‘ยุโรป’แบกรับไม่ไหวหรอก ถ้าสหรัฐฯถอดปลั๊กไม่ช่วยยูเครน

เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 02:21:16
X
• ขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนยูเครน
• ขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์
• ขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองในการสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง
• ไม่สามารถทดแทนสหรัฐฯ ในการจัดหาและส่งมอบสิ่งจำเป็นให้ยูเครนได้อย่างเพียงพอ
• ยูเครนจะยากลำบากในการต่อสู้กับรัสเซียต่อไป
กำลังทหารโปแลนด์ถูกส่งไปที่โรมาเนีย ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสู้รบหลากหลายชาติขององค์การนาโต้ ซึ่งเข้าร่วมในการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง เคียงข้างทหารฝรั่งเศสและทหารโรมาเนีย (ภาพจากองค์การนาโต้)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Europe not enough if US pulls the plug on Ukraine
by Stephen Bryen
16/11/2024

ถ้า ทรัมป์ 2.0 ยุติการช่วยเหลือสนับสนุนยูเครน ยุโรปก็ขาดแคลนทั้งเงินทอง, อาวุธ, และความมุ่งมั่น จนสามารถจะเข้าแทนที่อเมริกัน ในการจัดหาจัดส่งซัปพลายต่างๆ และประคับประคองให้เคียฟทำสงครามกับรัสเซียต่อไป

อินไซด์โอเวอร์ (InsideOver https://it.insideover.com/) เป็นช่องข่าวออนไลน์ภาษาอิตาลีที่ได้รับความนิยมมากรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โรแบร์โต วิวัลเดลลี (Roberto Vivaldelli) นักข่าวนักหนังสือพิมพ์จากอินไซด์โอเวอร์ ได้มาสอบถามผม (สตีเฟน ไบรเอน) ด้วยคำถามบางประการเกี่ยวกับนโยบายสหรัฐฯและยูเครน เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของคำถามคำตอบเหล่านี้ เอเชียไทมส์นำมาเผยแพร่อีกครั้งโดยที่ได้รับอนุญาตจากทางผู้เขียนแล้ว สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ ยังสามารถค้นหาข้อเขียนเดิมที่เผยแพร่เป็นภาษาอิตาลีได้ที่ https://it.insideover.com/guerra/stephen-bryan-leuropa-non-basta-se-gli-usa-smettono-aiutare-lucraina-la-guerra-e-finita.html

โรแบร์โต วิวัลเดลลี: เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ) ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประธานาธิบดีไบเดนมีแผนการที่จะของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐสภาสหรัฐฯเพื่อใช้ช่วยเหลือยูเครน คุณจะตีความการตัดสินใจเช่นนี้ ณ จุดนี้ว่ายังไงครับ?

สตีเฟน ไบรเอน: ในสหรัฐฯเราจะเรียกคำของบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ยูเครนลักษณะนี้ของไบเดนว่า “Hail Mary Pass” มันหมายความว่าเขาออกมาร้องขอเช่นนี้เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับยูเครน และก็เพื่อพยายามบีบคั้นทางฝ่ายรีพับลิกันให้ต้องแสดงการสนับสนุนยูเครนในบางระดับในอนาคตข้างหน้า ทว่าผมเองมีความคิดเห็นว่ารัฐสภาจะไม่หยิบยกข้อเสนอนี้ของไบเดนมาพิจารณาหรอก ตรงกันข้ามจะรอคอยให้ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งมากกว่า ผมไม่คิดว่ากระทั่งตัวไบเดนเองจะเชื่อว่าร่างกฎหมายในเรื่องนี้ของเขาจะมีโอกาสผ่านสภาหรอก
(Hail Mary Pass การผ่านลูกโดยขอพรจากพระแม่มารีอา เป็นวลีที่ใช้กันในการแข่งขันฟุตบอลอเมริกัน โดยในช่วงนาทีท้ายๆ ของเกมการแข่งขัน ฝ่ายที่คะแนนตามหลังอยู่ เมื่อได้ครองลูกจะพยายามขว้างลูกไกล เพื่อให้สามารถทำคะแนนได้ทันเวลา ทว่าเนื่องจากโอกาสที่จะทำได้สำเร็จมีต่ำมาก จึงทำให้เกิดการอ้างอิงถึงคำสวดอ้อนวอนของชาวคริสต์คาทอลิก ที่ขอให้พระแม่มารีช่วยเหลือ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Hail_Mary_pass#:~:text=A%20Hail%20Mary%20pass%20is,prayer%20for%20strength%20and%20help.&text=The%20expression%20goes%20back%20at,and%20said%20a%20Hail%20Mary.%22)

