จากกรณีที่มีข่าวว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2568 แพทยสภาจะมีการตัดสินจริยธรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่ให้การดูแลรักษา นายทักษิณ ชินวัตร แต่ยังไม่สามารถตัดสินได้ เนื่องจากมีเอกสารสำคัญเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลดังกล่าวนั้น
แจง 7 ขั้นตอนสอบสวน
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 ที่แพทยสภา คณะกรรมการแพทยสภาแถลงข่าว กรณีการตรวจสอบจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทยสภา โดยปกติการที่พี่แพทยสภาจะพิจารณาจะมีผู้ร้องเรียนเข้ามา เมื่อกรรมการเห็นชอบก็จะส่งเข้าอนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการ โดยมีกรอบเวลาจะต้องแล้วเสร็จใน 4 เดือน ขอขยายได้ไม่เกิน 2 เดือน
หากมีมติอย่างไรก็จะส่งเข้าอนุกรรมการกลั่นกรอง ทำความเห็นเพิ่มเติมประกอบสำนวน จากนั้นส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ พิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่มีมูล หากเห็นว่าไม่มีมูลก็จบ แต่ถ้าเห็นว่ามีมูล ก็จะส่งเรื่องให้อนุกรรมสอบสวนพิจารณาต่อ ซึ่งมีการกำหนดกรอบให้สิ้นสุดใน 180 วันหรือ 6 เดือน นับจากวันได้รับเอกสาร เพื่อพิจารณามติออกมาว่าควรจะต้องยกข้อกล่าวหา หรือแพทย์ผู้ถูกร้องมีความผิด
กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆเห็นว่าสอบสวนไม่ทัน ด้วยกรณีใดก็แล้วแต่ เช่น ติดต่อไม่ได้ ต้องใช้เวลารอเอกสาร จะมีการขยายเวลาได้ครั้งละ 1 เดือน เต็มที่จะขยายได้ไม่เกิน 120 วัน หรือ 4 เดือน
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ส่งให้อนุกรรมการกลั่นกรอง จะมีคนนอกที่ไม่ใช่แพทย์อยู่ด้วย หลายคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายระดับสูง เพื่อทำความเห็นให้คดีมีความแน่นหนาในการทำสำนวน เพื่อส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่พิจารณาราว 70 คน จะพิจารณาว่า แพทย์ไม่ผิดยกคำร้อง ข้อกล่าวหาหรือแพทย์ผิดและกำหนดบทลงโทษ ก่อนนำเสนอแพทยสภาและสภานายกพิเศษ
1-2เดือนเร็วสุดแพทยสภาพิจารณาตัดสิน
ส่วนคดีที่เป็นประเด็นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือ อนุกรรมการสอบสวน และในกรอบเวลายังไม่ครบ 6 เดือนตามที่กำหนด ยังมาไม่ถึงอนุกรรมการกลั่นกรอง หรือคณะกรรมการแพทยสภา ตามที่เป็นข่าว ไม่ได้มีการบรรจุวาระตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการเลื่อนวาระใดๆ และอนุกรรมการสอบสวนยังไม่ได้ขอขยายเวลา สมมติทำทันตามกรอบเวลา ก็จะมีการเสนอเข้าคณะกรรมการแพทยสภาภายใน 1-2เดือนนี้ เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งทุกกรณีดำเนินการเช่นนี้ทั้งสิ้น เพราะเป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา ถ้าไม่ทำก็อาจจะมีความผิด เนื่องจากใช้อำนาจทางปกครอง อาจจะถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
“คำตอบของคดีนี้ ความเร็วที่จะเข้ามาถึงการพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่อยู่ที่ 1-2 เดือนนี้ ไม่เดือนพ.ค.-มิ.ย. 2568 หากอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลา 6 เดือนและไม่ได้ขอขยายเวลา”
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการรับเอกสารเพิ่มเติมหลังครบกำหนดการส่งมอบแล้ว รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า ตามข้อบังคับ หากอนุกรรมการสอบสวนเห็นว่าควรจะรับเพิ่มก็สามารถทำได้ โดยที่เอกสารนั้นไม่ได้เป็นไปในลักษณะการประวิงเวลาหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอบสวน
หวั่นถูกศาลปกครองตีกลับ
ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การดำเนินการตามขั้นตอนมีความสำคัญ เนื่องจากเคยมีคดีที่แพทยสภาเคยตัดสินไป แต่เมื่อไปถึงศาลปกครอง หากกระบวนการทำไม่ถูกต้อง เรื่องมีโอกาสย้อนกลับมา อาจทำให้เรื่องนั้นเสียไปเลย จึงต้องทำตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้ ตามกรอบเวลา
“ขณะนี้การทำงานของอนุกรรมการสอบสวนชุดพิเศษ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานอยู่ที่ระยะเวลา 5 เดือน ยังทำงานเต็มที่ อย่างอิสระ แต่กระบวนการสอบสวน ข้อมูลต่างๆจะต้องไม่มีการเผยแพร่ออกมาก่อน เพราะอาจทำให้การสอบสวนผิดไปจากที่ควรเป็น”
สภานายกพิเศษมีสิทธิโต้แย้งคำตัดสิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า สภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาที่เป็นรมว.สาธารณสุขนั้น มีผลต่อการตัดสินของคณะกรรมการแพทยสภาหรือไม่ รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วเสร็จไม่ว่าจะพิจารณาว่ายกข้อกล่าวโทษหรือมีความผิด ตามกฎหมายก็จะส่งเรื่องให้สภานายกพิเศษให้การรับรอง
หากไม่ให้การรับรองภายใน 15 วันก็จะถือว่ามติมีผล หากไม่ให้การรับรองแล้วมีข้อโต้แย้งกลับมา คณะกรรมการแพทยสภาจะต้องกลับมาพิจารณาใหม่ ลงมติเสียงเกิน 2 ใน 3 ยึดมติของคณะกรรมการแพทยสภา แต่ถ้าเสียงน้อยกว่านี้ไปที่นายกสภาพิเศษ
ต้องรับเอกสารเพิ่มเพราะสำคัญ
ขณะที่ ศ.เกียริตคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนของแพทยสภา ออกแถลงการณ์ว่า เอกสารที่ได้รับมาเพิ่มจากทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นเอกสารสำคัญซึ่งมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และคณะอนุกรรมการสอบสวนเป็นผู้ร้องขอเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม ทางคณะอนุกรรมการสอบสวน จึงได้นำเอกสารจำนวนหลายร้อยหน้าดังกล่าวมาพิจารณา และเห็นว่าเอกสารมีความครบถ้วนเพียงพอ
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้ความเห็นและสรุปสำนวนการสอบสวน เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งยังคงเป็นไปตามกรอบการทำงานที่กฎหมายกำหนดไว้ ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวน ทราบดีว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและมีความห่วงใย พร้อมทั้งขอยืนยันว่ามีความเป็นอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ในฐานะผู้รับผิดชอบในขั้นตอนหนึ่งของกระบวซึ่งการพิจารณาของแพทยสภา มีทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 แล้ว
และในอีก 3 ขั้นตอนที่เหลือนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการแพทยสภา ซึ่งเป็นแพทย์ จำนวน 70 ท่าน ที่มาร่วมกันทำงานในนามของแพทยสภา เพื่อรักษามาตรฐานจริยธรรมของวิชาชีพแพทย์ และให้ความคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการทางการแพทย์อย่างดีที่สุด