หลักฐานสำคัญ! “ธีระชัย” เผยบทความ “สุรเกียรติ์” ระบุ MOU44 เป็นสนธิสัญญา แต่ไม่ผ่านสภา จึงโมฆะตั้งแต่ต้น
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 16:13:52
• บทความ ดร.สุรเกียรติ์ ตีความ MOU 2544 ว่าเขมรยอมรับอธิปไตยไทยเหนือเกาะกูด แต่ยังคงเส้นแบ่งเขตแดนที่ลากผ่านเกาะกูดอยู่
• ธีระชัย ชี้ว่า ดร.สุรเกียรติ์ หลงพอใจแผนที่แนบท้าย MOU ที่เส้นเขมรนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
“ธีระชัย” พบบทความ “ดร.สุรเกียรติ์” เผยแพร่เมื่อปี 54 ก่อข้อสงสัยเพียบต่อการเซ็น MOU44 ชี้ ตีความเข้าข้างตัวเองว่าเขมรยอมรับอธิปไตยเกาะกูด ทั้งที่ยังคงเส้นลากทะลุเกาะเอาไว้ ซ้ำหลงพอใจแผนที่แนบท้ายที่เส้นของเขมรผิดกฎหมายสากล ทั้งๆ ที่รู้ แต่ไม่แจ้งรัฐบาล ไม่แย้งกัมพูชาเป็นลายลักษณ์อักษร เผย หลักฐานสำคัญ “ดร.สุรเกียรติ์” ยอมรับว่า MOU44 เป็นสนธิสัญญา แต่ไม่ได้ทูลเกล้าฯ ไม่ได้ผ่านสภาก่อน จึงถือว่าเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ในหัวข้อ ดร.สุรเกียรติ์ยิ่งก่อข้อสงสัย เพื่อโต้แย้งกรณี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ MOU2544 ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เผยแพร่ในปี 2554 รายละเอียดมีดังนี้
ดร.สุรเกียรติ์ยิ่งก่อข้อสงสัย
รูป 1-2 มีเอกสารวิชาการเขียนโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เกี่ยวกับ MOU44 เผยแพร่ในปี 2554 จุลสารความมั่นคงศึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
มีข้อมูลสำคัญที่ผมไม่รู้มาก่อน
แต่ข้อมูลใหม่เหล่านี้ ยิ่งก่อข้อสงสัยในเจตนารมณ์ที่รัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณไปจัดทำ MOU44
ข้อสงสัยที่หนึ่ง กัมพูชาขีดเส้นเว้นเกาะกูดจริงหรือ?
รูป 3-6 คือ พระราชกฤษฎีกาของกัมพูชา ผมเข้าใจมาตลอดว่า กัมพูชาขีดเส้นพาดผ่านเกาะกูด แต่ในเอกสารหน้า 6-9 ดร.สุรเกียรติ์วิเคราะห์ว่ากัมพูชาขีดเส้นเว้นเกาะกูด
แผนที่รูป 6 ขยายไปเป็นรูป 7 ท่านเขียนว่าเส้นของกัมพูชาลากจากจุด A บนชายฝั่งมาจนถึงชายฝั่งเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วไปเริ่มเส้นต่อไปจากชายฝั่งเกาะกูดด้านตะวันตก
ประกอบกับท่านเห็นว่า ในแผนที่มีการระบุชื่อเกาะกูดว่า Koh Kut (Siam) ซึ่งท่านอนุมาน “เป็นการบ่งบอกว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย” ท่านจึงตีความว่า “ดังนั้น กัมพูชาไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด”
ผมโต้แย้ง:- ในรูป 3 พระราชกฤษฎีกา กัมพูชาระบุตั้งใจลากเส้นโดยอ้างอิงสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากในสนธิสัญญาฯ มีข้อความ “ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด”
ดังนั้น ถึงแม้ในรูป 7 ท่านตีความว่ากัมพูชาแสดงเจตนาไม่ต้องการให้เส้นผ่านเกาะกูด แต่อาจเป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง
ข้อสงสัย:- ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้แน่นอนว่า วันหน้ากัมพูชาจะไม่อ้างว่าไทยรับรู้ใน MOU44 แล้วว่า โดยสภาพความเป็นจริง เส้นนี้ย่อมมีเจตนาผ่านเกาะกูดเพราะ
(ก) พระราชกฤษฎีกามีการอ้างอิงตำแหน่งแห่งหนที่ตั้งอยู่เฉพาะบนเกาะกูด และ
(ข) ตรรกแห่งการตีเส้นเขตไหล่ทวีปที่ขาดแหว่งเป็นเส้นประ ไม่อยู่ในข้อใดในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป มีแต่เส้นต่อเนื่องทั้งนั้น
ข้อสงสัยที่สอง กัมพูชายอมรับว่าเกาะกูดเป็นอธิปไตยของไทยจริงหรือ?