นับตั้งแต่ที่รัฐสภาอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ยูเครนฉบับสุดท้ายก่อนหน้านี้ที่มียอดเงินมหาศาลมาก เงื่อนไขต่างๆ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการใช้จ่ายก้อนมหึมาเหลือเกินทว่าสถานการณ์ของยูเครนกลับไม่ได้กระเตื้องขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายรัสเซียยังคงสามารถช่วงชิงชัยชนะสำคัญๆ เหนือกองทัพของยูเครน และยังคงสร้างความหายนะให้แก่พวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายไฟฟ้า

ถ้าหากสงครามยังคงดำเนินต่อไป ยูเครนอาจจะตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกอบกู้ให้กลับฟื้นคืนดีได้อีก ในเรื่องของพวกโครงสร้างพื้นฐาน และชาวยูเครนที่ออกจากประเทศไปแล้ว ก็จะไม่กลับมายังพื้นที่ซึ่งมีแต่ความรกร้างว่างเปล่าหรอก

วิวัลเดลลี: ในความเห็นของคุณ เราควรคาดหวังอะไรจากคณะบริหารทรัมป์ในเรื่องเกี่ยวยูเครน? คุณคิดว่าในสภาพความเป็นจริงแล้วมีลู่ทางโอกาสที่จะเกิดการพูดจาสนทนากันระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียเพื่อยุติสงครามครั้งนี้ไหม?

ไบรเอน: มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้นำรัสเซียคนนี้เอามากๆ เลย ผมคิดว่าทรัมป์นั้นต้องการที่จะเจรจากับปูติน ทว่าปูตินน่ะ อย่างน้อยที่สุดก็เท่าที่เป็นมาจนถึงขณะนี้ ต้องการที่จะชนะสงครามในยูเครน หรือใกล้เคียงกับที่จะได้ชัยชนะ ก่อนที่เขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับทรัมป์ ดังนั้น มันจึงเป็นการแสดงท่าทางในทางการเมืองแบบหนึ่ง

ที่จริงยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องยูเครนเสียอีก นั่นคือเรื่องอนาคตขององค์การนาโต้, การจัดการกับกำลังอาวุธนิวเคลียร์, และวิธีการที่จะลดภัยคุกคามซึ่งชัดเจนมากระหว่างยุโรป (รวมถึงสหรัฐฯด้วย) กับรัสเซีย ปูตินต้องการที่จะพูดกับทรัมป์เกี่ยวกับหัวข้อทั้งหมดเหล่านี้ รวมทั้งอะไรอย่างอื่นอีกมากมาย

ทรัมป์ก็จะต้องขบคิดเหมือนกันในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทสหรัฐฯในยุโรปในอนาคต และอันตรายของการเกิดการสู้รบขัดแย้งที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งไปกว่านี้อีก เราคงต้องเฝ้ารอดูกันต่อไปว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มการติดต่อก่อน ความรู้สึกของผมบอกว่าจะเป็นทรัมป์นั่นแหละที่จะเริ่มก่อน ในทันทีที่เขามีทีมงานของเขาซึ่งเข้าที่เข้าทางแล้ว และมีการหารือถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์อย่างเต็มที่กันแล้ว

วิวัลเดลลี: รัสเซียจะเรียกร้องต้องการอะไรบ้างในการเจรจากันอย่างที่ว่ามานี้?

ไบรเอน: รัสเซียมีบัญชีรายการยาวเหยียดเลยเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องการในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน เริ่มต้นเลยก็คือ รัสเซียต้องหาทางทำให้มียูเครนที่เป็นเพื่อนมิตรกับตัวเอง เป็นยูเครนซึ่งไม่มีการต่อเชื่อมใดๆ กับนาโต้ มีพวกพันธมิตรของทรัมป์บางราย เป็นต้นว่า สถานบันนโยบายอเมริกาต้องมาเป็นอันดับแรก (America First Policy Institute) เสนอเหตุผลสนับสนุนให้มีเวลาหยุดพักสัก 20 ปีก่อนที่ยูเครนสามารถเข้าร่วมนาโต้ได้

