สกสว.เพิ่มความสุข-คุณค่าวัยเกษียณ โชว์ “มีดี” โซลูชัน Lifelong Learning ชูใจสูงวัย ฝึกทักษะ-สร้างรายได้ไม่แคร์อายุ

เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 09:20:18
X
• มุ่งเน้นสร้างรายได้และลดการพึ่งพิง
• ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทย
โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ”
แก่ไปไม่ไร้คุณค่า!! ปัจจุบันการศึกษาหา “ความรู้” ไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ยังมีองค์ความรู้อีกมากมายที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศ จากแนวคิดนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้จัดตั้ง “วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต” ขึ้น เพื่อให้คนทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มประชากรผู้สูงอายุได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ การฝึกทักษะอาชีพ การสร้างรายได้และสุขภาวะที่ดี ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ภายใต้ชื่อโครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ” เพื่ออัพสกิลกลุ่มคนวัยเกษียณให้สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง และลดภาวะพึ่งพิงในอนาคต ที่สำคัญยังตอบโจทย์สังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.

๐ บอกเล่า เกษียณ “มีดี”

เมื่อพูดถึงกลุ่มคนวัยเกษียณ คนส่วนใหญ่นึกถึงข้าราชการ แต่ในความหมายของวัยเกษียณจริงๆ แล้ว รวมถึงประชากรสูงวัยทั้งหมดที่มีดีอยู่ในตัว มีประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต และมีศักยภาพสูง แต่ถ้าไม่ดึงสิ่งดีๆ เหล่านี้ออกมาใช้เพื่อเลี้ยงดูตนเองอาจจะก่อให้เกิดปัญหาภาวะพึ่งพิง และหากทุกคนไม่เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ อาจกลายเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม จนนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มากของประเทศไทยในอนาคต
โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ”
รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยว่า ปี 2567 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ขณะที่ประชากรเกิดใหม่ลดน้อยลง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องรับภาระคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถสร้างรายได้ หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศได้มากนัก ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงที ในอนาคตอาจเกิดวิกฤตร้ายแรง คล้ายกับสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ กับปัญหา “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างหนัก หลังข้อมูลพบว่ามีประชากรผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึงกว่า 36 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และถึงแม้ว่าในบางกรณี ผู้สูงอายุอาจจะช่วยตัวเองได้ แต่สิ่งสำคัญคือควรพัฒนาทักษะและโอกาสให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้ ลดภาวะพึ่งพิง และมีสุขภาวะ หรือ Well-being ที่ดีในภาพรวม

โครงการ “มีดี” (Multi-generation Entrepreneur Development Educational Ecosystem- MEDEE) เป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มโดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งแก้ปัญหาการขาดการเรียนรู้ในประชากรผู้สูงวัยเป็นนวัตกรรมเชิงกระบวนการที่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในชุมชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างรายได้และอาชีพให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “นวัตกรรมมีดี” มีความแตกต่างในการแก้ปัญหาการขาดการเรียนรู้ในผู้สูงอายุ ซึ่งไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบ e-learning หรือ MOOC โครงการจึงพัฒนาเป็นระบบแอปพลิเคชัน LINE ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยและเข้าถึงบทเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถทำแบบทดสอบ ออกประกาศนียบัตรได้ โรงเรียนผู้สูงอายุสามารถนำบทเรียนออนไลน์ไปใช้สอนในห้องเรียนได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแค่เพิ่มเป็นเพื่อนใน LINE Application บัญชี @medeecmu จะสามารถเข้าเรียนรู้และร่วมกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ ได้ทันที

“นวัตกรรมโครงการ “มีดี” มุ่งส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย โดยเริ่มจากการให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างอาชีพ การรวมกลุ่มเพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์ การขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน นำไปสู่การสร้างรายได้และการยกระดับความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดพฤฒพลังหรือ Active Ageing ของผู้สูงวัยไทยในชุมชน ทั้งยังมีหลักสูตรที่เสริมทางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในโลกดิจิทัล”
รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๐ มีดี Train-the-Trainer เพราะผู้สูงวัยยังคงต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้ทันโลกอยู่เสมอ 

