จีนคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าถูกสหรัฐฯยกเลิกให้สถานะเป็นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง

เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 18:37:24
X
• คอมเมนเตเตอร์จีนเตือนว่า หากสหรัฐฯ เพิกถอนสถานะประเทศคู่ค้าปกติของจีน
• อัตราภาษีศุลกากรสินค้าจีนนำเข้าสู่สหรัฐฯ จะสูงขึ้นอย่างมาก
• นั่นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน
ปักกิ่งเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีนอย่างไรบ้าง (ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2024 แสดงให้เห็นบรรยายกาศที่ท่าเรือในเมืองไท่ชาง ซึ่งขึ้นกับนครซูโจว มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีน ที่มีรถยนต์จำนวนมากกำลังรอการขนถ่ายขึ้นสู่เรือบรรทุกรถยนต์เพื่อการส่งออก)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China calculates impact of losing most favored nation status
by Yong Jian
16/11/2024

คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนเสนอแนะว่า หากสหรัฐฯเพิกถอนสถานะประเทศคู่ค้าปกติที่ให้แก่แดนมังกร อัตราภาษีศุลกากรที่อเมริกาจัดเก็บจากสินค้าจีนนำเข้าก็จะยิ่งสูงขึ้น เรื่องเช่นนี้จะกระทบกระเทือนโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตแดนมังกรอย่างรุนแรง และถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องปรับตัวยกระดับธุรกิจของพวกเขา แต่เวลาเดียวกันนั้น มันก็จะส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสหรัฐฯเองด้วย ทั้งในรูปของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่จะสะดุดติดขัด และผู้บริโภคต้องซื้อข้าวของในราคาแพงมากขึ้น

คาดหมายกันว่าจีนจะต้องเสียหายหนักจากแรงกดดันด้านอัตราเงินฝืดในระดับ 3.4% ทีเดียว ถ้าหากถูกสหรัฐฯเพิกถอนการให้สถานะความสัมพันธ์ทางการค้าแบบปกติถาวร (permanent normal trade relations หรือ PNTR) ซึ่งเมื่อก่อนเคยรู้จักกันในชื่อว่า สถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most favored nation หรือ MFN)

ความห่วงกังวลของปักกิ่งเกี่ยวกับการต้องสูญเสียสถานะ MFN ที่สหรัฐฯให้กับตนเอง เพิ่มทวีขึ้นอีกนับตั้งแต่ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ตกเป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แข่งขันของพรรครีพับลิกัน ผู้ซึ่งป่าวประกาศในระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่า จะขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดในอัตรา 60% รวด

ส.ส.จอห์น มูเลนาร์ (John Moolenaar) ประธานของคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีน แห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทำให้ประเด็นนี้ยิ่งร้อนฉ่ามากขึ้นอีกในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า ร่างรัฐบัญญัติฟื้นฟูความเป็นธรรมทางการค้า (Restoring Trade Fairness Act) [1] ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ยุติสถานะ PNTR ที่ให้จีน

มูเลนาร์ บอกว่าตอนที่จีนเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2000 รัฐสภาสหรัฐฯได้ลงมติขยายระยะเวลาให้สถานะ PNTR แก่จีน ด้วยความคาดหวังว่าฝ่ายจีนจะเปิดเสรีและใช้การปฏิบัติทางการค้าต่างๆ ที่เป็นธรรม ทว่า “การพนันวางเดิมพันคราวนี้ประสบความล้มเหลว”

“การให้สถานะ PNTR แก่จีน ถือเป็นความล้มเหลวของประเทศเรา, กัดกร่อนฐานทางอุตสาหกรรมการผลิตของเรา, และส่งตำแหน่งงานไปให้แก่ปรปักษ์ผู้ก้าวหน้าที่สุดของเรา เวลาเดียวกันนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังฉวยใช้ประโยชน์จากตลาดต่างๆ ของเรา และทรยศหักหลังต่อความหวังแห่งเสรีภาพและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกคาดหมายกันในตอนที่ระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกเขาได้รับสถานะ PNTRเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว” เขากล่าว

ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน 3 คน ได้แก่ มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio), ทอม คอตทอน(Tom Cotton), และ โจช ฮาวลีย์ (Josh Hawley) ก็ได้เสนอร่างกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า ร่างรัฐบัญญัติความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่มีความถาวรและก็ไม่มีความปกติ (The Neither Permanent Nor Normal Trade Relations Act) [2] ซึ่งมุ่งยุติการให้สถานะ PNTR แก่จีนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ รูบิโอ นั้น เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทรัมป์เพิ่งเสนอชื่อเขาให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนต่อไป รูบิโอน่าจะได้รับการยืนยันรับรองจากวุฒิสภาอย่างไม่ยากลำบาก และเริ่มดำรงตำแหน่งหลังการสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคม 2025

“การให้จีนคอมมิวนิสต์ได้รับผลประโยชน์ทางการค้าอย่างเดียวกับที่เรามอบให้แก่พวกพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ของเรา ถือเป็นการตัดสินใจที่สร้างความวิบัติหายนะต่อประเทศชาติของเราอย่างใหญ่หลวงที่สุดเท่าที่ได้เคยมีการตัดสินใจกันมา” รูบิโอ กล่าวในการแถลงข่าวในเดือนกันยายน “ประเทศของเราต้องขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 4 เท่าตัว, และเรายังได้ส่งออกตำแหน่งงานสำหรับชาวอเมริกันนับล้านๆ ตำแหน่ง การยุติความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นปกติกับจีนคือเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องขบคิดอะไรกันมากเลย”

3 ฉากทัศน์

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เซินว่าน หงหยวน ซีเคียวริตีส์ (Shenwan Hongyuan Securities) ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ของภาครัฐจีน ได้ว่าจ้างให้ อินฟินิต-ซัม โมเดลิ่ง (Infinite-Sum Modeling) กิจการที่ปรึกษาแห่งหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ดำเนินการศึกษาวิจัย [3] เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อเล่นงานสินค้าจีน

“ถ้าหากสหรัฐฯยกเลิกสถานะ MFN ของจีน ก็จะเท่ากับสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยแล้วมากกว่า 60% เอากับสินค้าจีน” โดยเป็นการคำนวณจากข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯมีการบังคับจัดเก็บ “ภาษีศุลกากรเฉลี่ยแล้ว 42% จากสินค้าเข้าของพวกประเทศที่ไม่ได้สถานะ MFN บวกกับการที่สหรัฐฯจัดเก็บภาษีศุลกากรตามกฎหมายมาตรา 301 เพิ่มอีก 20% จากผลผลิตภัณฑ์ของจีน” เจ้า เหว่ย (Zhao Wei) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ เซินว่าน หงหยวน เขียน [4] เช่นนี้ในรายงานการวิจัย

เขากล่าวด้วยว่า หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนระเบิดขึ้นเมื่อปี 2018 สินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐฯราว 48% ก็ได้สูญเสียสิทธิที่จะถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรในระดับต่ำ เขายังอ้างอิง [5] รายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) เพื่อชี้ว่าอัตราภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยที่สหรัฐฯจัดเก็บจากสินค้าจีน ณ เดือนมิถุนายน 2023 อยู่ที่ 19.3% เปรียบเทียบกับในปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 2.3%

เซินว่าน หงหยวน ยังได้ให้คำพยากรณ์ทางเศรษฐกิจในกรณีที่สงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯระเบิดขึ้นมา โดยเสนอเป็นฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์ 3 ฉากทัศน์ ดังนี้:
*1. สหรัฐฯจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 60% กับสินค้าจีน
*2. สหรัฐฯจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 60% กับสินค้าจีน และจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 10% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทั้งหมด
*3.สหรัฐฯจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 60% กับสินค้าจีน และจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 10% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทั้งหมด เวลาเดียวกัน จีนตอบโต้ด้วยการจัดเก็บภาษีศุลกากรอัตรา 60% เอากับสินค้าอเมริกัน
ที่มา: เอเชียไทมส์
ในทั้ง 3 ฉากทัศน์เหล่านี้ สหรัฐฯจะสามารถตัดลดการขาดดุลการค้าลงได้ แต่ก็จะได้รับความลำบากจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว และอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจก็เชื่องช้าลง

เจ้า ชี้ว่าสหรัฐฯย่อมไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์แบบฉากทัศน์แบบที่ 2 และฉากทัศน์แบบที่ 3 เนื่องจากอัตราเติบโตของจีพีดีสหรัฐฯ จะตกลงมาแรงกว่าอัตราเติบโตของจีดีพีจีนด้วยซ้ำ

