“วัดอุปคุต” วัดดังเชียงใหม่ สายมูห้ามพลาด

เผยแพร่ : 24 พ.ย. 2567 15:29:20
X
• ขึ้นชื่อเรื่องขอพรโชคลาภ ความร่ำรวย และความอุดมสมบูรณ์
• มีพระอุปคุตเป็นประธาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ให้สักการะอีกหลายจุด
พระมหาอุปคุต
สายมูไปเยือนเชียงใหม่ ต้องห้ามพลาด “วัดอุปคุต” วัดสำคัญที่อยู่ในตัวเมือง ที่นี่นิยมมาขอพรเรื่องโชคลาภ ความมั่งมี อุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ และนอกจากจะมาขอพรพระอุปคุตแล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอีกหลายจุด เช่น พระประธานในพระอุโบสถ หมอชีวกโกมารภัทร ท้าวเวสสุวรรณ พระพิฆเนศ เป็นต้น
วัดอุปคุต
ช่วงปลายปีอากาศดีๆ หลายคนมีแพลนจะขึ้นไปเที่ยวที่ “เชียงใหม่” เพราะมีที่เที่ยวหลากหลาย ทั้งภูเขาธรรมชาติก็สดชื่น วัดสวยๆ ตลาดน่าชอป และสำหรับสายมู เชียงใหม่ก็เป็นอีกจุดหมายในการมามูเตลูกันได้แบบเต็มที่

หนึ่งในวัดที่สายมูนิยมมากันในตัวเมืองเชียงใหม่ก็คือ “วัดอุปคุต” ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ไม่ไกลจากตลาดวโรรส ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2456 และมีตำนานเกี่ยวกับพระอุปคุตและการก่อตั้งวัดที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งมีสามีภรรยาฐานะยากจนคู่หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนาและค้าขายพอเลี้ยงชีพไปได้ เมื่อว่างจากทำนาทั้งสองก็นำเอาผลผลิตจากไร่สวน เข้าไปมาขายในตัวเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งในฤดูหนาวอากาศหนาวเหน็บ สองสามีภรรยาตื่นแต่เช้า เพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองพร้อมกับสัมภาระสำหรับค้าขาย ระหว่างเดินฝ่าอากาศที่หนาวเย็น ก็ได้พรรณนาปรับทุกข์ต่อกันถึงความทุกข์ยากของครอบครัวที่ต้องทำงานหนักและหากไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องอดอยาก ไม่มีจะกิน ทั้งสองต่างปลอบใจและให้กำลังใจซึ่งกันและกันและว่าเราสองคนทำบุญมาน้อย ทำให้ด้อยวาสนา ทุกข์สาหัสอย่างไรก็จำเป็นต้องทน ต้องดิ้นรนต่อสู้ต่อไป

ทั้งคู่ปรับทุกข์กันเรื่อยมาจนข้ามแม่น้ำปิงมาฝั่งตะวันตก เข้าถนนท่าแพ ขณะนั้นยังเป็นเวลาเช้ามืด และเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงสว่างไสวดูสวยงามน่ารื่นรมย์ ทำให้ความเหนื่อยล้าของสามีภรรยาหายไปสิ้น ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศอยู่นั้น สายตาของทั้งคู่ก็เหลือบไปเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังอุ้มบาตร ครองผ้าเป็นปริมณฑลตัดกับแสงจันทร์นวลส่อง เป็นภาพที่งดงามและยังความปิติซาบซ่านเข้าสู่หัวใจของทั้งสอง จึงบังเกิดศรัทธาในตัวสามเณร และได้แบ่งสิ่งของที่ตั้งใจนำไปขาย ยกขึ้นอธิษฐานแล้วใส่ในบาตรของสามเณร หลังจากรับพรจากสามเณรแล้ว ชายผู้เป็นสามีนึกแปลกใจว่าสามเณรจากวัดใดกันแน่ที่ออกบิณฑบาต แต่เช้าตรู่เพียงลำพังเช่นนี้ เขาจึงเดินตามสามเณรไป แต่สามเณรก็เดินไปถึงชายป่าแล้วหายวับไปที่ต้นไทรต้นหนึ่ง สามีเห็นเช่นนั้นก็วิ่งกลับมาบอกกับภรรยาและต่างเก็บความสงสัยไว้ในใจ
ตักบาตรเป๊งปุ๊ด (ภาพจากเพจ วัดอุปคุต)
นับแต่วันนั้นสองสามีภรรยาก็เจริญรุ่งเรือง ขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ผลกำไรงาม และมีฐานะร่ำรวยขึ้น ต่อมาจึงทราบจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ผู้ทรงอภิญญาญาณเคร่งครัดในศีลว่า การที่เจริญก้าวหน้าค้าขายร่ำรวยนั้น เนื่องจากอานิสงส์ที่ได้ตักบาตรกับสามเณร ผู้ซึ่งก็คือพระอุปคุตมหาเถระที่เข้านิโรธสมาบัติอยู่ใต้สะดือทะเล ครั้นถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ ท่านจะแปลงเป็นสามเณรน้อย ออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่เพื่อโปรดสัตว์ บุคคลใดได้ตักบาตรท่านพระมหาอุปคุต ถือว่าเป็นบุคคลที่โชคดี ทำให้เจริญรุ่งเรือง สองสามีภรรยาได้ฟังก็เกิดปิติศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณที่พบสามเณรน้อย ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวต่างมาร่วมอนุโมทนาและช่วยเหลือร่วมทำบุญ โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัดพระอุปคุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดอุปคุต” มาจนทุกวันนี้

