ไปรษณีย์ไทยโซฮอต! รายได้ 9 เดือน 15,858 ล้าน กำไร 31.25 ล้าน
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 16:44:33
• ไปรษณีย์ไทยมีกำไรสุทธิ 31.25 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน
• บริการ EMS เติบโต 8.07%
ไปรษณีย์ไทยยังยืนหนึ่ง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 67 รายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท กำไร 31.25 ล้านบาท เฉพาะบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) โตพรวด 8.07%
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยสร้างรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 15,814.96 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 41.92% จาก 22.02 ล้านบาทในปีก่อน มาอยู่ที่ 31.25 ล้านบาท นับเป็นสัญญาณบวกจากการปรับกลยุทธ์และเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ
โดยรายได้หลักของไปรษณีย์ไทยปีนี้มาจาก 6 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ สร้างรายได้สูงสุดถึง 46.48% หรือ 7,369.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.34% จากปีก่อน 2.กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ มีสัดส่วนรายได้ 34.54% หรือ 5,477.55 ล้านบาท ซึ่งยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ 3.กลุ่มบริการระหว่างประเทศ มีรายได้ 12.14% หรือ 1,924.48 ล้านบาท 4.กลุ่มค้าปลีกและบริการทางการเงิน สร้างรายได้ 4.48% หรือ 767.6 ล้านบาท 5.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีรายได้ 0.85% หรือ 135.47 ล้านบาท และ 6.รายได้อื่นๆ อยู่ที่ 1.15% หรือ 184.27 ล้านบาท
การเติบโตของบริการพัสดุในประเทศยังคงเป็นจุดแข็ง โดยเติบโตขึ้นถึง 18.45% อยู่ที่ 1,400 ล้านชิ้น ขณะที่บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ขยายตัว 8.07% ความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผลสำรวจปี 2567 แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจสูงถึง 91.87%
◉ รายได้ปั๊วะ-กำไรปัง ศึกขนส่งเดือด
ดร.ดนันท์ ระบุว่า ตลาดขนส่งโลจิสติกส์ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท แต่อนาคตยังต้องพึ่งพาการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัว ตลาดโลจิสติกส์จะเติบโตต่อเนื่อง แต่หากจีดีพีชะลอตัว อุตสาหกรรมนี้อาจชะลอตามไปด้วย ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ราว 27% ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในปี 2568 โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและบริการทางการเงินที่เป็นดาวรุ่ง ตั้งเป้าเติบโตขึ้นเป็น 10% ภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แม้รายได้และกำไรจะเติบโต แต่ความท้าทายยังรออยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในตลาดขนส่งที่ดุเดือด หรือผลกระทบจากนโยบายด้านค่าตอบแทนแรงงานของรัฐบาล เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพพิเศษให้พนักงาน ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานให้องค์กร นอกจากนี้ การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจประเมินความรุนแรงได้แน่ชัด
ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นสมรภูมิสำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันจากแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลในการกำหนดรูปแบบการขนส่งสินค้า คู่แข่งหลายรายยังครองส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญ ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อแทรกตัวในตลาดนี้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การเจรจาความร่วมมือกับเทมู (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ผ่านการพูดคุยกับพันธมิตรต่างชาติที่มีปริมาณการส่งสินค้ากับ Temu แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นสัญญาณบวกชัดเจน และยังคงเลือกใช้บริการขนส่งจากประเทศของตนเอง
◉ ปรับ กม.ไปรษณีย์ สู้กันแฟร์เกม
เพื่อสร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม ยกระดับคุณภาพบริการในอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ พร้อมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จึงอยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 หัวใจของการปรับปรุงกฎหมาย ประกอบด้วย 1.การควบคุมบริการโดยกฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดประเภทของบริการที่ควรควบคุมและระดับการควบคุมที่เหมาะสม เช่น บริการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของข้อมูล หรือการขนส่งที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
