ดราม่าเพจNGOสัตว์ อ้าง “อาบน้ำช้าง=ทำร้ายช้าง” เจอทัวร์ลงฉ่ำ-คนรักช้างไทยโต้ “คอนเทนต์มโน”
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 21:08:17
• คลิปดังกล่าวถูกมองว่าโจมตีการเลี้ยงช้างแบบไทย
• ชาวเน็ตและคนรักช้างไทยวิพากษ์วิจารณ์คลิปอย่างหนัก เรียกว่า "คอนเทนต์มโน"
• เกิดกระแส "ทัวร์ลง" ต่อเพจ NGO ดังกล่าวอย่างรุนแรง
เพจNGOที่อ้างว่าเป็นองค์กรช่วยเหลือสัตว์ระดับโลก ทำคอนเทนต์ “อาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างยังไง?” แฝงนัยยะโจมตีการเลี้ยงช้างวิถีไทย เจอทัวร์ลงเละคาบ้าน ชาวเน็ตคนรักช้างไทยโต้ “คอนเทนต์มโน” ด้านนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยระบุมีความเคลือบแคลงสงสัยในบทความขององค์กรนี้
ถือเป็นอีกหนึ่งดราม่าแห่งวงการช้างไทย หลังโลกโซเชียลได้แชร์โพสต์ เก่าเมื่อปี 2565 จากเพจNGOที่อ้างว่าเป็นองค์กรช่วยเหลือสัตว์ระดับโลก (แล้วเปิดรับบริจาค) เพจหนึ่ง ซึ่งได้นำเสนอคอนเทนต์ในหัวข้อ “อาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างยังไง?” พร้อมกับโพสต์โปรยนำให้เห็นว่า กิจกรรมอาบน้ำช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยนั้น มีปัญหาด้านสวัสดิภาพของสัตว์แฝงอยู่ ก่อนจะเชิญชวนให้ผู้สนใจคลิกเข้าไปอ่านบทความเต็มในเว็บไซต์ชื่อเดียวกับเพจดังกล่าว
อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปอ่านบทความ “‘อาบน้ำช้าง’ เป็นการทำร้ายช้างยังไง?” ฉบับเต็มในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นข้อเขียนเก่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยผู้เขียนที่ระบุชื่อว่าเป็นชาวไทย กลับไม่พบเนื้อหาและข้อความอ้างอิงเชิงวิชาการหรือเชิงข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า การอาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างอย่างไร? แต่กลับเป็นข้อเขียนที่มีอคติ พยายามชี้นำว่า การอาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างทางอ้อม ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์
นอกจากนี้บทความดังกล่าวยังมุ่งโจมตีการเลี้ยงช้างแบบวิถีไทยในหลากหลายด้านด้วยการเชื่อมโยงแบบ “จับแพะชนแกะ” จับวิถีของ “ช้างป่า” มาปนกับวิถี “ช้างเลี้ยง” แบบไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ก่อนปิดท้ายด้วยการ “Tie-in” แหล่งท่องเที่ยวปางช้างในเครือข่ายของตัวเอง (ที่มีNGOต่างชาติหนุนหลัง) เข้าไปแบบไม่เนียน
แม้บทความ ‘อาบน้ำช้าง’ เป็นการทำร้ายช้างยังไง? จะเป็นบทความเก่า แต่วันนี้ได้กลายเป็นกระแสดราม่าบนโลกโซเชียลขึ้นมา เมื่อมีการแชร์คอนเทนต์นี้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา จนทำให้เพจต้นทางของโพสต์ดังกล่าวเจอทัวร์ลงถล่มเละคาบ้าน
โดยชาวเน็ตที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นทั้งในเพจต้นทาง และเพจที่ถูกแชร์ต่อ ๆ กันมา ต่างไม่เห็นด้วยกับ คอนเทนต์ ‘อาบน้ำช้าง’ เป็นการทำร้ายช้างยังไง? พร้อมกับได้แสดงความคิดเห็นตอบโต้อย่างหลากหลาย
