"ปูติน" ออกกฎเหล็ก! ห้ามรับ ‘เด็กรัสเซีย’ ไปอุปการะในประเทศที่อนุญาตให้ ‘แปลงเพศ’

เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 13:26:17
X
• กฎหมายห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติจากประเทศที่อนุญาตการแปลงเพศรับเด็กชาวรัสเซียไปอุปการะ
• มาตรการนี้มีผลกระทบต่อการอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาวรัสเซียโดยชาวต่างชาติ

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียลงนามบังคับใช้กฎหมายใหม่ในวันเสาร์ (23 พ.ย.) ห้ามไม่ให้มีการรับเด็กชาวรัสเซียไปอุปการะเลี้ยงดูในประเทศที่อนุญาตให้มีการ “แปลงเพศ”

ผู้นำหมีขาวยังลงนามประกาศใช้กฎหมายห้ามเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหากระตุ้นให้ประชาชนไม่อยากมีบุตร

ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาของรัสเซีย โดยก่อนหน้านั้นรัสเซียเคยออกกฎหมายที่มีลักษณะกดขี่เพศทางเลือก และปกป้องค่านิยมทางสังคมแบบดั้งเดิมมาแล้วหลายฉบับด้วยกัน

วยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในทีมร่างกฎหมายใหม่ เคยโพสต์เทเลแกรมเมื่อเดือน ก.ค. ว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดอันตรายที่มาในรูปของการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ (gender reassignment) ซึ่งเด็กๆ ที่ถูกรับไปอุปการะอาจจะต้องเผชิญในประเทศเหล่านั้น”

คำสั่งห้ามรับอุปการะเด็กรัสเซียจะมีผลบังคับต่ออย่างน้อย 15 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป แต่ก็รวมถึงออสเตรเลีย อาร์เจนตินา และแคนาดา ขณะที่สหรัฐฯ นั้นถูกห้ามรับอุปการะเด็กรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2012

สำหรับร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ผ่านความเห็นชอบของ ปูติน เมื่อวันเสาร์ (23) มีเนื้อหาต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อให้คนไม่มีบุตร และยังกำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 5 ล้านรูเบิล (ราว 1.68 ล้านบาท) สำหรับผู้ฝ่าฝืน

กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายนี้อ้างว่า ข้ออภิปรายถกเถียงเรื่องการมีบุตรนั้นเป็นความพยายามของชาติตะวันตกที่จะบั่นทอนความเข้มแข็งของรัสเซีย ด้วยการทำให้ประชากรรัสเซียลดลงเรื่อยๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปูติน และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียพยายามกระตุ้นให้ประชาชนรักษาค่านิยมดั้งเดิม และต่อต้านลัทธิเสรีนิยมแบบตะวันตก และเนื่องจากประชากรรัสเซียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปูติน จึงเน้นย้ำในหลายโอกาสให้ชาวรัสเซียสร้างครอบครัวใหญ่ และปีที่แล้วก็ถึงขั้นแนะนำให้ผู้หญิงรัสเซียมีลูกถึง 8 คน

ปีที่แล้วรัสเซียได้สั่งห้ามสถานพยาบาลต่างๆ ให้บริการแปลงเพศ นอกจากนี้ ศาลสูงสุดก็ยังประกาศให้กลุ่ม LGBTQ+ เป็นหนึ่งใน “ขบวนการหัวรุนแรง” ด้วย

เมื่อปี 2022 ปูติน ได้ลงนามกฎหมายห้ามเผยแพรข้อมูลเกี่ยวกับ LGBTQ+ แก่ประชาชนในทุกช่วงวัย โดยขยายขอบเขตจากกฎหมายที่ออกเมื่อปี 2013 ที่ห้ามเผยแพร่สื่อประเภทนี้ต่อผู้เยาว์เท่านั้น

ที่มา : AP

ที่มา : MgrOnline