ในเอกสารหน้า 35-36 ท่านเขียนว่า
“ถึงแม้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของการเจรจามีผลผูกพันทั้งสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบันได้ยอมรับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด” และ
“ภายหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้วนั้น ฝ่ายไทยก็ได้มอบหมายให้ผู้เขียนพยายามที่จะเจรจาในระดับรัฐมตรีเพื่อไม่ให้เส้นเขตแดนล้อมรอบเกาะกูดถูกกำหนดเป็นรูปตัว “U”
ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่าเคยหารือกับนาย ซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ว่าเหตุใดเส้นเขตแดนจึงมีโค้งเป็นเบ้าขนมครก เหตุใดจึงไม่เป็นเส้นตรง
ซึ่งหมายความว่า จากหลักเขตแดนที่ 73 นั้น เส้นเขตทางทะเลควรจะลากจากลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นเส้นตรง และต้องไม่ลากผ่านเกาะกูด มิใช่ลากเส้นมาถึงเกาะกูดแล้ว จึงเกิดส่วนเว้าหลบอ้อมเกาะกูดไป
ซึ่งในแง่ของไทยแล้วการลากเส้นเขตแดนเป็นเส้นตรงโดยไม่ผ่านกึ่งกลางของเกาะกูดจะมีผลทำให้อธิปไตยของเกาะกูดมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้อาณาเขตรวมของพื้นที่ทับช้อนทางทะเลมีขนาดเล็กลง
ดังรูป 10 (เป็นเส้นประที่ลูกศรขี้ซึ่งแสดงอยู่ในรูป 8)
ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการที่ฝ่ายกัมพูชาจะขอความเห็นชอบจากผู้นำสูงสุดของกัมพูชา แต่ผู้เขียนได้พ้นหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไปเสียก่อน”
ผมโต้แย้ง:- กัมพูชาไม่ได้ยอมรับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าประเทศไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด เพราะ
(ก) ไม่มีข้อความเช่นนั้นแม้แต่คำเดียวปรากฏใน MOU44 กลับเป็นการตีความของท่านฝ่ายเดียว
(ข) ถ้ากัมพูชายอมรับเช่นนั้นจริง เส้นจะต้องไม่เข้ามาใกล้เกาะกูด แต่จะต้องเอียงลงตะวันตกเฉียงใต้ ดังที่ท่านเองก็ยอมรับในบทความ
ข้อสงสัย:- ในขณะที่ลงนามใน MOU44 ท่านทราบหรือไม่ว่า เส้นที่ถูกต้องคือไม่เข้ามาใกล้เกาะกูด? ถ้าทราบ ท่านไปลงนามทำไม?
ข้อสงสัยที่สาม:- ฝ่ายไทยควรพอใจแผนผังแนบท้าย MOU44 จริงหรือ?
ในเอกสารหน้า 35 ท่านเขียนว่า
“ดังนั้น แผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยพอใจเพราะแสดงถึงความคืบหน้าในการเจรจาจุดเริ่มต้นของการลงเส้นเขตทางทะเลจากหลักเขตแดนทางบกที่ตรงกับจุดยืนของไทย และเส้นที่ลากนั้นได้ยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด และยังยอมรับอธิบไตยของไทยเหนือทะเลอาณาเขตรอบๆ”
ผมโต้แย้ง:- ไม่มีเหตุผลใดที่ไทยควรจะพอใจกับการแสดงแผนที่ซึ่งเป็นแผนผังแนบท้าย MOU44 เพราะแสดงเส้นของสองประเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน
คือ เส้นของไทยประกาศตามอนุสัญญาเจนีวา ในขณะที่เส้นของกัมพูชาไม่เป็นเช่นนั้น
ข้อสงสัยที่สี่:- ท่านรู้ว่า MOU44 เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น หรือไม่?