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญในวงการช้างของบ้านเรา ยังได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงของการอาบน้ำช้างตามแนวทางของการเลี้ยงช้างแบบวิถีไทย ดังเช่น “หมอเหยี่ยว-นสพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ” นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Khajohnpat Boonprasert ว่า
“แกงส์อาบน้ำช้าง”
การอาบน้ำช้าง เป็นกิจวัตรแรกๆ ของวันในทุก ๆ เช้าที่ควาญช้างต้องกระทำกับช้างเลี้ยงภายใต้การดูแลของตน การอาบน้ำนอกจากจะเป็นการทำความสะอาดร่างกายช้าง สร้างความใกล้ชิดคุ้นเคย สร้างความผูกพันธ์ระหว่างคนกับช้างแล้ว การอาบน้ำยังเป็นโอกาสที่ควาญช้างจะได้สำรวจความผิดปรกติบนร่างกายของช้างทุกส่วน อาทิเช่น ผิวหนัง ดวงตา ขนหาง หรือแม้กระทั่งใต้ฝ่าเท้า หากตรวจพบความผิดปรกติแล้วก็สามารถแจ้งสัตวแพทย์มาตรวจสอบและแก้ไขได้ทันท่วงที สิ่งที่ดูจะเป็นสิ่งเล็กน้อยนี้ สำหรับลุงถือเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และเป็นการเอาใจใส่ช้างเป็นอย่างดี หาใช่เป็นการทรมาณช้างอย่างที่องค์กรอ้างอนุรักษ์เขาว่ากันเน้อจ้าว🤭
ด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ก็ได้ออกมาตอบโต้คอนเทนต์ อาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างยังไง? ผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Theerapat Trungprakan ว่า
#ใครเชื่อองค์กรต่างประเทศนี้
#จะบริจาคก็ตามสะดวก
#ใครเชื่อผม
#เก็บเงินไว้ดูแลพ่อแม่และตัวเองเถอะ
ไหนๆ ปีนี้ก็เป็นปีแห่งการเปิดหน้าแล้ว
1 ใน 5 ปัญหาหลักด้านสุขภาพช้าง คือปัญหาผิวหนัง
ช้างถึงแม้จะมีงวงที่ยาวมาก แต่งวงนั้นยาวแค่พอปัดป้องพื้นผิวถึงแค่หัวไหล่
ส่วนหางที่ยาวมากของช้างนั้น สามารถสะบัดปัดแมลงได้แค่ช่วงสะโพก
ดั้งนั้นช้างจะค่อนข้างมีปัญหาในการโดนแมลงวันป่าหรือแมลงอื่นๆ เข้ากัดดูดเลือดและวางไข่ใต้ผิวหนัง ถือว่าเป็นปรสิตที่ทำให้สุขภาพช้างแย่ลง การคันจากการฝังตัวของหนอนด้วงทำให้คุณภาพการหลับนอนของช้างแย่ไปด้วย ส่งผลมากมายต่อสุขภาพการและอารมณ์ของช้าง
การดูแลอย่างละเอียดอ่อนของควาญที่รับผิดชอบในการตรวจผิวหนังอย่างใกล้ชิดและขัดถูผิวหนังช้างในทุกส่วนด้วยการใช้มือใช้แปรง หรือใช้สมุนไพรเช่นเครือสะบ้านั้นเป็นการดูแลให้ช้างมีสุขภาพผิวที่ดี ส่งผลให้ช้างนอนหลับสนิทและสุขภาพระยะยาวดี
โดยส่วนตัว ผมขอแสดงความเคลือบแคลงสงสัยในบทความขององค์กรพิทักษ์สัตว์โลกนี้ ทั้งต่อบทความที่เขียน และต่อตัวองค์กร และหากจริงใจ อยากให้อธิบายเพิ่มหรือเสวนาร่วมกันในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และการทำกิจการและแคมเปญขององค์กร
