คอศิลป์พลาดไม่ได้! 3 ศิลปินเหรียญทองบัวหลวงขนผลงานกว่า 100 ชิ้นจัดเต็ม “นิทรรศการ 3 อัตลักษณ์” 23 พ.ย.นี้
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 09:25:36
• นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะคุณภาพสูงกว่า 100 ชิ้น
• จัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดนครราชสีมา
• คุณหญิงชดช้อย เป็นประธานเปิดงานวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คอศิลป์พลาดไม่ได้เด็ดขาด! 3 ศิลปินเจ้าของเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง นำโดย "ทองไมย์ เทพราม" จิตรกรดาวรุ่ง รวบรวมผลงานศิลปกรรมชิ้นโบแดงกว่า 100 ชิ้น จัดเต็มแสดง “นิทรรศการ 3 อัตลักษณ์” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ “คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช” เป็นประธานเปิดงาน 23 พ.ย.นี้ จัดแสดง 23 พ.ย. 67-7 ม.ค. 68
วันนี้ (21 พ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เชิญชมนิทรรศการ 3 อัตลักษณ์ (THE 3th IDENTITY OF ART) โดย 3 ศิลปินเจ้าของเหรียญทองจากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ได้รวบรวมผลงานกว่า 100 ชิ้นมาจัดแสดง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมี คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น.
ทั้งนี้ นิทรรศการ 3 อัตลักษณ์เป็นนิทรรศการการแสดงผลงานศิลปกรรมของ 3 ศิลปินที่มีความแตกต่างทางความคิด มุมมอง และรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงาน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างสรรค์ต่อยอดจากผลงานที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ซึ่งเป็นเวทีระดับชาติที่จัดมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี
โดย 1. "ผศ.ทองไมย์ เทพราม" เคยได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 44 ในปี 2566 จากประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย
2. “บุญทวี ทับทิมไทย” เคยได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 43 ในปี 2565 จากประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี
และ 3. “อภิสิทธิ์ เอ้งฉ้วน” เคยได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 41 ปี 2562 และครั้งที่ 43 ปี 2565 จากประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
นอกจากนี้ มูลนิธิบัวหลวงยังได้ให้โอกาสในการทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ศิลปินทั้งสามเกิดมิติมุมมองทางความคิด และการพัฒนาผลงานตนเอง จนเกิดการรวมตัวกันเพื่อจัดนิทรรศการ 3 อัตลักษณ์ในครั้งนี้
ผู้สนใจและผู้ชื่นชอบผลงานศิลปะรวมทั้งนักสะสมผลงานศิลปินในดวงใจพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด สามารถเข้าชมนิทรรศการ 3 อัตลักษณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567-7 มกราคม 2568 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 10.00-19.00 น. (ปิดทุกวันพุธ)
ผศ.ทองไมย์ เทพราม จิตรกรดาวรุ่งเจ้าของรางวัลจากเวทีการประกวดศิลปกรรมระดับชาติและนานาชาติหลายรางวัล เปิดเผยว่า ผลงานของตนที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ 3 อัตลักษณ์ครั้งนี้ เป็นประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย ชื่อ “สภาวะของความตื่นกลัวและขาดสติ” (State of Fear and Absent-mindedness)
โดยมีแนวคิด คือ สังคมปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนที่สื่อออนไลน์ต่างๆ เข้าถึงผู้คนได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย หากผู้คนขาดสติในการครองตน ไม่ใช้ปัญญาในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน จะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อหรือแม้กระทั่งการหลอกลวง ต้มตุ๋น ฉ้อโกง จนเกิดความเสียหายเพียงเพราะการขาดสติยั้งคิด หลงเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ผลงานชุดนี้เป็นผลงานที่ต้องการเตือนสติให้คนในสังคมใช้สติและปัญญาพิจารณาข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์โดยใช้รูปกรงของเด็กและสัตว์กำลังตื่นกลัวและวิ่งหนีสิ่งที่มองไม่เห็น ใบหน้าของเด็กที่ถูกปิดตาหรือหลับตาอยู่ สื่อถึงบุคคลที่ขาดสติและปัญญาไม่สามารถมองเห็นข้อเท็จจริงจนเกิดผลเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตนใช้สีอะคริลิกสดใสและสีสะท้อนแสงคล้ายแสงจากสื่อโฆษณาสร้างรูปทรงและใช้ดินสอสร้างน้ำหนักเพื่อกำหนดทิศทางของแสงและเงาและองค์ประกอบภาพ และใช้ทิศทางการมองของดวงตาสร้างเส้นเชิงนัยที่มองไม่เห็นเพื่ออุปมาอุปไมย และเตือนสติให้คนในสังคมระวังภัยจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เราอาจมองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน
สำหรับผลงานรางวัลและเกียรติประวัติสำคัญๆ ของ ผศ.ทองไมย์ เทพราม เช่น ปี 2563 คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดจิตรกรรม ยูโอบี ครั้งที่ 11, รางวัลรองชนะเลิศ การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10, รางวัลยอดเยี่ยม การประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36
ปี 2565 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดจิตรกรรมเอเชียพลัส ครั้งที่ 10, รางวัลเชิดชูเกียรติ ศิลปินรุ่นเยาว์อนุภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 5, รางวัลเหรียญทองแดง การประกวดจิตรกรรม ยูโอบี ครั้งที่ 13
ปี 2566 ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 และคว้า รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 44
ขณะที่ “บุญทวี ทับทิมไทย” จิตรกรดาวรุ่งอีกคน เจ้าของรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 43 ปี 2565 ได้นำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็น “จิตรกรรมไทยแนวประเพณี” ชื่อชุด “บันทึก 2024” (Memorable 2024) ตามแนวความคิดผลงาน ใช้รูปกรง สัญลักษณ์ของคน สัตว์ ดอกไม้ ที่มีความหมาย นัย ตามคติ ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
จึงนำเอาสัญลักษณ์เหล่านี้ตีความหมายใหม่เชื่อมโยงกับบริบท วิถีทางสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งคอยขับเคลื่อน กระตุ้นเร้า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ฉะนั้นจึงมีความเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายควรตระหนักรับรู้ด้วย มโนสำนึกแห่งสติ สมาธิ ปัญญา เพียบพร้อมด้วย "ความดีงาม" ชีวิตก็จะพบเจอแต่ "ความสุข" ที่แท้จริงตลอดไป
ทางด้าน “อภิสิทธิ์ เอ้งฉ้วน” ผู้คว้ารางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 41 ปี 2562 และครั้งที่ 43 ปี 2565 นำผลงาน “จิตรกรรมไทยแบบประเพณี” เข้าร่วมแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ตามแนวความคิด จิตรกรรมแบบไทยประเพณีเป็นงานวิจิตรศิลป์ ที่มีความสวยงาม ละเอียดอ่อนช้อย เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ที่แสดงถึงคุณค่าทางด้านศิลปะที่เกื้อกูลกับพระพุทธศาสนาซึ่งสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า รูปแบบทางสุนทรียศาสตร์เช่นนี้คือศิลปะประจำชาติ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาผ่านผลงานจิตรกรรมไทยประเพณี โดยใช้การประสาน กลมกลืนกันของบรรยากาศของสี รูปทรง ลวดลายอันประณีต เพื่อถ่ายทอดถึงความรู้สึกศรัทธา ความอลังการแห่งพุทธบารมี พุทธปัญญา อิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติ อีกทั้งยังมุ่งหมายให้ผู้ชมได้รับถึงข้อธรรมอันเป็นหลักแห่งความสุขสงบ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
ที่มา : MgrOnline