“สมศักดิ์” ถก“แพทยสภา”หาทางออกปมสปสช.ให้เภสัชกร จ่ายยาผู้ป่วยแทนไปรพ.

เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 12:33:29
X
• นายสมศักดิ์ (ไม่ระบุชื่อเต็ม) ร่วมหารือแก้ปัญหาเภสัชกรจ่ายยาผู้ป่วยโดยตรง ภายใต้ สปสช.
• แพทยสภาส่วนใหญ่เห็นด้วย เพื่อลดความแออัดโรงพยาบาล
• แต่กังวลกลุ่มอาการบางอย่างที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ อาจเสี่ยงอันตราย
• จะมีการกำหนดกลุ่มอาการใหม่โดยคณะกรรมการ เพื่อให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้อย่างปลอดภัย

“สมศักดิ์” ร่วมหาทางออกปมสปสช.ให้เภสัชกร จ่ายยาผู้เจ็บป่วย เผยตัวแทนแพทยสภาภาพรวมเห็นด้วย เพื่อลดความแออัดในรพ. แต่ห่วงบางกลุ่มอาการ ไม่ผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ อาจเสี่ยงอันตราย สั่งกก.กำหนดกลุ่มอาการใหม่

วันนี้( 21 พ.ย. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างแพทยสภา กับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม กรณีที่ สปสช. ขยายสิทธิการให้บริการกับประชาชน เพื่อดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ให้สามารถไปรับยามารักษาตัวเองจากร้านขายยา ซึ่งเป็นหน่วยบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2567 โดยมีการกำหนดกลุ่มอาการที่สามารถมารับบริการได้ 32 กลุ่มอาการ จนเป็นที่มาของการนำไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว

นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ล่าสุดตนได้เชิญตัวแทนแพทยสภา เข้าพบเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและยุติข้อขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว โดยผู้แทนแพทยสภายืนยันว่า ในภาพรวมเห็นด้วยกับการให้บริการดูแลประชาชน ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในบางกลุ่มอาการของ สปสช. เพราะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ ลดความแออัดของผู้จะไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาล และยังเป็นความสะดวกกับประชาชนอีกด้วย แต่ภายหลังจากมีประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมฯ แพทยสภาไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เภสัชกร สามารถจ่ายยาให้กับผู้มาขอรับบริการเฉพาะในบางกลุ่มอาการ ซึ่งมองว่า มีความเสี่ยงและอันตรายต่อประชาชนผู้มารับบริการมากเกินไป หากมีการจ่ายยาไปโดยไม่มีการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการปวดหัว ปวดท้อง หรือตกขาว

“ผมจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อมาพิจารณากำหนดกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่เภสัชกรรมในร้านขายยาคุณภาพสามารถจ่ายยาให้ได้โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งหากได้มีการพิจารณาและเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขประกาศของ สปสช. ที่เกี่ยวข้องต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ที่มา : MgrOnline