จับตาภาษี “บุหรี่อัตราเดียว” คุมบิดราคา อุดช่องบุหรี่เถื่อน

เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 07:17:43
X
• เป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิต 5%
• มาตรการนี้คาดว่าจะลดการบิดเบือนตลาดและปัญหาบุหรี่เถื่อน/บุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก
• อุตสาหกรรมยาสูบจะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -   จับตาอุตสาหกรรมยาสูบเตรียมรับแรงกระแทกระลอกใหม่ ก.คลัง เตรียมปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่อัตราเดียว (Singler Rate) หนุนสรรพสามิตเพิ่มรายได้ 5% ตั้งเป้าเป็นกลไกลดการบิดเบือนตลาด และแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนบุหรี่ไฟฟ้าราคาถูก 


จากกรณี  นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายนโยบายกรมสรรพสามิตพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ที่มีแนวทางนำไปสู่การจัดเก็บ  ภาษีบุหรี่อัตราเดียว (Singler Rate) หรือ ภาษีบุหรี่เทียร์เดียว  เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 อัตรา โดยให้พิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5% นั้น ถือว่า มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ย้อนกลับไป ปี 2560 กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบไทยครั้งใหญ่ เปลี่ยนการจัดเก็บภาษีบุหรี่อัตราเดียว (Singler Rate) เป็นการจัดเก็บภาษีอัตราผสม (Compound Rate) ดำเนินการจัดเก็บภาษีทั้งทางตามปริมาณ (Specic Rate) กับบุหรี่ทุกยี่ห้อ มวนละ 1.20 บาท หรือ ซองละ 24 บาท และจัดเก็บภาษีตามมูลค่า(Ad Valorem Rate) โแยกออกเป็น 2 อัตรา หรือ 2 เทียร์ คำนวณภาษีบนฐานราคาขายปลีกแนะนำ

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 เทียร์คือ มีการบิดเบือนกลไกตลาด เกิดช่องว่างของราคาขายปลีกจากอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องราคาขายปลีกบุหรี่หลบไปอยู่ในอัตราภาษีที่ต่ำกว่า พบปัญหาเรื่องของราคาที่กองกันอยู่ เช่น กำหนดเทียร์ไว้ที่ 72 บาท ราคาก็ไปกองอยู่ที่ 72 บาท ส่วนราคาที่เกิน 72 - 95 บาท ก็หายไปหมด

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 เทียร์ เป็นการเก็บตามมูลค่าแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ หากราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 72 บาท เสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 72 บาท เสียภาษีที่อัตรา 42%

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหญ่เมื่อ 7 ปีก่อน ส่งผลราคาบุหรี่ถูกกฎหมายปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สิงห์อมควันปรับตัวหันไปบริโภคสินค้าทดแทน สูบบุหรี่เถื่อน ,บุหรี่ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งมีราคาถูกกว่า 2 - 3 เท่าตัว กล่าวคือการปรับโครงสร้างภาษีกระทบอุตสาหกรรมยาสูบไทยยอดขายบุหรี่ที่ถูกกฎหมายทั้งตลาดลดลง และเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า

“ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ภาษีบุหรี่ลดลง ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากบุหรี่เถื่อน ซึ่งในการสั่งการให้สรรพสามิตไปพิจารณาแนวทางเก็บภาษีบุหรี่อัตราเดียว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ โดยจะพิจารณาให้อุตสาหกรรมได้มีเวลาปรับตัว ที่สำคัญต้องไม่กระทบทางไร่ผู้ปลูกใบยา” นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

 รศ. ดร. ภัทรกิตติ์ เนตินิยม  หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าโครงสร้างภาษียาสูบไทยที่มีการแบ่งอัตราภาษีตามมูลค่าออกเป็น 2 ขั้น ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการจัดเก็บภาษียาสูบ เพราะโครงสร้างภาษีหลายอัตราทำให้ผู้ประกอบการบุหรี่แข่งขันกันผลิต และขายบุหรี่ราคาถูกจนบั่นทอนประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีบุหรี่ลง

