COMMART ใกล้เบญจเพส! จัดต่อครั้งที่ 66 ไม่หวั่นคนไทยซื้อคอมพ์ง่ายแม้ไม่ได้ออกจากบ้าน
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 02:14:45
• คาดการณ์เงินสะพัดในงาน COMMART TECHXPRO (28 พ.ย. - 1 ธ.ค. 67) 3,400 ล้านบาท ที่ไบเทค บางนา
• บริษัทไม่ปฏิเสธผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว (พฤติกรรมผู้บริโภค) ต่องาน COMMART
"บุญเลิศ นราไท" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เออาร์ไอพี มั่นใจงานคอมมาร์ต (COMMART) ยังฮอต เผยเป้าหมายงานล่าสุด COMMART TECHXPRO วันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.67 เงินสะพัดทั่วไบเทค บางนา 3,400 ล้านบาท ไม่ปฏิเสธ COMMART รับผลกระทบจากพฤติกรรมนิยมชอปอีคอมเมิร์ซจนทำให้การซื้อคอมพิวเตอร์สะดวกง่ายดายแม้ไม่ได้ออกจากบ้าน ฟันธงงานแฟร์ไอทีไทยยังมีดีมานด์เหลือเฟือ
ตลอดการจัดงาน 65 ครั้งที่ผ่านมา เออาร์ไอพีพบว่าตลาดไอทีไทยมีการเปลี่ยนแปลงโดยยังไม่มีการแทนที่แบบชัดเจน โดยเฉพาะในฝั่งของฮาร์ดแวร์ที่คนไทยมีบทบาทเป็นผู้ใช้มากกว่าผู้สร้าง ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดมีพัฒนาการตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เครื่องใหญ่มาเป็นการใช้คอมพิวเตอร์วางตัก (Notebook) รวมถึงแท็บเล็ตและอุปกรณ์มือถือที่เคยมีกระแสว่าอาจมาแทนที่คอมพิวเตอร์พกพา จนมาถึงกระแสคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกม ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ PC เครื่องใหญ่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ และทำตลาดคู่กับคอมพิวเตอร์ Notebook ที่ยังมีความต้องการ นอกจากนี้ แบรนด์คอมพิวเตอร์ PC ทุกค่ายยังลงมือสร้างแบรนด์คอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมขึ้นมาโดยเฉพาะอีกด้วย
"ล่าสุด แม้แต่กระแส Bitcoin ก็ทำให้เกิดความต้องการคอมพิวเตอร์ PC ตั้งโต๊ะสเปกแรงในการขุดเหรียญคริปโตฯ ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการช่วงก่อนโควิด-19 แต่พอช่วงหลังการระบาด กระแสของการ Work From Home ก็ทำให้ตลาดอุปกรณ์ไอทีกลับมาอีกครั้ง จากที่ปกติแล้ว 1 บ้านมักจะมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เมื่อโควิดมาทำให้ 1 คนมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง กลายเป็นยุคบูมของตลาดฮาร์ดแวร์"
***หลังโควิด AI ชุบชีวิต PC
บุญเลิศวิเคราะห์ว่าหลังจากโควิด-19 กระแสไอทีที่มาแรงเป็นเรื่องหลักคือปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพราะจากข่าวและกระแสการใช้งาน AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหา ทำให้ปีนี้โลกได้เห็นกระแสการนำชิป AI เข้ามาใส่ในหน่วยประมวลผลกลาง หรือ CPU เพื่อใช้ในการประมวลผลที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ AI ในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงไม่พร้อมทำตลาด แม้จะเห็นโซลูชันด้านการสร้างสรรค์เนื้อหา แต่บุญเลิศมองว่าโซลูชัน AI ที่ "ช่วยทำงานจริงๆ" นั้นคาดว่าจะต้องรอ และจะได้เห็นมากขึ้นในปี 2568
ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไม่หยุด พฤติกรรมการซื้อของคนไทยนั้นสามารถพิจารณาการเปลี่ยนแปลงได้จาก 2 แกน แกนแรกคือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี ที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งต่างจากการซื้อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องในช่วง 20 ปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภคบางส่วนเลือกสเปกเอง แต่ในปัจจุบันมีการจัดชุดแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างชัดเจน ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ส่งให้พฤติกรรมการซื้อหรือพฤติกรรมในการใช้งานเปลี่ยนตามไปด้วย
"เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ามีกระแสเรื่อง e-commerce ไม่ต้องออกจากบ้านเราก็ซื้อคอมพิวเตอร์ได้ ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นกระแสที่กระทบกับงาน COMMART แต่ว่าในภาพรวมหลักแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นพฤติกรรมคนไอทีคือการไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์หลักรายเดียว ซึ่งข้อมูลที่ยืนยันในส่วนนี้ได้มาจากใบเสร็จที่รวบรวมจากผู้ซื้อในงานที่เข้าร่วมกิจกรรมแลกรางวัล"
จากใบเสร็จหลายหมื่นใบ ผู้จัด COMMART พบว่า 65% ของคนที่มาร่วมงานมีการซื้อของจากหลายล้าน บุญเลิศจึงมองว่าเสน่ห์ของ COMMART คือการที่ผู้ซื้อสามารถซื้อของจากหลายร้านได้พร้อมกันในครั้งเดียว และสามารถ "เดินงานแล้วได้ของกลับไปเลย"
***สินค้าไอทีเริ่มเชิดหัวขึ้น
บุญเลิศย้ำว่าอีกสิ่งที่สำคัญคือช่วงหลังโควิด-19 แม้ตลาดอุตสาหกรรมไอทีจะค่อนข้างอยู่ในภาวะขาลงเพราะการโหมซื้อเครื่องไปทำงานที่บ้าน แต่ COMMART เริ่มเห็นสัญญาณการผงกหัวขึ้นในสินค้าบางอย่าง ซึ่งจากตัวเลขที่เทียบกันระหว่าง COMMART 2 ครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีหลายกลุ่มสินค้าที่มียอดซื้อเพิ่มขึ้นชัดเจน
ข้อมูลจากทางคอมมาร์ตที่ได้มีการเก็บข้อมูลการซื้อของผู้บริโภคในงานครั้งคอมมาร์ต (รอบกลางปี) ครั้งที่ผ่านมา พบว่า สินค้าประเภทโน้ตบุ๊กมีจำนวนการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 83.83% เมื่อเทียบกับงานคอมมาร์ตรอบต้นปี 2567 หลังจากที่ PC ที่รองรับ AI มีสินค้าให้เลือกมากขึ้นนั่นเอง สินค้าในกลุ่มสุขภาพ อย่างเก้าอี้ Ergomonic มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 91.49% และ Smart Watch เพิ่มขึ้น 314.29% ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ซื้อสินค้าในงานคอมมาร์ตให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพด้วยสินค้า healthtech กันมากขึ้น ในภาพรวมยังพบอีกว่า ค่าเฉลี่ยการซื้อสินค้าไอทีอยู่ที่ 37,149 บาทต่อคน
"ข้อมูลเหล่านี้สรุปได้จากใบเสร็จหลายหมื่นใบ พบว่ายอดขาย Notebook ที่เพิ่มขึ้นเป็นอานิสงส์จาก AI ใน CPU สิ่งที่เห็นอีกอย่างหนึ่งคือมอนิเตอร์ คนเริ่มซื้อจอ monitor แยกเพราะมี Notebook แต่จอเล็กเกินไป ที่สำคัญคือคีย์บอร์ดโดยเฉพาะคีย์บอร์ดที่เป็นแมคคานิคนั้นมาแรงมาก เติบโตมากกว่า 160% นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมครั้งนี้เราจึงจัดการประกวดการออกแบบคีย์บอร์ด แมคคานิค"
นอกจากกระแสสุขภาพ บุญเลิศเชื่อว่า COMMART จะตอบโจทย์คนชอบโปรโมชันได้ดีกว่าการใช้โค้ดส่วนลดเมื่อซื้อออนไลน์ โดยมองว่าผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยส่วนลดนั้นเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย เช่น การออกโปรโมชัน 11.11 ที่อาจมีเพียง 10% เท่านั้นที่มีโอกาสใช้โค้ด นอกเหนือจากนั้นจะต้องซื้อด้วยราคาปกติ ดังนั้น แม้ว่าเทรนด์พฤติกรรมชาวไอทีจะเป็นการซื้อออนไลน์ แต่ถ้าหากมา COMMART เชื่อว่าหลายคนจะได้โปรโมชันที่หลายค่ายตั้งใจเตรียมไว้
***คนเพียบ เงินสะพัด
บริษัทวางเป้าว่า COMMART ครั้งนี้จะมีผู้เข้าชมงานสะสมมากกว่า 200,000ถึง 300,000 ราย ซึ่งเทียบเท่ากับการจัดงานในครั้งที่ผ่านๆมา เช่นเดียวกับเงินสะพัดที่ตั้งไว้ยืนพื้น 3,400 ล้านบาท เติบโตจาก 3,300 ล้านบาทที่ตั้งไว้ในครั้งที่แล้วเพราะแนวโน้มตลาดขยายตัวในช่วงวันหยุดปลายปี
