กยท.ทุ่มงบ 800 ล้าน ดันโครงการชะลอยาง เผย 2-3 ปีนี้พื้นที่ปลูกยางลดลงกว่า 2 ล้านไร่
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 16:50:45
• กยท. จัดงบ 800 ล้านบาท ดันโครงการชะลอยางพารา
• พื้นที่ปลูกยางพาราลดลง 2 ล้านไร่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกปาล์มและทุเรียน
• เกษตรกรยางพาราประสบปัญหาหลายด้าน ทำให้ท้อแท้ถอนตัวออกจากการทำสวนยาง
ตรัง - กยท.ทุ่มงบ 800 ล้าน ดันโครงการชะลอยาง หลังพบราคาดิ่งลงกว่า 20 บาท/กก. เหลือประมาณ กก.ละ 58-62 บาท เผยตัวเลข 2-3 ปีมานี้ พื้นที่ปลูกยางลดลง 2 ล้านไร่ เพราะเกษตรกรถอดใจหลังเจอสารพัดปัญหา เปลี่ยนไปปลูกปาล์มและทุเรียนเพียบ
วันนี้ (18 พ.ย.) ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำอีกระลอก โดยเฉพาะราคาน้ำยางสดที่เคยปรับขึ้นทะลุ กก.ละ 80 บาทไปแล้ว เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่พอขึ้นเดือนพฤศจิกายนมานี้ไม่ถึง 1 เดือน ราคากลับลดลงกว่า 20 บาทต่อ กก. โดยเฉพาะล่าสุดราคาน้ำยางสดเหลือประมาณ กก.ละ 58-62 บาท และแนวโน้มอาจลดลงอีก ทั้งที่ช่วงนี้ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้เกิดฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับเนื้อที่ปลูกยางเหลือน้อยลง อันเนื่องมาจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทนยาง เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เป็นต้น โดยเฉพาะในห้วง 2-3 ปีมานี้ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ยางของโลกสูงกว่าผลผลิต จึงเชื่อว่าปัญหานี้คงเกิดจากพ่อค้าจับมือกันทุบราคายาง
ล่าสุด ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดตรัง นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตลาดกลางยางพาราสงขลา ได้เรียกประชุมผู้บริหาร และพนักงาน กยท.ตรัง รวมทั้งตัวแทนสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับโครงการชะลอยางในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยให้สถาบันสมาชิกนำยางเข้าฝากไว้กับสถาบันแม่ข่ายของตนเอง แล้วรอช่วงจังหวะที่ราคายางดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งซึ่งเกษตรกรหยุดกรีด ทำให้ยางขาดตลาดและมีราคาสูง ทาง กยท.จะเสนอขายยางเหล่านี้ผ่านตลาดกลาง เพื่อทำกำไรให้สถาบันเกษตรกร ซึ่งล่าสุด ทาง กยท.ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการชะลอยาง จำนวน 800 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดูดซับปริมาณยางออกจากตลาดได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน
นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการ กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง บอกว่า โครงการชะลอยาง เป็น 1 ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ทั้งประเภทน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นรมควัน ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรได้อย่างมาก และทุกแห่งจะได้กำไรจากการนำยางออกมาขายในช่วงที่ราคาดี หรือช่วงที่ขาดแคลน ที่ผ่านมาทำมาแล้ว 2 ครั้ง ได้กำไรหลายล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มียางในระบบลดลงจาก 23 ล้านไร่ ตอนนี้เหลือ 21 ล้านไร่ หรือลดลงกว่า 2 ล้านไร่ เนื่องจากภาคใต้ฝนตก กรีดยางได้น้อย อีกทั้งชาวสวนยางเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นมากขึ้น เช่น ปาล์ม ทุเรียน ทั้งที่ความต้องการของตลาดโลกสูงกว่าผลผลิตที่ได้มาด้วยซ้ำ ดังนั้น ราคายางจึงไม่ควรต่ำกว่าทุนการผลิตคือ กก.ละ 60 บาท เพราะหากราคาต่ำกว่าต้นทุนนี้ พื้นที่ปลูกยางจะยิ่งหายไป
ที่มา : MgrOnline