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี กล่าวว่า นวัตกรรมมีดีนอกจากจะอัพสกิลให้กับกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้วยหลักสูตรออนไลน์กว่า 30 หลักสูตร ผ่านการฝึกอบรมตามโรงเรียนผู้สูงอายุในจังหวัดต่าง ๆ มีหลักสูตร Train-the-Trainer สร้างครูพี่เลี้ยงในชุมชน มี Webinars และสื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้สูงวัยบนสื่อโซเชียล อาทิ YouTube และ TikTok มีการสร้างคู่มือหรือสื่อการสอนสำหรับครู โดยมีหลักสูตร ADVOCATE (Advancement of Community Agents, Trainers, and Executives) ที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเอา นวัตกรรม “มีดี” ไปใช้ในชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ ที่สำคัญ นวัตกรรมนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้กับผู้สูงวัยเพื่อนำไปต่อยอดหรือยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชน/วิสาหกิจชุมชนให้สามารถขายออนไลน์ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมดีขึ้นตามไปด้วย

ความสำเร็จของนวัตกรรมการศึกษา “มีดี” เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้น “MEDEE Trainer” หรือ ครูพี่เลี้ยงในแต่ละชุมชนหรือในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 1,150 คนทั่วประเทศ ที่เข้ามาเป็น “กลไก” สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้สูงวัย ผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 70 หน่วยงาน มี Webinars และ Online Workshops กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ “คนไทยมีดี” มีชุมชนออนไลน์กลุ่มเฟซบุ๊ก “ชุมชนคนมีดี” มีพื้นที่ทดลองขายออนไลน์ “ตลาดคนมีดี” และส่วนหนึ่งของความโดดเด่นของนวัตกรรมการศึกษามีดี คือแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเอง เพื่อให้เกิดระบบการส่งเสริมผู้สูงวัย โดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน ซึ่งอาศัยกำลังคนจำนวนมากในการสร้างการเข้าถึงและเรียนรู้ด้วยระบบเครือข่ายชุมชนของผู้สูงวัยแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้มีหลายด้าน โดยเฉพาะการทำให้ผู้สูงวัยเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เพราะใช้รูปแบบการนำเสนอที่เข้าถึงง่าย เพลิดเพลิน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลยในชีวิตจริง และความได้เปรียบของการเป็น Social Messenger ของ LINE ที่ผู้เรียนสามารถส่งข้อความผ่านแชทเพื่อถามข้อสงสัยหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในโครงการได้ตลอดเวลา ผู้สูงวัยสามารถแชร์ลิงก์การเรียนรู้เข้าในกลุ่มไลน์ของตน แชร์ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับ รวมทั้งข้อมูลที่สนใจได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว
โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ”
๐ “มีดี” ดัชนีชี้วัดความสุขผู้สูงอายุไทย


นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีความสุขเพิ่มขึ้น (ดัชนีความสุข 4.05 จาก 5.00) ทั้งจากรายได้ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และการได้เข้าสังคม การได้องค์ความรู้ใหม่และทักษะยุคดิจิทัล การสร้างรายได้ มีแรงบันดาลใจในการสร้างอาชีพ และการเป็นสมาชิกกลุ่มตลาดออนไลน์ เป็นต้น พร้อมทั้งเกิดพื้นที่ความร่วมมือระหว่างคนต่างวัยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน รวมทั้งมีการประเมินระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมแบบต่างๆ และที่สำคัญ ทำให้เกิดเครือข่าย “MEDEE Trainers” ที่เข้มแข็งครอบคลุม 77 จังหวัดในประเทศไทย ที่ร่วมขับเคลื่อนให้ “มีดี” เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนชีวิตของผู้สูงวัยในสังคมได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเกิดระบบการสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและพฤฒพลังสำหรับผู้สูงวัยไทย เกิดโอกาสการทำงานในเศรษฐกิจใหม่ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการเป็นภาระในการดูแลของครอบครัวหรือของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน จนในปี 2567 ได้รับรางวัล Grand Prize ในการประกวด Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) 2024 ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติที่มอบให้กับองค์กรในเอเชียที่มีนวัตกรรมและโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

นวัตกรรมมีดี ได้สร้างความแตกต่างและผลลัพธ์ในวงกว้าง โดยภายใน 3 ปี มีผู้สูงวัยเข้าร่วม 21,566 คน จาก 77 จังหวัดทั่วไทย มีความร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย มีการนำ MEDEE ไปใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,456 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุกว่า 175,000 คน เข้าถึงการเรียนรู้ และให้การตอบสนองที่คุ้มค่าและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง โดยพบว่ามีค่า Social Return on Investment (SROI) สูงถึง 11.88 เท่า ผู้สูงวัยมีความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และโรงเรียนผู้สูงอายุสามารถประหยัดงบประมาณการดำเนินงานลงได้ 12,500 บาท ต่อโรงเรียนต่อเดือน
โครงการ “มีดี พลังเกษียณสร้างชาติ”

ที่มา : MgrOnline