"คิดว่าสถานะของครอบครัวอยู่บนบันไดขั้นที่เท่าไหร่?" ครูฝึกสอนถูกวิจารณ์ หลังแจกแบบสอบถามแปลกๆ ให้นักเรียน

เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 13:33:59
X
• ครูฝึกสอนโรงเรียนมัธยมเซี่ยงไฮ้หลงหมิง ให้แบบสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับสถานะครอบครัว
• การกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
• ข่าวไม่ได้ระบุว่าการกระทำนี้เกี่ยวข้องกับการสืบประวัติหรือไม่ แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจมีความละเอียดอ่อน
ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่ามีการสืบประวัติหรือไม่ ต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์เจตนาและวัตถุประสงค์ของแบบสอบถามนั้น
(ภาพจาก : The Star)
สืบประวัติหรือเปล่า? ครูฝึกสอนที่โรงเรียนมัธยมเซี่ยงไฮ้หลงหมิง ในนครเซี่ยงไฮ้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังให้นักเรียนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานะของครอบครัว

ภาพส่วนหนึ่งของแบบสอบถามที่แพร่สะพัดบนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงคำถามที่มาพร้อมกับภาพบันได ซึ่งระบุว่า "จินตนาการว่าบันไดนี้แสดงถึงชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันของครอบครัวต่างๆ ในจีน ยิ่งขั้นบันไดสูงขึ้นเท่าไหร่ ชนชั้นทางสังคมก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เลข 01 แสดงถึงชนชั้นทางสังคมที่ต่ำที่สุด โดยผู้ปกครองมีระดับการศึกษาต่ำสุด มีงานที่เหมาะสมน้อยสุด และมีรายได้ต่ำสุด เลข 10 แสดงถึงชนชั้นทางสังคมที่สูงที่สุด โดยผู้ปกครองมีระดับการศึกษาสูงสุด มีงานที่น่านับถือมากที่สุด และมีรายได้สูงสุด...ขอให้นักเรียนลองพิจารณาว่า ครอบครัวของตัวเองควรอยู่บนบันไดขั้นที่เท่าไหร่?"
แบบสอบถามวัดสถานะของครอบครัว (ภาพจาก : ifeng)
แน่นอนว่า ทันทีที่แบบสอบถามดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นประเด็นบนโลกออนไลน์ หลายคนสงสัยว่า ทำไมโรงเรียนต้องการข้อมูลสถานะทางครอบครัวของนักเรียน หรือเป็นเพราะต้องการเลือกปฏิบัติกับนักเรียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานการศึกษาเขตหมิ่นหาง ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า แบบสอบถามดังกล่าวถูกแจกโดยครูฝึกสอน (นักศึกษาที่มาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู) ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียน

โดยครูท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นักศึกษาที่มาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยเฉพาะจากสาขาสังคมศาสตร์ มักจะชอบแจกแบบสอบถามสำหรับงานวิจัยของตนเอง แต่โรงเรียนหลายแห่งก็ได้มีการห้ามปรามเอาไว้

ทั้งนี้ ทางสำนักงานได้ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไล่ครูฝึกสอนคนดังกล่าวออก พร้อมอธิบายและทำการขอโทษนักเรียนและผู้ปกครอง

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองชาวจีนจำนวนมากกลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การสืบประวัติครอบครัวในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แถมบางครั้งยังมีประโยชน์เสียด้วยซ้ำ เช่น "โรงเรียนมัธยมศึกษาขอให้พวกเราระบุภูมิหลังครอบครัว ซึ่งช่วยให้ครูทราบถึงความยากลำบากของนักเรียนบางคน เพื่อที่จะเสนอเงินช่วยเหลือ และช่วยดูแลนักเรียนที่มีผู้ปกครองเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว" และ "ลูกของฉันซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถม ถูกขอให้เขียนเกี่ยวกับอาชีพของผู้ปกครองและที่อยู่อาศัย"

ที่มา : China teacher panned for ‘classism’ quiz ranking family status from ‘indecent’ to ‘better’ (SCMP)

ที่มา : MgrOnline