สำหรับการอาบน้ำช้างนั้นถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของบรรดาปางช้างท่องเที่ยวต่าง ๆ ในบ้านเรา ซึ่งได้รับความนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยปางช้างแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการจัดกิจกรรมอาบน้ำช้างเป็นพิเศษสำหรับเด็ก ๆ น้อง ๆ หนู ๆ ก็ได้พูดถึงประโยชน์ของการอาบน้ำให้ช้าง ว่า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง ทำให้ช้างรู้สึกผ่อนคลาย เพราะช้างชอบเล่นน้ำ หากเราได้สัมผัสผิวตัว เสียง พฤติกรรม ความน่ารักต่าง ๆ นี้ล้วนก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนกับช้างเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้ว่าช้างเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอาบน้ำ เล่นน้ำ และมีความสุขเวลาที่อยู่ในน้ำ ที่ผ่านมาจึงมีเรื่องราวและภาพน่ารัก ๆ ทั้งของช้างเลี้ยง (ช้างบ้าน) และช้างป่า ที่กำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
เรื่องนี้ “หมอล็อต-นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน” นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เคยให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 โดยข้อมูลส่วนหนึ่งของหมอล็อต ระบุว่า
“Elephant fitness ช้างมีความสุขที่สุด ตอนอยู่ในน้ำ” ช้างกับน้ำเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้กิน อาบ หรือระบายความร้อน อีกทั้งถ้ามีการจัดการที่เหมาะสมเช่นนี้ ก็จะเป็นการออกกำลังกายที่ดีสำหรับช้างด้วย อย่าลืมว่าช้างอยู่ในน้ำตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ถึงตัวใหญ่ก็จริง แต่เมื่ออยู่ในน้ำ การทรงตัว การตีขา ปอดขนาดใหญ่ และจมูกหรืองวงที่ยาวโผล่พ้นน้ำ ช้างจึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สัตว์ชนิดอื่นๆได้อิจฉา เล่นน้ำได้นาน ได้ระบายความร้อน ทำความสะอาดตัว ไล่ฝุ่นโคลน และแมลงรบกวนต่างๆ เพราะช่วงหลังและลำตัว เป็นพื้นที่ที่งวง หูและหาง สะบัดไปไม่ถึง และเป็นการรักษาข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นประสาทต่างๆจากการรับน้ำหนักมากๆเป็นเวลานาน เป็นการจัดรูปแบบที่สอดคล้องกับสรีระของช้างมากที่สุด
ในช้างป่าเรามักพบเห็นฝูงช้างลงเล่นน้ำ เสียงเจี๊ยวจ๊าว นั่นคือธรรมชาติที่แสดงออกมาถึงความสุขได้มากที่สุด เล่นไม่อายใคร เคยเห็นแม่ช้างป่าบางตัวที่ตัวใหญ่มากๆถ้าคลอดลูกออกมาบนพื้น ระดับความสูงของช่องคลอดอาจทำให้ลูกได้รับอันตรายได้ (ปกติจะหากิ่งไม้ ใบไม้มารอง) จึงปรับวิธีการคลอดมาเป็นในน้ำ เพื่อลดแรงกระแทก และลูกช้างสามารถลุกขึ้นตั้งตัวขึ้นยืนได้ง่าย
เป็นตัวเองสุดๆ ปัจจัยเรื่องแหล่งน้ำในธรรมชาติที่จำเป็นของช้างป่า ไม่ใช่แค่กิน แต่คือการลงไปแช่หรือเล่น “ช้างออนเซน”
และนี่ก็คือเสียงบางส่วนจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการช้างไทย ที่สะท้อนด้วยข้อเท็จจริงกลับไปยังคอนเทนต์ “อาบน้ำช้างเป็นการทำร้ายช้างยังไง?” ของเพจNGOสัตว์ เพจหนึ่ง ซึ่งคนรักช้างไทยจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นตอบโต้เรื่องนี้ว่า เป็นคอนเทนต์มโนที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงแต่อย่างใด รวมถึงหลาย ๆ คนก็บอกว่าต่อไปจะไม่บริจาคให้กับองค์กรNGOสัตว์แห่งนี้อีกแล้ว แต่จะหันไปบริจาคให้ “กองทุนกันยารำลึก” ของหนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา แทน
ที่มา : MgrOnline