“BAM” ทรานส์ฟอร์มสู่ DIGITAL กางโรดแมปยกระดับองค์กรเติบโตยั่งยืน

เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 16:44:26

BAM โชว์ผลงาน 25 ปี แก้ไขหนี้เสียแล้วกว่า 160,000 ราย ก้าวสู่ปีที่ 25 เดินหน้าทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ กางโรดแมปก้าวสู่ DIGITAL ENTERPRISE เต็มรูปแบบ วางเป้าหมายการ Transformation 3 ส่วน คือ Transformation for People, Transformation for Growth และ Transformation for Efficiency พร้อมยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM)
เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ “BAM” ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวนกว่า 160,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้มีเงินต้นกว่า 480,000 ล้านบาท เปรียบเสมือนแก้มลิงที่ช่วยรองรับหนี้เสียไม่ให้ไหลเข้ามาท่วมระบบสถาบันการเงิน และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 53,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 123,000 ล้านบาท

พร้อมกันนั้น BAM มีนโยบายการดำเนินธุรกิจ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ทุกรายเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การปรับลดหนี้ การโอนตีทรัพย์ชำระหนี้ การให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพย์หลักประกันได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ ช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น “โครงการสุขใจได้บ้านคืน” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ BAM ที่ต้องการคืนทรัพย์หลักประกันทั้งที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้แก่ลูกหนี้ และในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 80% ของราคาประเมิน ในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ผ่อนชำระไม่เกิน 25 ปี

และ “โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ” สำหรับลูกหนี้กลุ่ม Startup และ SME ที่มีภาระเงินต้นต่อรายไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 80% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ผ่อนชำระไม่เกิน 25 ปี ขณะเดียวกัน BAM ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 พ.ย.2567 สำหรับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้และยังมีการผ่อนชำระอยู่

นายธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า BAM ได้วางแนวทางขององค์กรฯ เพื่อให้ทันต่อธุรกิจในยุคดิจิทัล 4.0 โดยมีเป้าหมายการ Transformation 3 ส่วน ได้แก่ 1.) Transformation for People มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BAM ทั้งหมด ได้รับ "ประสบการณ์" ที่ดี รวมไปถึงการจัดทำระบบ BAM Choice ซึ่งเป็นระบบ Mobile Application ที่ลูกหนี้สามารถเห็นแผนประนอมหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง ตลอดจนการขอเจรจาปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ผ่านทางออนไลน์ได้ รวมถึงการชำระเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ และในปัจจุบัน BAM เตรียมนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินกำลังความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้อีกด้วย

2.) Transformation for Growth มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มยอดผลเรียกเก็บและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยทำ Digitalization Channel ในการสื่อสารกับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ BAM ทุกช่องทางได้รับประสบการณ์ที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ การนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้การบริหารหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

และ 3.) Transformation for Efficiency ได้มีการจัดทำระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้กระบวนการในการติดตามและแก้ไขหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้จัดทำซีรีส์ภายใต้ธีม “อิสระ เดอะซีรีส์ : BAM ทางออกสู่อิสระ” 2 เรื่อง ได้แก่ ซีรีส์ “BAM อิสระจากวังวนหนี้” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ของ BAM เข้ามาประนอมหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพย์หลักประกันได้ และ “BAM ฝันมีทรัพย์เป็นจริง” สานฝันชีวิตของคนทำงานวัยเริ่มต้นจากการซื้อทรัพย์ BAM ทั้งการซื้อเพื่อเป็นบ้านอยู่อาศัยและซื้อเพื่อการลงทุน โดยจะออนแอร์บนสื่อโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม Facebook, YouTube และ TikTok : BAM Thailand ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน-20 ธันวาคม 2567

สำหรับความคืบหน้าของ บบส.อารีย์นั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทางธนาคารออมสินจึงได้โอนขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ให้ บบส.อารีย์ มาบริหารจัดการครั้งแรก จำนวน 133,687 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 10,711.93 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อทั่วไปมีหลักประกันมีจำนวน 1,172 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 1,334.30 ล้านบาท กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อทั่วไปไม่มีหลักประกันมีจำนวน 104,533 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 8,730.52 ล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตมีจำนวน 27,982 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 647.11 ล้านบาท

ที่มา : MgrOnline