คอมเมนเตเตอร์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลเจียงซูรายหนึ่ง ซึ่งใช้นามปากกาว่า “เป่ยเป้ย” (Beibei) ระบุ [6] ในข้อเขียนของเธอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนว่า ถ้าสหรัฐฯเพิกถอนสถานะ MFN ที่ให้แก่จีนแล้ว ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และห่วงโซ่อุปทานระดับโลกก็จะประสบกับผลกระทบทางลบอย่างมโหฬาร

“ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ กำแพงภาษีศุลกากรก็จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างสำคัญ ส่งผลให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯตกฮวบฮาบ เป่ยเป้ย บอก “พวกผู้ส่งออกชาวจีนจำนวนมากจะลำบากเดือดร้อนจากใบสั่งซื้อที่ลดต่ำลงและต้นทุนค่าใช้จ่ายขยับสูงขึ้น วิสาหกิจระดับเล็กและระดับกลางบางรายกระทั่งอาจมีความเสี่ยงต้องล้มละลายกันทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม คอลัมนิสต์รายนี้กล่าวว่า จีนสามารถที่จะเอาชนะการท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการมุ่งโฟกัสที่พวกตลาดภายในประเทศ ตลอดจนประเทศตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) บางรายให้มากขึ้น เธอบอกว่าพวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังอาจใช้โอกาสนี้ในการใส่มูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา และปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเน้นแรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่อิงอาศัยความรู้

เธอกล่าวอีกว่า สำหรับบริษัทสหรัฐฯนั้นจะลำบากเดือดร้อนจากความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสะดุดติดขัดของห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มสูงขึ้น เธอบอกว่า พวกผู้ค้าปลีกสหรัฐฯและพวกผู้บริโภคสหรัฐฯซึ่งพึ่งพาอาศัยสินค้าจีนที่มีคุณภาพสูงแต่ราคาต่ำ จะต้องเผชิญกับราคาที่ขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ตั้งแต่ที่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สหรัฐฯอาจจะขึ้นภาษีศุลกากรอย่างสูงลิ่ว โดยพูดถึงเรื่องนี้ว่า ยังคงเป็น “สมมุติฐาน”

แต่ก็มี เซี่ย เฟิง (Xie Feng) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ออกมากล่าว [7] เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ในงานประชุมซึ่งจัดที่ฮ่องกงงานหนึ่งว่า ความร่วมมือกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯนั้น ไม่เคยเลยที่จะกลายเป็นเกมซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกินรวบไปคนเดียว

เขาชี้ว่า การค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีมูลค่าอยู่ในระดับสูงกว่า 660,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เปิดทางให้บริษัทสหรัฐฯ 70,000 แห่งสามารถทำกำไรได้รวมทั้งสิ้นราวๆ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในประเทศจีน เขาบอกอีกว่าสินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐฯ ก็สามารถช่วยเหลือพวกผู้บริโภคชาวอเมริกันในการลดค่าครองชีพ

หย่ง เจี้ยน เป็นผู้ร่วมเขียนรายงานข่าวส่งให้แก่เอเชียไทมส์ เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่ชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, และการเมืองของจีน

เชิงอรรถ

[1]https://selectcommitteeontheccp.house.gov/media/press-releases/moolenaar-introduces-legislation-revoke-chinas-permanent-normal-trade
[2] https://www.cotton.senate.gov/news/press-releases/cotton-rubio-hawley-introduce-legislation-to-end-permanent-normal-trade-relations-with-china
[3] https://finance.sina.cn/cj/2024-10-23/detail-inctnchq1303353.d.html?cref=cj
[4] https://finance.sina.cn/cj/2024-10-23/detail-inctnchq1303353.d.html?cref=cj
[5] https://www.piie.com/publications/policy-briefs/2024/economic-implications-revoking-chinas-permanent-normal-trade
[6] https://www.sohu.com/a/826994012_122110862
[7]https://news.tvb.com/tc/greaterchina/67370dd0c428ba22a11c57bc/%E5%85%A9%E5%B2%B8-%E9%A6%99%E6%B8%AF%E4%B8%AD%E7%BE%8E%E8%AB%96%E5%A3%87%E8%88%89%E8%A1%8C-%E8%AC%9D%E9%8B%92%E4%B8%AD%E7%BE%8E%E5%90%88%E4%BD%9C%E5%BE%9E%E4%B8%8D%E6%98%AF%E4%BD%A0%E8%BC%B8%E6%88%91%E8%B4%8F%E9%9B%B6%E5%92%8C%E9%81%8A%E6%88%B2

ที่มา : MgrOnline