กรมอุตุฯ เผยอาจได้สัมผัสอากาศเย็น 2-3 วัน เตือนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกสะสม
เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 16:12:00
• ภาคใต้เสี่ยงฝนตกหนักสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 พ.ย.-4 ธ.ค.67 เผยพอมีความหวังได้สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว 2-3 วัน เตือนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
วันนี้ (25 พ.ย.)กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 พ.ย.-4 ธ.ค.67 init. 2024112412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย
ช่วง 25-26 พ.ย.67 มวลอากาศเย็นยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย แต่มีกำลังอ่อนลงบ้าง และมีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความชื้นพัดปกคลุมบางเวลา ตอนเช้าอากาศเย็น และมีหมอกบางพื้นที่ กลางวันเมฆบางส่วนอากาศร้อน ยอดดอย ยอดภู อากาศเย็นถึงหนาว
ส่วนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ต้องเฝ้าระวังฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอาจจะยาวไปถึงสิ้นเดือน สภาวะฝนมีตกหนักเบาสลับกัน คลื่นลมแรงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ส่วนมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เป็นระลอกๆ ลมหนาวพัดเป็นระบบมากขึ้น
ช่วง 27 พ.ย.- 4 ธ.ค.67 มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมอีกระลอก ทำให้ลมหนาวจะพัดแรงขึ้น อากาศจะเริ่มเย็นลงในตอนเช้า อุณหภูมิลดลงมากหน่อยบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ส่วนภาคอื่นๆ ลดลงเช่นกัน และมีลมแรง
พอมีความหวังได้สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว 2-3 วัน ฝนมีน้อยลงบริเวณประเทศไทยตอนบน แสงแดดแรงในช่วงกลางวัน วางแผนเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว ได้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก(บางพื้นที่) ระมัดระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และระวังอัคคีภัย จากลมแรง
ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรงขึ้น เตรียมรับมือกันอีกช่วง
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ )
ที่มา : MgrOnline