ในเอกสารหน้า 36 ท่านเขียนว่า
“(5) บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969”
ผมโต้แย้ง:- ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะท่านในฐานะผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลไทย ไปลงนามในสนธิสัญญา
ทั้งที่มิได้มีการทูลเกล้าฯ และมีได้มีการนำเสนอรัฐสภาเสียก่อน เป็นการกระทำเกินอำนาจ ultra vires จึงไม่ผูกพันรัฐบาลไทย และทำให้ MOU44 เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น
ผมเห็นว่าไม่มีเอกสารหลักฐานชิ้นไหน ที่มีความสำคัญเท่าชิ้นนี้อีกแล้ว
ข้อสงสัยที่ห้า:- ทำไมท่านไม่แจ้งรัฐบาลว่ากัมพูชาตีความสนธิสัญญาฯ ผิด?
ในเอกสารหน้า 11-12 ท่านวิเคราะห์ว่ากัมพูชาตีความสนธิสัญญาฯ เข้าข้างตัวเองว่าเป็นการแบ่งเขตทางทะเล แต่เจตนารมณ์เป็นเพียงเพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตทางบก ซึ่งตรงกับของผม
ผมโต้แย้ง:- ในเมื่อท่านรู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นของกัมพูชาไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาฯ ท่านควรจะแจ้งให้รัฐบาลของท่านนายกทักษิณทราบ และ กต.น่าจะแจ้งให้รัฐบาลต่างๆ ทราบ
ข้อสงสัยที่หก:- ท่านรู้หรือไม่ว่าเส้นของกัมพูชาขัดกับอนุสัญญาไหล่ทวีป?
ข้อ 6 ในอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ไม่ได้อนุญาตการลากเส้นที่อ้างอิงสิทธิทางประวัติศาสตร์ดังเช่นกรณีของทะเลอาณาเขต แต่กัมพูชากลับไปอ้างอิงสนธิสัญญาฯ เป็นสิทธิทางประวัติศาสตร์
ทั้งที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาฯ และขัดกับอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีปอย่างสิ้นเชิง
ผมโต้แย้ง:- ในเมื่อท่านรู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาขัดกับอนุสัญญาไหล่ทวีป ทำไมท่านไม่โต้แย้งกัมพูชาเป็นลายลักษณ์อักษร?
ข้อสงสัยที่เจ็ด:- ทำไมท่านไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย?
ในเอกสารหน้า 36 ท่านเขียนว่า
“ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ก็ได้รับทราบถึงผลการเจรจาร่วมกันในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2543 และได้มีความเห็นตรงกันว่าควรมีการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกัมพูชาเนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่ไทยยังไม่เคยเจรจาอย่างจริงจังเพื่อแสวงพาผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งๆ ที่ได้มีการเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียและเวียดนามจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว
ดังนั้น จึงได้มีการเริ่มเปิดการเจรจากับกัมพูชาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเขตพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับช้อนกัน และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย จนสามารถกำหนดแนวทางการเจรจาและการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสองประเทศที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2544 และนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ”
ผมโต้แย้ง:- ประชาชนมีข้อสงสัยดังนี้
(ก) ในลำดับขั้นตอนการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เริ่มต้นจากการเจรจาเส้นเขตแดนของทั้งสองประเทศให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะได้อาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย
เป็นขั้นตอน ใช้ม้าลากรถ
แต่ลำดับขั้นตอนการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เริ่มต้นจากการกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมขึ้นมาเอง
เป็นการรีบร้อนลัดขั้นตอน ใช้รถลากม้า
(ข) การเจรจากำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย ใช้เวลาหลายปี ท่านใช้เวลาเจรจากำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชาเพียงสองสามเดือน
ส่อเจตนาชัดเจนว่าให้ความสำคัญลำดับหนึ่งแก่การแสวงหาประโยชน์ปิโตรเลียม จนมีความเสี่ยงเรื่องเขตแดนเกิดขึ้น
การเร่งรีบเช่นนี้ ทำให้ประชาชนกังวลว่า มีวาระซ่อนเร้นแฝงอยู่ในการเจรจาหรือไม่
ผมขอย้ำว่า เขียนบทความนี้ด้วยความเคารพ และหวังจะให้ประโยชน์แก่รัฐมนตรีพรรคร่วมอย่างเต็มที่เป็นสำคัญ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ
ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
ที่มา : MgrOnline