พร้อมมั้ย!รฟม.เปิดแผนม.ค. 68 เริ่มรื้อถอน”สะพานข้ามแยกจรัญฯและราชเทวี”สร้างรถไฟฟ้าสีส้ม
เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 20:00:18
• เริ่มรื้อ ม.ค. 68 โดยเริ่มจากสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ และสะพานข้ามแยกราชเทวี
• สะพานที่รื้อจะสร้างใหม่แล้วเสร็จปี 71
• สะพานข้ามแยกประตูน้ำ จะถูกถอนโดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่
รฟม. เปิดแผนการรื้อถอน 3 สะพาน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประเดิม ม.ค. 68 รื้อสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ และสะพานข้ามแยกราชเทวี สร้างกลับคืนในปี 71 ส่วนสะพานข้ามแยกประตูน้ำ รื้อถอน มี.ค. 69
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า จากที่ รฟม.มีแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มการปิดเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นมา เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก และสถานีที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 นั้น
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงานอย่างต่อเนื่องและเปิดให้บริการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ รฟม. กำกับควบคุมงานก่อสร้างด้วยความเอาใจใส่ และรักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด รวมถึงต้องดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะการลดผลกระทบด้านการจราจร และให้มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างทั่วถึง
นายวิทยา พันธุ์มงคล กล่าวว่า รฟม. ได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในส่วนของสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณวัดสุทธาวาส สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ รฟม. มีแผนการปิดเบี่ยงจราจร เพื่อการสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดังนี้
1. สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 6 มกราคม 2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร ผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาสฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์คืนในเดือนธันวาคม 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนมิถุนายน 2571 โดยภายหลังเปิดใช้สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ผู้ใช้เส้นทางจะสามารถกลับมาสัญจรบนสะพานฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และสัญจรทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาสฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร เหมือนเดิม
2. สะพานข้ามแยกราชเทวี มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 15 มกราคม 2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร ผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรบนทางราบ บนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร และมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแยกราชเทวี คืนในเดือนธันวาคม 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนเมษายน 2571 โดยภายหลังเปิดใช้สะพานข้ามแยกราชเทวีผู้ใช้เส้นทางจะสามารถกลับมาสัญจรบนสะพานฝั่งขาออกได้ 2 ช่องจราจร และสัญจรทางราบบนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร เหมือนเดิม
3. สะพานข้ามแยกประตูน้ำ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนเฉพาะพื้นที่เชิงลาดขึ้นสะพาน 5 ช่วงเสา ระยะประมาณ 60 เมตร บริเวณหน้าห้าง Platinum ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2569 เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและดำเนินการคืนสภาพให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2569 โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรทางราบ บนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร ทั้งนี้ ในการคืนสภาพจะมีการปรับปรุงสะพานให้มีช่องทางมากขึ้น โดยลดจำนวนเสาต่อม่อสะพานบริเวณกลางแยกไปในคราวเดียวกัน
พร้อมกันนี้ รฟม. ได้กำชับให้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ร่วมลงทุน) ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างการก่อสร้างให้ครบถ้วน ได้แก่ ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเท่าที่จำเป็นในระหว่างดำเนินงาน ติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจรให้มีความชัดเจนเป็นไปตามมาตรฐาน จัดให้มีอาสาจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแต่ละจุดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก จัดให้มีทางเท้าสำหรับผู้สัญจรเพื่อเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการข้ามถนน โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าทางช่องทางต่างๆ ตลอดจน การติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ จะต้องมีการบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตำรวจในท้องที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้ประชาชน และแก้ปัญหาจราจรในช่วงระหว่างก่อสร้าง รวมถึงจะต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัย โดยให้ดำเนินการก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด ตามนโยบายด้านความปลอดภัยของกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนโปรดวางแผนและเผื่อเวลาในการเดินทาง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ติดตามข้อมูลโครงการฯ และรายละเอียดการปิดเบี่ยงจราจรได้ที่เฟซบุ๊กโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือ โทร. 0 2168 3460-8 และติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044
ที่มา : MgrOnline