ข้อเสนออย่างนี้ไม่สามารถทำให้เริ่มการเจรจากันได้หรอก เพราะฝ่ายรัสเซียต้องการให้นาโต้ออกไปจากยูเครนให้หมดเลย ทั้งเดี๋ยวนี้เลยและในอนาคตด้วย ผมไม่คิดว่ารัสเซียพรักพร้อมที่จะเข้าเจรจาต่อรองอะไรที่น้อยลงไปกว่านี้หรอก ตราบใดที่พวกเขาเป็นฝ่ายที่กำลังชนะในสงครามนี้

รัสเซียยังต้องการให้ยูเครนเป็นประเทศที่ปลอดแสนยานุภาพทางทหาร ขณะที่มีช่องทางอยู่เหมือนกันสำหรับการประนีประนอมกันในเรื่องนี้ ทว่าดูเหมือนว่ารัสเซียต้องการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการสู้รบขัดแย้งทางทหารใดๆ ขึ้นมาในยูเครนเลยในอนาคต นอกจากนั้นรัสเซียยังได้ประกาศผนวกไครเมีย (Crimea), ลูฮันสก์ (Luhansk), โดเนตสก์ (Donetsk), ซาโปริเซ(Zaphorize หรือ Zaporizhzhia ซาโปริซเซีย), และเคียร์ซอน (Kherson) เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรัสเซียไปเรียบร้อยแล้วด้วย

รัสเซียจะเรียกร้องให้ยูเครนยอมสละดินแดนเหล่านี้อย่างเป็นทางการ สิ่งที่ยังรอให้วินิจภัยตัดสินกันต่อไปก็คือ รายละเอียดเกี่ยวกับเส้นพรมแดนของแคว้นเหล่านี้ และเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ (ผู้คน, การค้า, ความมั่นคง) ที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับแนวเส้นพรมแดนใหม่

รัสเซียยังต้องการให้ฝ่ายยูเครนยุติการกล่าวโทษดำเนินคดีกับคริสตจักรออโธดอกซ์รัสเซีย (Russian Orthodox Church), รวมทั้งยุติความพยายามในการกำจัดกวาดล้างวัฒนธรรมรัสเซียและภาษารัสเซียบนดินแดนของยูเครน, และเหนือสิ่งอื่นใดเลยก็คือ การปฏิบัติต่อประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน โดยที่การทำเรื่องอย่างนี้ จะต้องมีการยกเลิกพวกกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ฝ่ายยูเครนประกาศบังคับใช้

ฝ่ายรัสเซียสามารถที่จะได้ตามข้อเรียกร้องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ ความคืบหน้าในสมรภูมิ และฉากทางการเมืองในกรุงเคียฟ ยิ่งรัสเซียโจมตีขับไล่กองทัพยูเครนให้ล่าถอยได้มากเท่าใด ฐานะในการเจรจาของรัสเซียก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

ในส่วนของยูเครนและรัฐบาลของพวกเขาในกรุงเคียฟนั้น อนาคตมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องสำคัญมากที่ว่าใครจะเป็นตัวแทนการเจรจาของฝ่ายยูเครน เพราะไม่น่าเป็นไปได้เลยที่จะยังมีคณะรัฐบาลนำโดยเซเลนสกีเหลือรอดอยู่อีก มันอาจจะเป็นเรื่องของระยะเวลาแค่ระดับอาทิตย์ๆ หรือแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ก่อนที่รัฐบาลเซเลนสกีจะพังทลายสืบเนื่องจากสถานการณ์ในสนามรบ

มีรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทาศสหรัฐฯ กำลังทำงานเกี่ยวกับแผนการที่จะให้มีการเลือกตั้งขึ้นในยูเครน เรื่องนี้สำหรับผมแล้วดูเหมือนกับเป็น “การร้องขอ” ที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการนำเอากลไกสำหรับการเลือกตั้งมาจัดให้เข้าที่เข้าทางนั้น ดูจะเป็นความท้าทายที่ไม่สามารถฝ่าข้ามเอาชนะได้ และจะใช้เวลานานเกินไปสำหรับการดำเนินการ
พลเอก วาเลรี ซาลุซนี เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพยูเครน และยังเป็นที่ไว้วางใจของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ภาพนี้ซ่งสำนักงานบริการสื่อมวลชนของทำเนียบประธานาธิบดียูเครนเป็นผู้ถ่ายและเผยแพร่แก่สื่อมวลชนระบุว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2022 ขณะ ซาลุซนี เข้าร่วมการประชุมนัดหนึ่งของรัฐสภายูเครน
ในเงื่อนไขที่สถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวาย คู่แข่งขันต่างๆ จะต้องพยายามหาทางยึดครองตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี หรือไม่ยูเครนก็อาจต้องหันไปพึ่งพิงผู้นำทางทหาร บางทีอาจจะต้องนำเอาพลเอกซานุซนี (Zaluzhnyi) กลับมาเข้าดำรงตำแหน่งทำนอง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” (supreme commander)
(หมายเหตุผู้แปล - พลเอก เวเลรี ซานุซนี Valerii Zaluzhnyi เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพยูเครนในช่วงเดือน ก.ค.2021 ถึง ก.พ. 2024 ซึ่งก็คือตั้งแต่ก่อนรัสเซียรุกรานยูเครนโดยตรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เสียอีก แต่เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างตัวเขากับประธานาธิบดีเซเลนสกี เขาจึงถูกปลด และเวลานี้รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหราชอาณาจักร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Valerii_Zaluzhnyi)

ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นมาได้ก็คือ ฝ่ายรัสเซียอาจเอาแคนดิเดตของพวกเขาเองเข้ามาเป็นผู้กุมอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งฐานอยู่นอกประเทศ แล้วจากนั้นจึงค่อยโยกย้ายเอาเข้ามายังกรุงเคียฟ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่อนาคตคือสิ่งที่คืบขยับเข้ามาอย่างรวดเร็วมากในยูเครน

วิวัลเดลลี: ตามรายงานข่าวของ เดอะ เทเลกราฟ (the Telegraph หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน -ผู้แปล) แผนการสันติภาพของทรัมป์อาจโยงใยกับการให้มีกองทหารยุโรปเข้าไปประจำอยู่ในเขตพื้นที่กันชนซึ่งตั้งขึ้นตามเส้นแนวหน้าในปัจจุบัน คุณมีความเห็นยังไงกับวิธีการนี้?

ไบรเอน: ผมเพิ่งเห็นไอเดียนี้ถูกเสนอออกมาให้พิจารณาในสหรัฐฯนี่เหมือนกัน ในด้านหนึ่งนะ มันต้องเข้าอกเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีที่ปรึกษาของทรัมป์คนไหนหรอกที่จะยินยอมให้มีทหารสหรัฐฯเข้าไปอยู่ในยูเครน แม้กระทั่งในฐานะเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพก็ตามที นอกเหนือจากข้อสังเกตนี้แล้ว เรื่องไอเดียที่จะนำเอากองทหารยุโรปเข้าไปประจำการอยู่บนแผ่นดินยูเครนก็จะเป็นสิ่งที่รัสเซียยอมรับไม่ได้หรอก รัสเซียนะไม่ได้สู้รบเพียงเพื่อให้มีกองกำลังนาโต้มาตั้งอยู่บนดินแดนใดๆ ใกล้ชายแดนของพวกเขาหรือใกล้ๆ กองทัพของพวกเขาหรอก

ความจริงมีอยู่ว่า ไอเดียของการให้มีกองกำลังรักษาสันติภาพใดๆ ที่มาจากภายนอกเข้าไปตั้งอยู่ในยูเครนนั้น อิงอยู่กับข้อสมมุติฐานที่ว่าผลลัพธ์ของสงครามคราวนี้จะออกมาในลักษณะของการเกิดภาวะชะงักงัน ซึ่งเราสามารถพูดอย่างนี้ได้เช่นกัน กับแนวความคิดในเรื่องการก่อตั้ง “เขตกันชน” ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม (ภาวะชะงักงันของสงคราม) เป็นสิ่งที่ผมมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นมาหรอก

ยังมีเรื่องที่พูดกันว่าอาจจะเฉือนแบ่งยูเครนออกเป็นส่วนๆ มันอาจเกิดขึ้นได้นะ แต่ว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นหรอก มีการพูดกันเยอะแยะทีเดียวในเรื่องที่โปแลนด์จะเข้าครอบครองภาคตะวันตกของยูเครน (โดยที่พื้นที่บางส่วนตรงนั้น พวกโปแลนด์และพวกฮังการีได้เคยครอบครองมาแล้วในอดีต) แต่ผมคิดว่านี่เป็นเพียงการพูดจากันในเวลานี้เท่านั้น

ทำไมฝ่ายรัสเซียจึงจะยอมตกลงสละดินแดนครึ่งประเทศยูเครนไปล่ะ? เพื่อให้รางวัลแก่โปแลนด์สำหรับการที่พวกเขาจัดส่งอาวุธต่างๆ ให้แก่ยูเครน รวมทั้งสำหรับการที่พวกเขาปฏิบัติตัวเป็นนายหน้าจัดหาจัดส่งข้าวของต่างๆ ให้แก่นาโต้อย่างงั้นหรือ?

