"ดีอี" เปิด DE-fence Platform ปี 68 แจ้งเตือน-ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 12:39:33
• DE-fence จะบล็อกเบอร์โทรศัพท์หลอกลวงและแจ้งเตือนลิงก์เว็บไซต์ปลอม
• มุ่งป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท
กระทรวงดีอีจัดหนัก! เปิด DE-fence Platform ปี 68 บล็อกเบอร์หลอกลวง-แจ้งเตือนลิงก์ปลอม กันหลอกประชาชน เสียหาย 3.7 หมื่นล้าน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมมือกับ กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวโครงการ "DE-fence Platform" หรือ "แพลตฟอร์มกันลวง" มุ่งยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการโจมตีจาก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่ยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตร. พบว่า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67 มีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีถูกแจ้งความรวมกว่า 3.3 แสนคดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาลกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท สถิติเหล่านี้สะท้อนปัญหาอันรุนแรงที่ยังคุกคามประชาชน ขณะที่มิจฉาชีพยังคงพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการโทรศัพท์และส่ง SMS ล่อลวงเหยื่อ ซึ่งโครงการ DE-fence Platform ถูกพัฒนาขึ้นจากการหารือระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. ตำรวจ สกมช. สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมธนาคารไทย โดยระบบนี้จะทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยประชาชน คัดกรองสายโทรศัพท์และข้อความสั้นจากผู้ไม่หวังดี รวมถึงยืนยันความถูกต้องของเบอร์โทรศัพท์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น สถาบันการเงินหรือหน่วยงานรัฐ
"โครงการนี้ไม่เพียงแต่รับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ยังมีมาตรการควบคุมการส่ง SMS โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องลงทะเบียนผู้ส่งใหม่ทั้งระบบภายในปี 2567 พร้อมทั้งตรวจสอบลิงก์และเนื้อหาอย่างละเอียดก่อนส่งถึงผู้ใช้งาน" นายประเสริฐ กล่าว
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) กล่าวว่า ปลายเดือน ต.ค.67 รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เดินหน้าสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence Platform ให้พร้อมใช้งานในต้นปี 68 หวังป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงผ่าน SMS
โดย DE-fence Platform ถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานสำคัญ เช่น ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตำรวจ (ตร.) สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และกระทรวงดีอี โดยสามารถแจ้งเตือนประชาชน เมื่อได้รับสายหรือ SMS ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ตรวจสอบลิงก์แนบใน SMS เพื่อป้องกันมัลแวร์หรือการล่อลวง แจ้งความออนไลน์ และอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านสายด่วน AOC 1441 และเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยตำรวจดำเนินการปราบปรามมิจฉาชีพ
สำหรับ DE-fence Platform ใช้ระบบจัดกลุ่มหมายเลขโทรเข้าและ SMS เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.Blacklist (สีดำ) หมายเลขที่ยืนยันแล้วว่าเป็นมิจฉาชีพ ระบบแนะนำให้บล็อกโดยอัตโนมัติ 2.Greylist (สีเทา) หมายเลขต้องสงสัย เช่น โทร.จากต่างประเทศหรืออินเทอร์เน็ต พร้อมคำเตือนระดับความเสี่ยง และ 3.Whitelist (สีขาว) หมายเลขที่ยืนยันว่าเป็นหน่วยงานรัฐ หรือหมายเลขที่ผู้ใช้ไว้วางใจ
ในระยะแรก DE-fence Platform เน้นการป้องกันผ่านหมายเลขโทรศัพท์และ SMS โดยเฉพาะ whitelist จากหน่วยงานที่คนร้ายมักแอบอ้าง แต่ในอนาคตจะขยายการป้องกันไปยังโซเชียลมีเดีย เพื่อปิดช่องโหว่การหลอกลวงในทุกรูปแบบ
ที่มา : MgrOnline