่วยยกระดับให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี (Smart SMEs) ได้เร็วขึ้น

2. Go innovation เป็น SMEs “จิ๋วแต่แจ๋ว” ในส่วนของ ส.อ.ท. ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมที่เรียกว่า “Innovation One” หรือโครงการกองทุนอินโนเวชั่นวันโดยกระทรวง อว. ได้ให้งบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และ ส.อ.ท. สมทบอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพ (Startup) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

3. Go Global จะผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ หากเป็น SMEs ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผู้ส่งออกต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตในไทย จะผลักดันให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานตัวเองไปกับสินค้าต่างๆ

4. Go Green จะผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ผลิตสินค้าและมีกระบวนการทั้งหมดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือ สินค้าที่ทั้งโลกต้องการและขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อให้เสริมสร้างขีดความสามารถทางแข่งขันในระดับสากลได้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า การปรับตัวไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐเองก็ต้องทำเช่นกัน โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

สิ่งที่ต้องทำให้เราปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากภาคพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด แผน PDP ใหม่จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นับว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรค ผมในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาและร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยภาคอุตสาหกรรมอาจจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ได้ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศผู้นำเข้า อาจไม่รับซื้อ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ

ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องไม่ใช่เป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้แผน PDP อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังว่าท่านที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะได้ช่วยระดมความคิดช่วยมองให้สอดคล้องกัน

หรือพูดง่ายๆว่า ทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน ภาระหน้าที่ของผมคือต้องสร้างความคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากเมียนมา ผมมั่นใจว่าวันนี้วิทยากรที่มาร่วมสัมมนามีองค์ความรู้เพื่อจะเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที

สิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่ คือ การนำแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็สามารถประยุกต์แนวคิดดังกล่าวได้เช่นกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนจากดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูดกลับด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการชดเชยคาร์บอน จัดการสภาวะปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน

โดย “รื้อ” ระบบการผลิตการใช้พลังงานเก่าที่ล่าสมัยไร้ประสิทธิภาพออกไป ซึ่งจะเป็นการ “ลด” การใช้พลังงานของตนเองไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพพลังงานสูง “ปลด” พันธนาการจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกด้วยการผลิตพลังงานสะอาดใช้เอง ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดและควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะต้นทุนด้านไฟฟ้าที่การผลิตไฟฟ้าของส่วนกลางต้องนำเข้าเชื้อเพลิง LNG จากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนสูงและมีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบต่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถบริหารจัดการได้เองที่จะช่วยลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น เพื่อให้มีความทันสมัย ปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถ “สร้าง” มูลค่าเพิ่มให้กับของเสียน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของตนเองต่อยอดสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนสำหรับนำกลับมาใช้เอง “สร้าง” ระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของตนเองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งเป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ที่มา : MgrOnline