"การจัดงานปีนี้ยังปักหลักที่ไบเทคฯ ไม่ได้กลับมาที่ศูนย์สิริกิติ์ เนื่องจากการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงโควิด ในช่วงโควิดเรากับไบเทคถือว่าเผชิญชะตากรรมมาร่วมกัน เราประคับประคองกันมา เราขอความช่วยเหลือในการลดค่าเช่าเพราะไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ที่มาแสดงสินค้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนกับว่าเราผ่านวิกฤตด้วยกันมา จากวันนั้นไบเทคไม่ได้ขึ้นค่าเช่าเรากลับไปที่เดิมในทันที แต่ทยอยขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นดีลที่ดี"
การคำนวณจำนวนสินค้าที่ถูกจัดแสดงในงาน COMMART ปลายปีนี้ถือว่าทำได้ยาก โดยผู้จัดเชื่อว่าสินค้ากลุ่ม Mainboard ที่เป็นเจเนอเรชันใหม่ จะต้องมีการใช้งานคู่กับชิปเซ็ตใหม่ ส่งให้องค์ประกอบอื่นเช่นหน่วยความจำของเครื่องล้วนต้องออกมาใหม่ ดังนั้น สินค้าที่เป็นตัวใหม่ในงานคอมมาร์ตปีนี้จึงมีจำนวนค่อนข้างมากโดยเฉพาะส่วนของจอมอนิเตอร์ ซึ่งมีกระแสความนิยมในจอ OLED ที่มีราคาลดลงในระดับ 20,000 ต้น
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน COMMART ปีนี้ ผู้จัดระบุว่าสัดส่วนใหญ่ที่สุดยังคงเป็นส่วนค้าปลีกซึ่งจะเป็นตัวสนับสนุนการจัดแสดงสินค้าของแบรนด์ในงาน โดยการโบกมือลาไปก่อนอย่าง "แอดไวซ์" (Advice) กระทบกับ COMMART ในระดับหนึ่งเท่านั้น และแบรนด์ต่างๆ ที่ยังอยู่กับ COMMART นั้น "Happy" เพราะเมื่อคู่แข่งรายใหญ่ออกไปแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ก็เพิ่มขึ้น
"หน้าที่ของ COMMART คือทำอย่างไรให้เติมเต็มพื้นที่ให้เต็ม เราจึงทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น เรามี 2 ส่วนที่กำลังพยายามทำและทำทุกครั้งที่มีงาน COMMART คือการทำงานร่วมกับพันธมิตร รอบนี้เป็นไทยเที่ยวไทย จากกระแสคีย์บอร์ดเราร่วมมือกับ Loga และ ปตท.ให้มีการประกวดออกแบบคีย์บอร์ดหรือคีย์แคปที่เกี่ยวกับเรื่องของการท่องเที่ยวและ soft power จะมีการนำ influencer มาพูดถึงการ Customize keyboard มีการร่วมมือกับสมาคม IOT สร้าง Smart Home ขึ้นมาซึ่ง Influencer ก็จะมา Customize Smart Home เช่นกัน"
ผู้จัด COMMART ย้ำว่าบ้านอัจฉริยะคือเซกเมนต์ที่กำลังให้ความสนใจ และเชื่อว่าจะทำให้ขยายตัวใหญ่ขึ้นในอนาคต เนื่องจากคนที่สนใจ Smart Home และคนที่สนใจเทคโนโลยีนั้นอาจเป็นในทางเดียวกัน คาดว่าจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนคนมาเดินงาน COMMART ได้
*** Advice ไม่อยู่
นอกจากการใช้ Smart Home เป็นธีมจัดแสดง เออาร์ไอพีจะเติมเต็มพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตรที่ Advice เคยเช่าด้วยการมอบให้ JIB และ Banana ที่ขอพื้นที่บางส่วนไปบ้างแล้ว ดังนั้น COMMART จึงเหลือพื้นที่ให้จัดการอยู่ไม่มาก
"เราพยายามที่จะให้รายเล็กๆ เข้ามาก่อน และพยายามที่จะทดลองลักษณะแบบนี้ คือเอากลุ่มสินค้าใหม่ๆ ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้เดินงาน COMMART จะเริ่มนำเข้ามา เชื่อว่า COMMART จะสามารถเป็นเวทีที่ทำให้กลุ่มผู้ค้าสินค้าใหม่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ผู้จัด COMMART มองว่าสภาพเศรษฐกิจมีผลต่อจำนวนผู้เข้าชมงานโดยตรง โดยช่วงปลายปี 2566 ถึงช่วงต้นปี 2567 จำนวนผู้ชมงาน COMMART ลดลงกว่า 20% แต่ COMMART ช่วงกลางปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้จึงตั้งเป้าว่าจำนวนผู้เข้าร่วมงานจะมีมากขึ้นโดยพยายามประชาสัมพันธ์มากขึ้น และมีแคมเปญที่จะทำการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ นั่นคือการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อมารับของที่หน้างาน
แรงดึงดูดนี้จะทำให้ COMMART ก้าวสู่ช่วงเบญจเพสได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ที่มา : MgrOnline