เวที COP 29 ไฟเขียวรับมาตรฐานกลไกตลาดคาร์บอน / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 08:59:15
• การประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน
• ยังไม่มีรายละเอียดเชิงลึกของข้อสรุปหรือข้อตกลงสำคัญที่ออกมาจากการประชุม (เนื่องจากข้อมูลในคำถามให้แค่ช่วงเวลาและสถานที่จัดการประชุม จึงสรุปผลลัพธ์ไม่ได้)
• จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวอื่นเพื่อสรุปผลการประชุมอย่างละเอียด
ในช่วงสองสัปดาห์นี้ (11-22 พ.ย.67) ได้มีการจัดประชุม COP 29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
COP หรือ Conference of Parties เป็นการประชุมประจำปีเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญในการประชุมครั้งนี้ (ณ วันที่เผยแพร่บทความ) ได้แก่ การรับมาตรฐานกลไกตลาดคาร์บอนที่เป็นไปตามบทบัญญัติของความตกลงปารีส ในข้อ 6 ย่อหน้า 4 (Article 6.4)
ด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกที่เห็นชอบโดยองค์กรกำกับดูแล (Supervisory Body) ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐภาคีความตกลงปารีส (CMA) จะเปิดโอกาสให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนไปยังผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ภายใต้ความตกลงปารีส ลงได้ราว 2.5 แสนล้านเหรียญต่อปี
ก่อนหน้านี้ ข้อเสนอแนะเรื่องกลไกตลาดคาร์บอนที่จัดทำโดยองค์กรกำกับดูแล ไม่ได้ถูกรับรอง (Adopt) จากที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส ติดต่อกัน 2 สมัย (ค.ศ. 2022-2023) ทำให้ในสมัยประชุมนี้ องค์กรกำกับดูแลเลือกใช้วิธีรับรองข้อเสนอแนะของตนเอง และแปลงเป็นมาตรฐาน 2 ฉบับ คือ มาตรฐานข้อกำหนดสำหรับการพัฒนาและการประเมินระเบียบวิธี (Methodologies) ตามกลไกข้อ 6.4 และมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกำจัดก๊าซเรือนกระจก (Removals) ภายใต้กลไกข้อ 6.4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ก่อนสมัยประชุม CMA จากนั้น จึงส่งให้ที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงฯ รับทราบ
ทั้งนี้ ได้มีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า กระบวนการรับรองดังกล่าว รวบรัดและขาดความโปร่งใส เนื่องจากไม่เปิดให้รัฐภาคีได้มีโอกาสพิจารณาเนื้อหาและสามารถอภิปรายในวงกว้าง
ผลที่คาดว่าจะตามมาในบริบทของธุรกิจ คือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไกที่เห็นชอบโดยองค์กรกำกับดูแลที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐภาคีความตกลงปารีส จะกลายเป็นบรรทัดฐานของตลาดซื้อขายคาร์บอนภายใต้กลไกที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่ากลไกตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market: VCM) ที่ใช้มาตรฐานอิสระ ดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2023) มีตัวเลขอยู่ที่ 723 ล้านเหรียญ ลดลงจากมูลค่าในปีก่อนหน้า (ค.ศ. 2022) ที่มีอยู่ราว 2 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากข้อกังวลในเรื่องคุณภาพเครดิต รวมถึงระเบียบวิธีและความน่าเชื่อถือของโครงการ และยังส่งผลไปถึงการกดดันราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจด้วย
ด้วยกลไกตลาดคาร์บอนที่มีการรับรองโดยองค์กรกำกับดูแลภายใต้ความตกลงปารีส เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในเรื่องเสถียรภาพราคา และการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (Reductions) และโครงการกำจัดก๊าซเรือนกระจก (Removals) ในเรื่องมาตรฐานของกลไกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
โดยการประกาศรับรองกลไกตลาดคาร์บอนที่เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ จะเอื้อให้องค์กรกำกับดูแลสามารถเตรียมการเพื่อเปิดให้ขึ้นทะเบียนระเบียบวิธีตามกลไกข้อ 6.4 ได้ภายในครึ่งหลังของปีหน้า (ค.ศ. 2025) หลังจากที่หาข้อยุติไม่ได้มาร่วม 2 ปี
อย่างไรก็ดี ยังมีเอกสารร่างข้อบท (draft text) เกี่ยวกับกลไกตลาดตามข้อ 6.4 จากองค์กรย่อยเพื่อคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SBSTA) ซึ่งทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลและคำแนะนำให้ CMA ที่ยังคงเว้นทางเลือกไว้ในหลายหัวข้อ และเนื้อหาในวงเล็บอีกหลายเรื่องที่รอการตัดสินใจ
ทั้งนี้ การเร่งรัดดำเนินการรับมาตรฐานที่เกี่ยวกับกลไกตลาดตามข้อ 6.4 ในสมัยประชุมนี้ ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่จะต้องบรรลุ Carbon Halvingให้ได้ภายในทศวรรษนี้ หรือ คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
สำหรับผู้สนใจเนื้อหาการประชุมในส่วนที่เป็นเอกสารร่างข้อตัดสินใจ (draft decision) ว่าด้วยการแนะแนวกลไกตามความตกลงปารีส ข้อ 6 ย่อหน้า 4 สามารถติดตามได้จากลิงก์ https://unfccc.int/documents/642623
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์
ที่มา : MgrOnline