"ภูมิธรรม" หนุน สทป.ผนึกเหล่าทัพ-เอกชนสร้างนักวิจัยผลิตยุทธโธปกรณ์ตอบโจทย์กองทัพ-พร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่

เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 14:10:41
X
• ภูมิธรรม หนุน สทป. ผนึกกำลังเหล่าทัพ-เอกชน สร้างนักวิจัย ผลิตยุทธโธปกรณ์
• เป้าหมายคือการผลิตอาวุธให้ตอบโจทย์กองทัพและรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่
• การสร้างนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องใช้เวลา
• ภูมิธรรม เชื่อมั่นในศักยภาพคนไทยในการพัฒนายุทธโธปกรณ์

"ภูมิธรรม" หนุน สทป.ผนึกกำลังเหล่าทัพ-เอกชนในประเทศ สร้างนักวิจัย ร่วมผลิตยุทธโธปกรณ์ ให้ตอบโจทย์กองทัพและพร้อมรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ชี้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องใช้เวลา เชื่อคนไทยมีศักยภาพ


เมื่อวันที่ 15 พ.ย.67 ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางตรวจเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อรับทราบภารกิจ ขีดความสามารถ และผลการดำเนินงานที่สำคัญ รวมถึงผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การส่งเสริมสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ตลอดจนการพัฒนาสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมนี้ พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่สถาบันฯ

โดยมี พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พล.อ.ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบัน ให้การตอนรับ

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สักการะพญาคชสีห์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยและพัฒนาที่โดดเด่น รับฟังบรรยายสรุปภารกิจของสถาบัน ลงนามในสมุดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมผลงานโครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ (DTI-UTC) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในโอกาสพิเศษนี้ พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้มอบเครื่องหมายกิตติมศักดิ์และประกาศนียบัตรผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับให้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสเยี่ยมชมสถาบัน

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า "รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ให้การต้อนรับในวันนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลงานของสถาบันแล้ว ผมมั่นใจว่าสถาบันมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการและความพร้อมรบของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้กระทรวงกลาโหมที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์อย่างมีมาตรฐานและเชื่อถือได้ ผมเชื่อมั่นว่าสถาบันจะสามารถต่อยอดผลงานไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต"

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ คือกลไกก้าวสำคัญในการนำพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยก้าวไปข้างหน้า การตรวจเยี่ยมครั้งนี้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสถาบันในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไทยในระดับนานาชาติ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมที่สทป. ในครั้งนี้เนื่องจากเป็นองค์กรมหาชนภายใต้การดูแลของ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปถึงจุดขั้นสูงสุดให้ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ของประเทศ ซึ่งถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา ในหลายด้าน เช่นกาาผลิตกระสุนปืน จรวด และโดรน จึงขอชื่นชมความสามารถของนักวิจัยสทป. แต่สิ่งที่สำคัญต้องตอบโจทย์ผู้ใช้คือเหล่าทัพ เพราะปัญหาในขณะนี้คือการใช้งานในประเทศต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าของที่เราผลิตนั้นได้มาตรฐาน ซึ่งทราบว่ามีบางส่วนที่เราผลิตขึ้นมาและส่งไปตรวจสอบมาตราฐานในต่างประเทศแล้ว

ทั้งนี้ หากสร้างความมั่นใจในการใช้ในประเทศได้ก็จะนำไปสู่การขายให้กับประเทศต่างๆได้มากขึ้น ทั้งนี้ได้กำชับถึงนโยบายการพัฒนาสิ่งต่างๆเหล่านี้โดยเฉพาะคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ในการใช้งานและเชื่อมั่นว่านักวิจัยของสทป. ในการสร้างเครื่องมือและ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ เท่านี้ยังไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก เพราะจุดอ่อนของบ้านเราคืองานวิจัยมักจะไม่ถูกนำมาใช้ และงานวิจัยบางทีไม่ได้ทำแบบองค์รวม เป็นการแยกส่วนดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจน เพราะสิ่งสำคัญคือเราเคยชินกับการซื้อยุทธโธปกรณ์ หากจะมีการเปลี่ยนผ่านก็คงต้องร่วมมือกับบริษัทที่เป็นคู่ค้า ในเรื่องของการให้เทคโนโลยี ของการเข้ามาร่วมทุนในประเทศ

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากกาาพัฒนาด้าน ยุทโธปกรณ์แล้ว เรายังจะต้องให้ความสำคัญกับภัย คุกครามรูปแบบใหม่ ถือว่าเป็นความท้าทายของกองทัพ ที่จะพัฒนาตนเองในการรองรับรูปแบบใหม่เหล่านี้ และตนมีแนวคิดที่จะจัดสัมมนา ร่วมกันของเราทัพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน และจัดลำดับความสำคัญ เพิ่มทักษะความรู้ของนักวิจัยในประเทศ เชื่อมั่นว่าคนไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศ

ที่มา : MgrOnline