โซลาร์ ดี ส่ง ‘หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ครั้งแรกในไทย เทคโนโลยี Light Speed ติดตั้งเร็ว 10 เท่า

เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 17:26:17
X
• LightSpeed เป็นแฟล็กชิปโซลูชั่นดึงดูดนักลงทุน
• Solar D วางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569
• หุ่นยนต์ช่วยลดต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในภาคอุตสาหกรรม
• Solar D มุ่งสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ

Solar D เปิดตัวนวัตกรรมหุ่นยนต์ติดตั้งโซลาร์เซลล์ LightSpeed เร็วขึ้น 10 เท่า แฟล็กชิปโซลูชั่นสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน หนุนบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2569 รับโอกาสภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนด้วยพลังงานแห่งอนาคต พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

คุณสัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด หรือ Solar D ผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร กล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ด้วยมองเห็นโอกาสในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังทดแทนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์การสนับสนุนให้คนไทยมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานเพื่อใช้เอง พร้อมมุ่งมั่นกระจายพลังงานธรรมชาติจากศูนย์กลางกระจายไปสู่มือทุกคน (Decentralization) เพื่อแก้ไข (Pain Point) การใช้พลังงานที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการจำกัดไม่กี่ราย ซึ่งนำไปสู่การใช้พลังงานในปลายทางทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ในราคาสูงจากต้นทุนการผลิต

ปัจจุบัน Solar D ดำเนินการสู่ปีที่ 15 พร้อมติดตั้งโซลาร์ไปแล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้งานพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้าทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย และโรงงาน/ธุรกิจ ด้วยโซลูชั่นบริการครบวงจรตั้งแต่ ให้คำปรึกษา การออกแบบ และการติดตั้ง ขณะที่ความต้องการพลังงานทดแทนดังกล่าว ยังสอดคล้องกับสถานการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าจากอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนความต้องการของพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ในไทยที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนและพร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้นจากนี้ไป

คุณสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ตลาดพลังงานทดแทนโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่าหลายพันล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในอนาคตตามความต้องการด้านพลังงานสะอาดและการสนับสนุนจากภาครัฐ และกฎข้อบังคับการค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้มีผู้เล่นในตลาดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย สะท้อนถึงการตื่นตัวและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอีกมาก ขณะที่แนวทางการทำตลาด Solar D จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ Solar D ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกสิทธิ์ ‘หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ที่ช่วยลดระยะเวลาในการติดตั้งได้ภายใน 6 วันต่อ 1 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับใช้แรงงานคนสำหรับติดตั้งในรูปแบบเดิมจะใช้ระยะเวลา 60 วัน

สำหรับจุดเด่นของ ‘หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์’ คือ ประสิทธิภาพในการติดตั้งที่ติดตั้งได้เร็วกว่าถึง 10 เท่า และให้ความแม่นยำสูง อีกทั้งยังเข้ามาช่วยลดจำนวนแรงงานลงได้ครึ่งหนึ่ง รวมถึงลดความเสี่ยงของความเสียหายต่อหลังคา ลดความล่าช้าที่อาจเกิดจากสภาพอากาศ และลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการติดตั้งแผงโซลาร์ในรูปแบบเดิม หากใช้ระยะเวลาในการติดตั้งได้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนบาท จึงเป็นที่มาของการติดตั้งเร็วกว่าก็สามารถลดต้นทุนได้เร็วกว่า นอกจากนี้ Solar D ยังได้พัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรองเพื่อการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เสริมโซลูชันที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนของธุรกิจอีกด้วย

คุณสันติ ศรีชวาลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า (Chief Commercial Officer) บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เผยถึงการทำตลาดของหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ว่า หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จะรองรับกลุ่มเป้าหมายหลัก อุตสาหกรรมโรงงาน (Commercial and Industrial) ที่มีขนาดใหญ่และต้องการการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือในพื้นที่กว้าง ซึ่งการใช้หุ่นยนต์จะช่วยให้การติดตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และความเสี่ยงในกระบวนการติดตั้งบนหลังคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ

โดยบริษัทฯ ยังได้วางแนวทางแนะนำหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ของ Solar D ภายใต้กิจกรรมต่างๆ อาทิ การให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ของบริษัท พร้อมร่วมจัดงานแสดงสินค้าและการเข้าร่วมสัมมนาด้านพลังงาน รวมถึงการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ในด้านพลังงานและโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน Solar D ได้นำหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ให้บริการในโครงการ/โรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง และพื้นที่พาณิชย์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าหลายราย อาทิ LG Electronic, ANB packaging, Honda เป็นต้น

คุณสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแผนการทำตลาดดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจบริษัทในปี 2568 ซึ่งจะขยายบริการและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมให้กับหุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่และความต้องการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาดระดับภูมิภาค และผลักดัน Solar D ให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนให้ความเชื่อถือในด้านนวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้นปี 2569 หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะช่วยเสริมพอร์ตรายได้ให้กับ Solar D ด้วยเปิดโอกาสในการรับงานโครงการขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการการติดตั้งที่รวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งยังเข้ามาสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสีเขียวของไทยที่กำลังเติบโตในอนาคต ที่ยิ่งเข้ามาสนับสนุนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว ด้วยเช่นกัน

คุณสัมฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจ ในปี 2567 นี้ Solar D ได้ทำตลาดผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell Installation), อีวี ชาร์จเจอร์ (EV charger) และอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน อย่าง Tesla Powerwall ซึ่งบริษัทได้เป็นตัวแทนติดตั้งอย่างเป็นทางการ (Certified Installer) รายแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2564 และในปีนี้ Solar D มุ่งนำเสนอโซลูชันการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรสำหรับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบ Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating รวมถึงโครงการติดตั้งขนาดใหญ่

จากการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของ Solar D โดยเฉพาะการใช้หุ่นยนต์เป็นพื้นฐานหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Base) ที่เป็นของบริษัทฯ เอง เพื่อผลักดันให้หุ่นยนต์ติดตั้งเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก ด้วยการสนับสนุนตามข้อกำหนดมาตรฐาน (Standard Protocol Support) พร้อมรับประกันการส่งมอบงานติดตั้งให้ลูกค้าได้เดือนละ 3-4 เมกะวัตต์ และยังสร้างความแตกต่างไปจากแนวคิดเดิมในการทำตลาดโซลูชันติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อรับงานโครงการ (Project Base) ที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนจำกัดในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น









ที่มา : MgrOnline