อ่านแนวคิด “สวีเดนโมเดล” ต้นแบบจัดการขยะ สู่โอกาสของไทยในการพลิกฟื้น e-Waste

เผยแพร่ : 19 พ.ย. 2567 14:04:48
X
• สวีเดนมีระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก
• หลักการสำคัญคือ "ไม่มีสิ่งใดเป็นของเสีย หากอยู่ในที่ที่เหมาะสม"
• ประสบความสำเร็จจากการบูรณาการนโยบาย กฎหมาย และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของเสีย หากสิ่งนั้นอยู่ในที่ที่เหมาะสม” นี่คือหลักการที่ “สวีเดน” หนึ่งในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก นำมาใช้อย่างจริงจังทั้งในระดับนโยบาย กฎหมาย ตลอดจนการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่แทบจะปราศจากขยะเลยทีเดียว

สวีเดน เป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในปี 1967 ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศสวีเดนมากกว่า 60% กำเนิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และสวีเดนมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศไร้เชื้อเพลิงฟอสซิล 100% (fossil-free) ภายในปี 2045 ภายใต้นโยบายและกฎระเบียบที่เคร่งครัดและครอบคลุมหลากหลายมิติ อาทิ กรอบการทำงานด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ ภาษีการฝังกลบขยะ และกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถรักษามาตรฐานระดับสูงในการบริหารจัดการขยะ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ดึง “ผู้ผลิต – ผู้นำเข้า – ผู้จำหน่าย” ร่วมรับผิดชอบ ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

หนึ่งในแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสวีเดนที่ใช้มาแล้วกว่า 20 ปี คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ (Extended Producer Responsibility – EPR) อันนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ล้วนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมไปถึงการเก็บกลับ รีไซเคิล และการกำจัด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังผลักดันให้องค์กรต่างๆ คิดค้นนวัตกรรมและออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยความตระหนักถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และความยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

“ป้องกันการเกิดของเสีย” ด่านแรกที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืน

สวีเดนมีลำดับขั้นในการจัดการขยะ โดยมุ่งเน้นทั้ง การลดการเกิดของเสีย และเพิ่มการใช้วัสดุซ้ำและรีไซเคิล ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การป้องกัน (Prevention) ด้วยการลดปริมาณการเกิดของเสีย ซึ่งอาจทำได้ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่ใช้งานได้นาน รวมถึงส่งเสริมกระบวนการผลิตและรูปแบบการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ลำดับต่อมาคือ การใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมและปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งาน จากนั้นจะเข้าสู่ลำดับของ การรีไซเคิลวัสดุ (Material Recycling) โดยนำวัสดุหรือวัตถุดิบจากของเสีย กลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ แต่หากของเสียนั้นนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำไป สกัดเป็นพลังงานจากขยะ (Energy Recovery) เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบ และเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานหมุนเวียน และสุดท้ายคือ การฝังกลบ (Landfill) ซึ่งต้องพิจารณาให้เหลือน้อยที่สุด

ในปี 2023 ที่ผ่านมา สวีเดนมีของเสียและขยะชิ้นใหญ่ราว 1.6 ล้านตัน แต่ด้วยความสามารถและความเคร่งครัดในการจัดการขยะ ทำให้สามารถนำวัสดุจากขยะไปรีไซเคิลได้ถึง 40% ส่วนอีก 56% นำไปสกัดเป็นพลังงานหมุนเวียน เหลือเป็นขยะฝังกลบเพียง 4% เท่านั้น

“ความร่วมมือ – กฎระเบียบ” ฟันเฟืองสำคัญสู่ความสำเร็จจัดการขยะ e-Waste

เอกอัครราชทูตอันนา ฮัมมาร์เกรน แบ่งปันมุมมองในการปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเทศไทย อย่างน่าสนใจว่า “การใช้นโยบายที่คล้ายกัน อย่าง EPR (Extended Producer Responsibility) จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยการใช้กฎระเบียบที่ให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบดูแลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบที่มีโครงสร้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการขยะ e-Waste การสร้างระบบการเก็บกลับและโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลที่ดีขึ้นจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า วัสดุที่มีคุณค่าจะได้รับการกู้คืน และสารที่เป็นอันตรายจะถูกกำจัดอย่างปลอดภัย”

การเข้าถึงชุมชนและรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม สามารถสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี และคุณค่าของการรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนได้

“หนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้สวีเดนเป็นผู้นำระดับโลกด้านแนวทางปฏิบัติเรื่องขยะอย่างยั่งยืน คือ ความพยายามและความร่วมมือของภาคครัวเรือนชาวสวีเดนในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เช่น ขยะอาหาร บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ ซึ่งเมื่อถอดรหัสแรงบันดาลใจของสวีเดนแล้ว กล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีโอกาสอันล้ำค่าในการเสริมสร้างแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สภาพแวดล้อมเข้มแข็งมากขึ้น และอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน”

นิวเจน พลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าการจัดการขยะ e-waste

มองผ่านเลนส์ เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ในด้านบทบาทของคนรุ่นใหม่ต่อการพัฒนาแนวทางการจัดการขยะรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยยกตัวอย่าง ชาวสวีเดนที่มีความกระตือรือร้นในการแยกและรีไซเคิลวัสดุ ด้วยความเข้าใจในประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข แนวความคิดนี้ สามารถปลูกฝังให้เยาวชนไทย ผ่านการบูรณาการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกับหลักสูตรการเรียน มุ่งเน้นการรีไซเคิล e-Waste และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในประเทศไทย ยังสามารถออกแบบโมเดลธุรกิจที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างรับผิดชอบ และสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการขยะ ด้วยการร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่นและบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

“ทรู คอร์ปอเรชั่น” เทคคอมปานีไทย ที่จริงจังกับการจัดการขยะ e-Waste

ทรู ตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบครบวงจร และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งแบรนด์ทรูและดีแทคต่างเป็นช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ โครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ จึงเกิดขึ้นและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมลดปริมาณขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ โดยไม่เพียงเป็นช่องทางรับทิ้งขยะและจัดการขนส่งไปสู่ระบบการรีไซเคิลที่ถูกวิธีอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาร่วมคิดค้นและลงมือทำ กับโครงการ “e-Waste HACK BKK 2024” ที่ได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ดึงความเป็นนวัตกร พลิกฟื้นขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง พร้อมปลุกความตื่นตัวและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จุดพลังความเป็นนวัตกรที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและคุณค่าต่อสังคม

“กิจกรรมต่างๆ อย่าง e-Waste HACK BKK 2024 เป็นเวทีที่ยอดเยี่ยมสำหรับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางเทคนิคในการพัฒนาโซลูชันที่สามารถนำไปทำจริงได้ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการศึกษา ความร่วมมือ และนวัตกรรม สวีเดนสามารถร่วมมือกับประเทศไทย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เอกอัครราชทูตอันนา ฮัมมาร์เกรน กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : MgrOnline