และจากตำนานนี้ ที่วัดอุปคุตก็มีการจัดประเพณีใส่บาตรพระอุปคุตเป็นประจำทุกปี ซึ่งชาวเหนือเชื่อว่าหากเดือนใดมีวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธหรือที่เรียกว่า "เป็งปุ๊ด" พระอุปคุตจะแปลงกายเป็นเณรมาบิณฑบาตรตอนเที่ยงคืน และใครก็ตามที่ได้ใส่บาตรพระอุปคุต จะได้บุญมาก ดังนั้นงานบุญประเพณีนี้จึงมีเอกลักษณ์อยู่ที่การใส่บาตรตอนเที่ยงคืนนั่นเอง (ไม่เจาะจงว่าจะต้องอยู่ในเดือนใด) โดยปัจจุบันนี้ก็มีหลายวัดในเชียงใหม่ที่มีพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด รวมถึงยังมีในอีกหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ เช่น เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

โดยในคืนเป็งปุ๊ด พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตตอนเที่ยงคืน บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเหนือจะเตรียมข้าวสาร-อาหารแห้งไว้คอยใส่บาตรตั้งแต่หลังเที่ยงคืน และจะไปคอยใส่บาตรที่หน้าบ้านตามถนนสายต่าง ๆ หรือตามแยกใกล้ชุมชน โดยความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรในวันเป็งปุ๊ดจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล
วิหารหลวง
ด้านในวิหารหลวง
ใครมาขอพรที่วัดอุปคุต เมื่อมาถึงแล้วให้ขึ้นไปที่ “วิหารหลวง” ก่อน ไปสักการะ “หลวงพ่อพระมหาอุปคุต” พระประธานในวิหารหลวง และภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา

จากนั้นลงมาจุดเทียนพระมหาอุปคุต ปราบมาร บันดาลโชคลาภ บริเวณหน้าวิหารหลวง (ด้านหน้าวิหารหลวงมีจุดจำหน่ายธูปเทียน มีขั้นตอนการบูชาบอกไว้ให้อย่างละเอียด)
จุดเทียนบูชาพระมหาอุปคุต
หอพระไตรปิฎก
พระมหาอุปคุตในหอพระไตรปิฎก
ส่วนในหอพระไตรปิฎก-หอเก็บพระพุทธรูปเป็นทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง มีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง ด้านในประดิษฐาน “พระมหาอุปคุต” โดยการมาไหว้ขอพรพระมหาอุปคุตที่นี่มีขั้นตอนคือ เคาะระฆังใบตรงกลางด้านหน้า 3 ครั้ง กล่าวนมัสการพระรัตนตรัย กล่าวคาถาบูชาหลวงพ่อพระอุปคุต แล้วจึงขึ้นไปอธิษฐานขอพรที่ได้บนหอไตร เสร็จแล้วให้กลับลงมาเคาะระฆังใบตรงกลางด้านหลัง 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นการขอพรจุดนี้

หลังจากขอพรองค์พระมหาอุปคุตแล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายจุดที่ไม่ควรพลาด อาทิ ไหว้ขอพรหมอชีวกโกมารภัทร หมอผู้รักษาพระพุทธเจ้า บริเวณด้านล่างหอพระไตรปิฎก ที่มักจะมาขอพรเรื่องให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ด้านในวัดยังมี พระอุโบสถพุทธชยันตี ที่ด้านหลังเป็นพระเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ ไหว้ขอพรองค์พระพิฆเนศ ขอพรท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์ยักษ์ ในเรื่องหน้าที่การงาน การค้าขาย การเรียน โชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง และแก้ปัญหาอุปสรรคทั้งปวง และขอพรท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์เทวบุตร ขอพรเรื่องครอบครัว ความรัก สุขภาพ และการเดินทาง
หมอชีวกโกมารภัทร
พระอุโบสถพุทธชยันตี
ด้านในพระอุโบสถพุทธชยันตี
องค์พระพิฆเนศ
ท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์ยักษ์
ท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์เทวบุตร


#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline

ที่มา : MgrOnline