2.หลักเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไม่ได้มีผู้ให้บริการเพียงไปรษณีย์ไทย แต่มีเอกชนหลายรายที่เข้ามาแข่งขัน การวางกรอบการแข่งขันที่ชัดเจน เช่น การป้องกันการผูกขาด และส่งเสริมให้ผู้ให้บริการสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี จะช่วยสร้างตลาดที่ยั่งยืน 3.บทลงโทษที่ชัดเจน ด้วยปัจจุบันบทลงโทษในกรณีผู้ให้บริการละเมิดเงื่อนไขยังไม่ชัดเจน กฎหมายฉบับใหม่จะเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องนี้ โดยใช้ระบบใบอนุญาตที่สามารถถูกเพิกถอน หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และ 4.การตั้งหน่วยงานกำกับดูแล โดยกฎหมายใหม่นี้อาจนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะทาง หรือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมไปรษณีย์และโลจิสติกส์โดยเฉพาะ
โดยกระทรวงดีอี ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อดำเนินการศึกษาตัวอย่างกฎหมายจากกว่า 5 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ร่างกฎหมายมีความครอบคลุมและทันสมัย โดยเน้นความเป็นสากลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในระหว่างกระบวนการปรับปรุงกฎหมาย มีข้อเสนอให้ยกเลิกบริการธนาณัติ แต่อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยมองว่า บริการนี้ยังคงจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานบางกลุ่ม เช่น ผู้ต้องขังที่ไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนหรือบริการดิจิทัลได้ ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยยังพัฒนาธนาณัติออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย
"การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ช่วยเพียงไปรษณีย์ไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ด้วยหลักเกณฑ์ที่ยุติธรรมและการกำกับดูแลที่เข้มงวด ผู้บริโภคจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการจะได้รับโอกาสในการแข่งขันที่เป็นธรรมและโปร่งใส ซึ่งคาดว่าร่างกฎหมายจะเสร็จสิ้นภายในปี 2568 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไร เพราะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายขั้นตอน" ดร.ดนันท์ กล่าว
◉ ปี 68 ลุยตลาดใหม่ จัดเต็มทุกมิติ
สำหรับปี 2568 ไปรษณีย์ไทยพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไปรษณีย์และโลจิสติกส์ ด้วยการผสานเครือข่าย Physical และ Digital อย่างลงตัว ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้านสำคัญ ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายธุรกิจดิจิทัล และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืน
1.เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง โดยขยายขอบเขตบริการระหว่างประเทศด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ เช่น พัฒนาระบบคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าสู่คลัง Amazon FBA และ พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจออนไลน์ ซึ่งความพยายามเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างจุดเด่นใหม่ให้ไปรษณีย์ไทยในตลาดโลก
2.ปรับธุรกิจบริการดิจิทัล เช่น Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร รองรับเอกสารจากหน่วยงานและประชาชน ด้วยความปลอดภัยระดับสูง D/ID ระบบ QR CODE เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ช่วยให้การจัดส่งแม่นยำแม้ในอาคารสูง Postman Cloud ใช้ศักยภาพของบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนในการให้บริการเก็บข้อมูลและจัดส่งแบบ Point to Point และพัฒนา e-marketplace และเปิดตัว Virtual Bank ให้บริการธุรกรรมการเงินแบบครบวงจร
3.ออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เพื่อบริการที่ตอบโจทย์ เช่น e-AR (ไปรษณีย์ตอบรับอิเล็กทรอนิกส์) เพิ่มความสะดวกในงานเอกสาร Pick up Service สำหรับผู้ค้า e-marketplace และการขยายจุด Drop Off ร่วมกับพันธมิตร เพื่อลดขั้นตอนการส่งสินค้า
4.เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างความผูกพันกับลูกค้าผ่านระบบบริหารความสัมพันธ์ และเปิดตัว POST Café สถานที่ที่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ แต่เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ โดยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มเติม ผลประกอบการเบื้องต้นจากการทดลองใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 400,000 บาทต่อเดือนต่อสาขา
ที่มา : MgrOnline