รวยเละ! งานศิลปะ "กล้วยแปะข้างฝา" ชิ้นใหม่โกยเงิน เคาะขายในราคา 216 ล้านบาท

เผยแพร่ : 22 พ.ย. 2567 08:57:15
X
• สร้างความฮือฮาและถกเถียงอย่างกว้างขวาง ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของศิลปะร่วมสมัย
• จุดประเด็นคำถาม เกี่ยวกับความเข้าใจและการนิยามศิลปะ และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน ผู้ซื้อ และผู้ชม
• สะท้อนปรากฏการณ์ ที่ราคาของผลงานศิลปะอาจขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปิน แนวคิด และกระแสสังคมมากกว่าคุณค่าทางวัตถุโดยตรง

ครั้งที่ผลงานกล้วยแปะเทปกาวปิดข้างฝา ถูกประมูลไปในราคา 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.1 ล้านบาท) ในปี 2019 โลกสื่อสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยความโกลาหล เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของศิลปะ

อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ก่อเป็นประเด็นไวรัลของศิลปิน มัวริซิโอ คัตเตแลน ที่มีชื่อว่า "Comedian" ผ่านการพิสูจน์อีกรอบว่ามันเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับนักสะสมรายหนึ่งๆ เมื่อ 1 ใน 3 ของงานศิลปะชิ้นนี้ทำลายทุกการคาดการณ์จนหมดสิ้น โดยเคาะขายที่ราคา 6.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 216 ล้านบาท) ณ การประมูลของห้างประมูล Sotheby’s ในนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา

เดิมทีห้างประมูลแห่งนี้คาดหมายว่าผลงานศิลปะชิ้นนี้น่าจะประมูลได้ในราคาราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาเริ่มต้นที่ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ระหว่างการประมูลขาย โอลิเวอร์ บาเคอร์ ผู้ดำเนินการประมูลให้คำจำกัดความงานศิลปะนี้ว่า "มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว" และ "ยุ่งเหยิง" พร้อมกับพูดติกตลกว่าการนำเสนอขายกล้วย ณ การประมูล "เป็นถ้อยคำที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้พูด"

ไม่นานหลังจากเคาะขาย ทางห้าง Sotheby’s ออกมาเปิดเผยว่า จัสติน ซุน นักสะสมชาวจีนและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซีหนึ่ง เป็นคนประมูลซื้องานศิลปะดังกล่าว

"นี่ไม่ใช่แค่งานศิลปะ" ซุนกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ "มันเป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมต่อโลกศิลปะ มุกขำขันล้อเลียนที่สะท้อนถึงความคิดและมุมมองทางวัฒนธรรม รวมถึงชุมชมคริปโตเคอร์เรนซีเข้าด้วยกัน ผมเชื่อว่างานชิ้นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการคิดและพูดคุยเพิ่มเติมในอนาคต และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์"

ในฐานะผู้ชนะการประมูล เขาจะได้รับเทปกาวหนึ่งม้วนและกล้วย 1 ใบ เช่นเดียวกับใบรับรองว่าเป็นของแท้ และรายละเอียดคำแนะนำอย่างเป็นทางการสำหรับการติดตั้งงานศิลปะชิ้นนี้ ก่อนหน้าการประมูลขาย ทาง Sotheby’s ยืนยันกับซีเอ็นว่า ไม่ว่าเทปกาวจะเป็นของดั้งเดิมหรือไม่ แต่กล้วยจะเป็นผลต้นฉบับดั้งเดิมอย่างแน่นอน

คัตเตแลน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะฝรั่งเศส "Perrotin" เคยตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อ 5 ปีก่อน หลังพวกเขาจัดแสดงผลงานศิลปะ Comedian พร้อมตั้งราคาประมูลไว้ที่เลข 6 หลัก ณ นิทรรศการศิลปะบาเซิล ไมอามี บีช โดยของดั้งเดิมถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากกล้วยใบหนึ่งที่ซื้อจากร้านขายของชำแห่งหนึ่งในไมอามี ในขณะที่ทางพิธิภัณฑ์บอกว่ากล้วยผลดังกล่าวสามารถหากล้วยผลอื่นมาแทนที่ได้ ตามคำแนะนำของศิลปิน

โลกศิลปะมองผลงานชิ้นดังกล่าวแตกต่างกันออกไป กระตุ้นประเด็นโต้เถียงเกี่ยวกับความหมายของศิลปะและมูลค่าของตัวงานศิลปะเอง อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น ฝูงชนได้ไหลบ่าต่อแถวยาวเหยียดที่นิทรรศการ เพื่อชมผลงานด้วยตาตนเอง

ต่อมา ภายในกิจกรรมดังกล่าวได้เกิดเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อ เดวิด ดาทูนา ศิลปินจากจอร์เจีย จู่ๆ ก็เดินไปลอกกล้วยออกจากผนัง จากนั้นก็ปลอกเปลือกรับประทาน ต่อหน้าผู้เข้าชมงานศิลปะหลายร้อยคนที่ตกอยู่ในอาการตกตะลึง ทั้งนี้ในเวลาต่อมา เขาปกป้องการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการแสดงศิลปะในสิทธิของตนเอง ไม่ใช่การทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด

ท้ายที่สุดแล้วนิทรรศการไมอามี ก็ได้ปลดผลงานศิลปะนี้ออกไปท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ แต่ผลงานนี้ขายได้ 3 ชิ้น ภายในนิทรรศการดังกล่าว โดย 2 ในนั้นตกไปอยู่ในมือของนักสะสม 2 คน ในราคา 120,000 ดอลลาร์ ขณะที่ชิ้นที่ 3 ถูกซื้อไปในราคาที่สูงกว่านั้น แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลข ก่อนต่อมามันถูกบริจาคให้พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผลงาน "Comedian" กลับมาให้เปิดประมูลอีกรอบ นับตั้งแต่งานศิลปะชิ้นนี้ถูกรับประทานเช่นกัน ระหว่างจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะลีอุม ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยหนนั้นนักศึกษาศิลปะรายหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ดึงกล้วยออกจากผนังแล้วรับประกัน ก่อนเอาเทปกาวเปล่าๆ แปะกลับไปที่ผนังตามเดิม

"นักศึกษาบอกกับพิพิธภัณฑ์ว่าเขากินกล้วยเข้าไปเพราะเขาหิว" โฆษกของพิพิธภัณฑ์บอกกับซีเอ็นเอ็นหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2023 จากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ได้นำกล้วยผลอื่นมาทดแทน

ซุน กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ของห้างประมูลในวันพุธ (20 พ.ย.) ว่าเขาก็มีแผนกินกล้วยในงานศิลปะเช่นกัน "ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมจะกินกล้วยด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์นี้ วางมันอยู่ในสถานะอันทรงเกียรติทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ทางศิลปะและวัฒนธรรมสมัยนิยม"

ก่อนหน้าการประมูลขายในห้าง Sotheby’s ผลงานศิลปะชิ้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ฮ่องกง ดูไบ ไทเป โตเกียวและลองแองเจลิส

(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)

ที่มา : MgrOnline