ดังนั้น หากยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตรา และเปลี่ยนมาใช้การเก็บภาษีมูลค่าอัตราเดียว เช่น อัตราภาษีมูลค่าที่ร้อยละ 25-26 ของราคาขายปลีก จะทำให้ประเทศไทยใช้โครงสร้างภาษียาสูบแบบเดียวกับประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เยอรมนี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และฟิลิปปินส์

เป็นที่น่าสนใจเพราะมีความเป็นไปได้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบในรอบนี้อาจจะสร้างวิกฤติหรือสร้างโอกาสก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเลือกโครงสร้างภาษีแบบใดที่เหมาะสม สิ่งสำคัญของการทำนโยบายภาษียาสูบที่ดี ต้องช่วยลดปริมาณคนสูบ สร้างรายได้ภาษีเข้ารัฐ และช่วยให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันได้อย่างเสรีภายใต้ราคาที่หลากหลาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาษียาสูบสร้างรายได้ให้กับกรมสรรพสามิตเป็นอันดับที่ 5 แต่ปัจจุบันมีการจัดเก็บได้ลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่เปลี่ยนจากโครงสร้างภาษีอัตราเดียวมาเป็นโครงสร้าง 2 อัตราในระบบภาษีแบบผสมในปี 2560

ดังนั้น รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังจึงควรให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิยาสูบที่เหมาะสม โดยสร้างความสมดุลระหว่าง 3 วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินนโยบายภาษียาสูบคือ ควบคุมการสูบบุหรี่ สร้างรายได้ภาครัฐ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากจนเกินไป

นับเป็นประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ใหม่ของกรมสรรพสามิตอยู่ไม่น้อย

ด้าน  นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวแสดงความเห็น มองว่าการใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว หรือ Single Tier ไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีปัญหาเรื่องบุหรี่ผิดกฎหมาย เช่น ประเทศไทย เพราะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากบุหรี่ผิดกฎหมายไม่ได้เสียภาษีเข้ารัฐ จึงมีราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย 2-3 เท่าตัว เมื่อบุหรี่แพงขึ้นจนเกินกำลังซื้อของประชาชน ก็จะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาสูบบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น

“หากมีการปรับโครงสร้างภาษีเป็นอัตราเดียว จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อตลาดบุหรี่ถูกกฎหมาย และผู้ประกอบการ ตลอดจนรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐ และการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนก็อาจทำได้ไม่สำเร็จ เพราะประชาชนหันไปบริโภคยาเส้นและบุหรี่ผิดกฎหมายมากขึ้น

“ยสท. มีความเห็นว่าการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของประเทศไทย ควรพิจารณาถึงปัจจัยหลัก ได้แก่ ลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบที่เกิดกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในประเทศ สามารถแก้ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายได้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งรัฐเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากภาคส่วนนี้โดยตรง”

ที่ผ่านมา ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศไทยหดตัวลดลง โดยปี 2566 ภาษีทั้งหมดที่เก็บได้จากการขายบุหรี่อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท แต่เป็นรายได้ที่ถูกบุหรี่หนีภาษีลิดรอนไปกว่า 25% คิดเป็นมูลค่าภาษีที่หายไปกว่า 23,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มบุหรี่เถื่อนจะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ถึงแม้รัฐจะปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตดำเนินการอย่างเข้มข้นในการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย สำหรับการปราบปรามยาสูบนั้น มีกว่า 13,170 คดี ประมาณการค่าปรับ 2,334 ล้านบาท แบ่งเป็น ยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434 ซอง

 สุดท้าย นโยบายภาษียาสูบถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการสูบบุหรี่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท รัฐบาลโดย ก.คลัง ต้องกำหนดนโยบายภาษีอย่างสมดุล การควบคุมการสูบบุหรี่ การสร้างรายได้ภาครัฐ โดยไม่กระทบอุตสาหกรรมยาสูบจนเกินไป. 


ที่มา : MgrOnline