ปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดสึนามิทดแทนตัวเดิมในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย สร้างความพร้อมในการแจ้งเตือนสึนามิ
เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 17:36:45
• ทุ่นใหม่ทดแทนทุ่นเดิมที่เก่าแล้ว
• การเปลี่ยนทุ่นนี้เพื่อให้ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ 2 จุด บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ทดแทนทุ่นเดิม เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ
วันนี้ (25 พ.ย.) ที่ท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต นายอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธีปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ประจำปี 2567 พร้อมด้วยนายธณัฐ สุขรมย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติบัติแห่งชาติ พล.ร.ต.ภุชงค์ รอดนิกร รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายธณัฐ สุขรมย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีภารกิจในหน้าที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์สาธารณภัยตลอด 24 ชั่วโมง ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้จากหน่วยงานภายในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อนำผลข้อมูลมาวิเคราะห์ ประมวลผล และประเมินสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติ จากนั้นจะได้แจ้งเตือนภัยไปยังหน่วยงานระดับจังหวัด ท้องถิ่น และประชาชนผ่านทุกช่องทางการแจ้งเตือนภัย ตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure- SOP) มุ่งหวังให้เกิดการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ประชาชน รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลสำหรับวางแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตและบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการในการแจ้งเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ สืบเนื่องจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานภาครัฐเอกชน และประชาชนได้ตระหนัก และให้ความสำคัญต่อภัยสึนามิ โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน
การวางระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย เป็นกลไกการสร้างโครงข่ายการเฝ้าระวังและเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าให้ประเทศชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคนี้มีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน สามารถเตรียมความพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ
ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ดำเนินการติดตั้งครั้งนี้ เป็นการตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 ทุ่นในมหาสมุทรอินเดีย ระยะห่างจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 965 กิโลเมตร และวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน ประมาณ 340 กิโลเมตร
ซึ่งการดำเนินการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในครั้งนี้ เป็นการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิชุดใหม่ทดแทนทุ่นเดิม ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ
ทั้งนี้ ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิทั้ง 2 จุด มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานของผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2 ปี เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ที่มา : MgrOnline