ประชุมโลกร้อน COP29 ชาติตะวันตกร่ำรวยตกลง “ดีล 1.3 ล้านล้านดอลลาร์” ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสู้วิกฤตอากาศสุดขั้ว ส่วน “ไนจีเรีย” ชี้ “จีน-อินเดีย” ไม่ใช่ชาติยากจน

เผยแพร่ : 24 พ.ย. 2567 22:49:15
X
• ชาติตะวันตกพัฒนาแล้วบรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
• ข้อตกลงมุ่งช่วยชาติกำลังพัฒนาเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
• แม้มีข้อตกลง แต่ยังคงมีการแบ่งฝักฝ่าย

เอเจนซีส์/เอพี/รอยเตอร์ - ยังคงมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายหลังการเจรจามาราธอนที่ยาวนานสิ้นสุดในเช้ามืดวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ในที่ประชุมซัมมิต COP29 ชาติตะวันตกพัฒนาแล้วบรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยโลกกำลังพัฒนาให้เปลี่ยนมาเป็นชาติเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ  ขณะที่ไนจีเรียตั้งคำถามกลางวงว่า “จีน” และ “อินเดีย” รวยเกินไปไม่ควรอยู่ในบัญชีเดียวกับประเทศยากจนแถบแอฟริกา

เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ว่า ดีลข้อตกลงทางการเงินสำหรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกสามารถบรรลุได้สำเร็จในช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์ (24) หลังการเจรจาอย่างมาราธอนยาวนานได้สิ้นสุดลงแต่ถูกบรรดานักรณรงค์เรียกว่า “ผู้ทรยศ”

ภายใต้เป้าหมายโลกกำลังพัฒนาจะได้ไปไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อช่วยประเทศเหล่านั้นให้เปลี่ยนไปสู่ชาติเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และรับมือต่อผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรงในระยะเวลามาจนถึงปี 2035

แต่ทว่าในความเป็นจริงจะมีเม็ดเงินเพียงแค่ 300 พันล้านดอลลาร์ของจำนวนทั้งหมดที่จะมีอยู่ในรูปที่ชาติกำลังพัฒนาเหล่านั้นต้องการสูงสุดทั้งเงินช่วยเหลือและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากโลกตะวันตกที่พัฒนาแล่ว

ส่วนที่เหลือคาดว่าเงินจะมาจากนักลงทุนเอกชนและแหล่งการเงินใหม่ เป็นต้นว่า การขึ้นภาษีเชื้อเพลิงและผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยที่ในเบื้องต้นยังไม่มีการตกลงในประเด็นนี้ออกมา

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ขณะเดียวกันประเทศเจ้าภาพอาเซอร์ไบจานโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากที่บากูส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 90% ของการส่งออกของตัวเองและอีกทั้งผลประโยชน์เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเห็นอย่างเด่นชัดในการเจรจา

ประเทศยากจนมากที่สุดและประเทศเปราะบางส่วนใหญ่ต่อสู้อย่างหนักระหว่างการเจรจาโลกร้อนนาน 2 สัปดาห์ที่การประชุม COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน เพื่อที่จะได้ก้อนเงินที่ใหญ่ขึ้นออกมาโดยตรงจากประเทศโลกตะวันตก

ประเทศเหล่านี้ยังต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเข้าสู่ประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการสูงสุด แทนที่จะต้องแบ่งให้ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่น "อินเดีย" ที่สามารถส่งยานอวกาศลงขั้วใต้ดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรกของโลก

เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีหลายประเทศไม่พอใจที่ชาติเอเชียเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกยังคงอยู่ร่วมในบัญชีประเทศกำลังพัฒนาร่วมชั้นกับหลายชาติจากทวีปแอฟริกาในการประชุม COP29 นี้

จีนถือเป็นชาติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดและยังมีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองแค่ สหรัฐฯ มีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง

จีนและอินเดียซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกเดินทางเข้าร่วมการประชุมโลกร้อน COP29 ในฐานะชาติกำลังพัฒนาและไม่มีภาระหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาติยากจนทั้งหลาย

เป็นที่น่าสนใจว่าอินเดียยังคงได้รับการช่วยเหลือทางการเงินด้านโลกร้อนในบางมาตรการ

กลุ่มตัวแทนจากประเทศยากจนเปิดเผยว่า บัญชีที่จัดย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1992 นั้นเก่าแก่ล้าสมัยไปแล้วและทั้งจีนและอินเดียสมควรเป็นผู้ให้

บาลาราเบ อับบาส ลาวาล (Balarabe Abbas Lawal) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า 

“จีนและอินเดียไม่สามารถถูกจัดในบัญชีเดียวกับไนจีเรียและชาติแอฟริกันอื่นๆ เพราะคิดว่าประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาแต่อยูในเฟสที่เร็วกว่าชาติอื่นๆ เช่น ไนจีเรีย ”

และเสริมว่า “พวกเขาควรมีพันธสัญญาให้การช่วยเหลือพวกเรา พวกเขาสมควรมาและแบ่งปัน (การเงินเพื่อสภาพอากาศสำหรับชาติยากจน)”

เดอะการ์เดียนรายงานวันอาทิตย์ (24) ว่า ประเทศพัฒนาทั้งหลายต่างยืนยันว่า ชาติตะวันตกเหล่านั้นไม่สามารถจ่ายให้ได้มากกว่านี้แล้ว โดยชี้ไปถึงปัญหางบประมาณที่ตรึงเครียดของตัวเอง

“พวกเราจะตกอยู่ในความเสี่ยงหากสหรัฐฯ ไม่ยอมช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสภาพอากาศในอนาคต” หนึ่งในผู้ร่วมการเจรจา COP29 แสดงความเห็น

เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การประชุมซัมมิตต้องยุติตั้งแต่ค่ำวันศุกร์ (22) แต่การเจรจากลับยืดเยื้อมาจนถึงต้นวันอาทิตย์ (24) ในที่สุด

ที่มา : MgrOnline
น่าสนใจ
อ่านเพิ่มเติม