สวทช. จับมือ สตาร์ไลท์ เอ็ดดูเคชั่น เปิดค่าย Mission Mars ภารกิจส่งเด็กไทยพิชิตดาวอังคาร

เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 20:21:11
X
• ค่ายมุ่งส่งเสริมเยาวชนไทยให้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
• ใช้ธีม "ภารกิจพิชิตดาวอังคาร" เพื่อดึงดูดความสนใจ
• มีเป้าหมายกระตุ้นการเรียนรู้ด้าน STEM ในเยาวชนไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ บริษัทสตาร์ไลท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด จัดค่าย “Mission Mars: ภารกิจส่งเด็กไทยพิชิตดาวอังคาร” มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับ สะเต็มศึกษา ด้านเทคโนโลยีอวกาศและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสำรวจและการเดินทางไปยังดาวอังคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในอนาคตของมนุษยชาติ 

โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับการออกแบบและพัฒนาจากนักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และนักวิชาการ มีวิทยากรหลัก คือ Mr. Charles D. Gemar อดีตนักบินอวกาศจาก NASA ผู้มีประสบการณ์ปฏิบัติภารกิจนอกโลกมากกว่า 3 ครั้ง และเป็นเจ้าของสถิติอยู่นอกอวกาศนานกว่า 581 ชม. กิจกรรมดังกล่าวมีนักเรียนระดับประถมปลาย ถึง มัธยมศึกษาตอนต้น เข้าร่วมเรียนรู้จำนวน 300 คน โดยส่วนหนึ่งของนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม สวทช. ได้ส่งเสริมนักเรียนภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี (จำนวน70 คน จาก 8 โรงเรียน) ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่กิจกรรม Mission Mars Camp: ภารกิจส่งเด็กไทยพิชิตดาวอังคาร ที่มีความสำคัญในครั้งนี้ และขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ ต่อ อดีตนักบินอวกาศของ NASA นายชาร์ลส์ ดี. เกมาร์ พร้อมทั้งขอต้อนรับ นายโจนัส อาเวอร์มันน์ และทีมนักการศึกษาจาก Starlight Education ที่ร่วมในการจัดค่ายนี้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“สวทช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศไทย โดยภารกิจสำคัญ คือ การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแน่นอนว่าเยาวชน คือ บุคคลสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายในอนาคต อย่างไรก็ดีแม้ว่าการเดินทางไปยังดาวอังคารอาจเป็นความฝันที่อยู่ไกลโพ้น แต่การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อพาทุกคนเข้าใกล้เป้าหมายนั้นยิ่งขึ้น ด้วยการทดลองปฏิบัติและทำกิจกรรมที่จะทำให้เยาวชนตื่นเต้นร่วมกัน ผ่านการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนากำลังคนเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ”


สวทช. หวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ทุกคนมีความรู้ด้านการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะกระบวนการอันท้าทายในการส่งยานอวกาศไปยังดาวอังคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดในวาระการสำรวจอวกาศของโลก และในวันนี้เราโชคดีที่มี นายชาร์ลส์ ดี. เกอมาร์ อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่มีประสบการณ์ในภารกิจอวกาศมากกว่า 3 ครั้ง นอกจากนี้ เรายังมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะมาให้คำแนะนำ รวมทั้งการทดลองภาคปฏิบัติและกิจกรรมร่วมมือที่จะช่วยให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะที่สำคัญในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี


“ค่าย Mission Mars นี้ไม่เพียงแต่สนุกสนานและน่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นสำหรับการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของโลก โดยหวังว่าเยาวชนทุกคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังบุคลากรที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการได้รับความรู้ใหม่จากค่ายนี้ รวมทั้งได้แรงบันดาลใจ และความมั่นใจในการไล่ตามความฝัน ตลอดจนมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศไทย”  .... 
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับค่ายดังกล่าวได้เปิดโอกาสสุดพิเศษให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จากวิทยากรผู้มีชื่อเสียงด้านอวกาศรวมทั้งได้รับแรงบันดาลใจจากนักบินอวกาศผู้ที่เคยผ่านการสำรวจอวกาศจริง โดยเฉพาะ Mr. Charles D. Gemar อดีตนักบินอวกาศชาวอเมริกันจาก NASA ผู้มีประสบการณ์ขึ้นบินกับกระสวยอวกาศมาถึง 3 เที่ยวบิน เคยทำหน้าที่ในการเป็นผู้สื่อสารยานอวกาศ (CAPCOM) ในศูนย์ควบคุมภารกิจของกระสวยอวกาศ เพื่อสื่อสารกับนักบินอวกาศระหว่างปฏิบัติภารกิจของ NASA และเป็นเจ้าของสถิติอยู่นอกอวกาศนานกว่า 581 ชม. ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต และการทำงานในอวกาศ เพื่อร่วมสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้านอวกาศและเทคโนโลยี

โดยตลอดทั้ง 2 วันในค่าย Mission Mars นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและทักษะด้านสะเต็มศึกษา ผ่านกิจกรรมที่พัฒนาทักษะกระบวนการคิด การออกแบบและปฏิบัติจริงเพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น โดยกิจกรรมแบ่งการเรียนรู้ของนักเรียนออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประถมปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งนักเรียนจะมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทีมละ 5 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา

ในกิจกรรมนักเรียนจะได้รับความรู้ด้านอวกาศและเทคโนโลยี และโจทย์ภารกิจที่สนุกสนานท้าทาย อาทิ 1.Magnus Effect Challenge: Earth vs. Mars Spin-Off: กิจกรรมโดย สวทช. พัฒนาขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ การเคลื่อนที่ในปรากฏการณ์แม็กนัส ผ่านการทดลองทำกิจกรรมด้วยตนเอง และคาดคะเนคำตอบ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ปรากฏการณ์แม็กนัส ที่เกิดขึ้นในโลกและดาวอังคาร 2.Mars Rovers and Coding: เรียนรู้การจำลองยานสำรวจดาวอังคารและสาธิตการเขียนโค้ดควบคุมยาน 3.Crew Module Design: การออกแบบยานจำลองและการลงจอดบนดาวอังคาร 4.Mars Habitat Design Challenge: รับมอบโจทย์ภารกิจ ความท้าทายในการออกแบบที่อยู่อาศัยบนดาวอังคารที่ยั่งยืนของตนเอง โดยการออกแบบจะต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศด้วย หลังจากการระดมสมองในทีม ผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกนักเรียนจำนวน 10 ทีมมานำเสนอผลงาน ทีมผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และบัตรเข้าร่วมงาน Galactic Explorers 2025


ที่มา : MgrOnline