วิวัลเดลลี: มีรายงานหลายกระแสจากสนามรบบ่งชี้ว่า รัสเซียกำลังเริ่มเปิดการรุกตอบโต้รอบๆ แคว้นคูร์สก์ และในภูมิภาคดอนบาส และเคียฟดูเหมือนกำลังตกอยู่ใต้ภาวะกดดันอย่างหนักทีเดียว คุณจะช่วยแชร์ทัศนะมุมมองของคุณเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ฟังกันสักหน่อยได้ไหมครับ?

ไบรเอน: มีรายงานหลายกระแสว่ารัสเซียได้รวบรวมกองกำลัง “ใหม่” ขนาดใหญ่กองหนึ่งที่มีกำลังทหารระหว่าง 50,000 ถึง 100,00 คน บางคนบอกว่าทหารเหล่านี้จะถูกส่งไปเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ แต่คนอื่นๆ ชี้ว่าทหารเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรุกครั้งใหม่ในพื้นที่ซาโปริเซ

ในคูร์สก์นั้น ฝ่ายยูเครนกำลังใช้งานหน่วยทหารชั้นเยี่ยมบางหน่วยของพวกเขา ตลอดจนพวกอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่สุด ทว่าก็กำลังถูกผลักดันให้ต้องถอยร่นอย่างช้าๆ ผมไม่ทราบหรอกว่าตารางเวลาที่ปูตินปรารถนาให้การปฏิบัติการในคูร์สก์เสร็จสิ้นสมบูรณ์คือเมื่อไหร่ แต่ผมสงสัยว่าเขาคงอยากจะเข้าสู่การเจรจาต่อเมื่อสามารถทวงคืนดินแดนรัสเซียทั้งหมดแล้ว

นี่หมายความว่าจะต้องใช้ทหารเพิ่มเติมอีกสัก 50,000 ถึง 100,000 คนใช่ไหม? ก็อาจเป็นไปได้ ไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ไปเลยหรอก มองกันในทางยุทธวิธีนะ จากสิ่งที่เราสามารถมองเห็นกันได้ ฝ่ายรัสเซียกำลังพึ่งพาอาศัยหนักเลยในด้านการบิน เพื่อทำลายกองกำลังสำรองและสัมภาระต่างๆ ที่มุ่งหน้าไปส่งที่คูร์สก์ และลดการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายรัสเซียให้เหลือน้อยที่สุด ในระดับที่สามารถกระทำได้

แต่สำหรับ ซาโปริเซ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจุดมุ่งหมายในการทำสงครามที่นั่นของฝ่ายรัสเซียคือการวางกับดักให้กองทัพยูเครนตกเข้าไปอยู่ระหว่างคีบหนีบสองข้าง (พวกเขานิยมเรียกการวางกับดักให้ตกอยู่หว่างคีมหนีบ ว่าทำให้ตกเข้าไปอยู่ในกาต้มน้ำ cauldron) หากเป็นอย่างนั้นแล้ว ซาโปริเซ ก็จะเป็นปีกตอนใต้ของคีมหนีบนี่ สำหรับปีกที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปมากกว่า จะพัฒนาขึ้นมาในทันทีที่พวกเมืองหลักๆ อย่าง ชาซิฟ ยาร์ (Chasiv Yar) ถูกรัสเซียยึดสำเร็จ และกองทัพรัสเซียสามารถจัดกระบวนเป็นปีกทางตอนเหนือขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นคีบหนีบต่อไป

นี่จะหมายถึงการขับดันเพื่อมุ่งสู่แนวแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper River แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่ากลางแบ่งยูเครนเป็นฟากตะวันออกและฟากตะวันตก) และด้วยกระบวนการเช่นนี้ก็จะทำลายกองทัพยูเครนในฐานะที่เป็นกองกำลังสู้รบลงไปเลย สิ่งนี้จะสามารถเกิดขึ้นมาได้หรือไม่ย่อมแล้วแต่การคาดเดาของแต่ละคน แต่การที่ เซเลนสกี ยืนกรานว่าต้องตรึงกำลังที่อยู่ในคูร์สก์เอาไว้ เพื่อใช้เป็น “หมากสำหรับการต่อรอง” ตัวหนึ่ง จริงๆ แล้ว มันคือการทำให้ยูเครนต้องขาดไร้กำลังที่สามารถใช้สำหรับการตรึงเส้นแนวรบในโดเนตสก์เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของโดเนตสก์

บังเอิญว่าแผนการสำหรับการปฏิบัติการในคูร์สก์นั้น ถูกจัดทำขึ้นมาโดยพวกสหราชอาณาจักร แต่มันไม่ได้มีการหขบคิดในจุดที่ว่ามันจะกลายเป็นการปฏิบัติการที่ประสบความชะงักงัน และล้มเหลวไม่สามารถบรรลุกวัตถุประสงค์หลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คูร์สก์ ตัวเลขการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายยูเครนในการปฏิบัติการนี้ เวลานี้กำลังไต่สูงกว่าหลัก 30,000 แล้ว และนี่คือการสูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสียในหน่วยทหารชั้นนำ ซึ่งยูเครนไม่สามารถแบกรับได้

วิวัลเดลลี: คำถามสุดท้าย ถ้าคณะบริหารทรัมป์ตัดสินใจที่จะยุติเงินช่วยเหลือสนับสนุนที่สหรัฐฯให้แก่เคียฟ คุณคิดว่ายุโรปจะมีทางเลือกอะไรได้บ้าง? ยุโรปสามารถที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งทางการเงินและทางทหารโดยลำพังไหวไหม โดยที่ไม่มีความสนับสนุนของสหรัฐฯ?

ไบรเอน: ถ้าสหรัฐฯยุติการให้ความสนับสนุนยูเครน สงครามคราวนี้ก็เป็นอันจบลงแน่ๆ ยุโรปจะไม่ก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐฯหรอกด้วยเหตุผลจำนวนมากทีเดียว ประการแรก ยุโรปไม่ได้มีอาวุธที่สามารถแทนที่ซัปพลายที่มาจากฝ่ายอเมริกันได้

ประการที่สอง ยุโรปไม่ได้มีกำลังเงินทองนอกเหนือจากพวกกองทุนของรัสเซียที่ถูกพวกเขายึดเอาไว้แล้ว ประการที่สาม การเมืองของยุโรปกำลังมีการเปลี่ยนแปลง การพังครืนเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะรัฐบาลผสมของเยอรมนีคือสัญญาณชัดเจนของสิ่งเลวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับยุโรป พวกสหราชอาณาจักรนั้นแฮปปี้มากที่จะคอยออกมาเรียกร้องให้ช่วยเหลือยูเครนกันให้มากขึ้น ทว่าสหราชอาณาจักรกลับไม่มีเงินทองและก็ไม่มีกำลังทหารด้วย

นอกเหนือจากเหตุผลต่างๆ ที่พูดกันมาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าสงครามยูเครนจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาเลย ถ้าหากสหรัฐฯและองค์การนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯจะถอยห่างออกมาจากยูเครนเสียตั้งแต่ทีแรก สิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปสำหรับการเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นมาก็คือทฤษฎีของนาโต้ที่มุ่งจะขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นหมายถึงมันจะครอบคลุมมากกว่าแค่ยูเครนเสียอีก โดยมุ่งรวมเอาอดีตจักรวรรดิของรัสเซียทั้งหมดทีเดียว

ถ้าหากนาโต้พ่ายแพ้ปราชัยในยูเครน ซึ่งดูน่าจะเป็นอย่างนั้น นาโต้ก็จะมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหันกลับมาเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกัน แทนที่จะวางตัวเองให้กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการขยายตัว มันไม่มีพื้นฐานทางการทหารหรือทางเศรษฐกิจใดๆ สำหรับรองรับการขยายตัวของนาโต้อีกต่อไปแล้ว แล้วมันยังนำมาซึ่งอันตรายของการเกิดสงครามใหญ่ ซึ่งสำหรับยุโรปมันจะเป็นสงครามที่ทำให้อยู่รอดต่อไปไม่ได้

โรแบร์โต วิวัลเดลลี (เกิดปี 1989) เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2014 โดยร่วมงานอยู่กับเว็บไซต์ IlGiornale.it, Gli Occhi della Guerra, และหนังสือพิมพ์รายวัน L’Adige ข้อเขียนของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์ทางเว็บไซต์ระดับนานาชาติ อย่างเช่น LobeLog

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับข้อเขียนนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ครั้งแรกใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน


ที่มา : MgrOnline