นายกฯ หารือกระชับสัมพันธ์นักธุรกิจไทย-สหรัฐฯ มั่นใจการค้าระหว่างกันปีหน้าไม่น้อยกว่า 5 แสนล้าน
เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 10:09:50
• นายกฯ แพทองธาร หารือกับ US-APEC Business Coalition: เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ
• สานต่อความร่วมมืออันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ไทย-สหรัฐฯ: มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจ
• ยกระดับการลงทุนร่วมกัน: โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
• มั่นใจปีต่อไปจะดีกว่าปีนี้: โดยจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น
กระชับสัมพันธ์ นักธุรกิจ ไทย- อเมริกัน นายกฯแพทองธารหารือ US-APEC Business Coalition สานต่อความร่วมมืออันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ไทย-สหรัฐ พร้อมยกระดับการลงทุนร่วมกันมากขึ้นโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มั่นใจปีต่อไปไม่น้อยกว่าปีที่แล้วที่ไทย-สหรัฐค้าขายกันกว่า 5 แสนล้านบาท
วันพฤหัสที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ โรงแรม Swissotel Lima สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือกับ US-APEC Business Coalition
โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้บริหาร US-APEC Business Coalition ที่เป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นกับประเทศไทย และยังเป็นเจ้าภาพในการหารือในวันนี้ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาหลายครั้งทั้งจากฝ่ายบริหารและภาคเอกชน โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของนโยบาย การเจรจาและการมีส่วนร่วมกับธุรกิจยังคงมีความสำคัญมาก และขอเน้นย้ำว่า “โอกาส” ”ความพร้อม“ และ ”ความเชื่อมั่น“ นั้นประเทศไทย เปิดกว้างสำหรับธุรกิจและการลงทุนและพร้อมมุ่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันกับสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยการลงทุนของสหรัฐฯในไทยนั้น ได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ และย้ำถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ “ต่อเนื่อง” ในการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งมีความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาความร่วมมือที่เกิดประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เน้นนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อการลงทุน พร้อมเปิดกว้างในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือทวิภาคีและภูมิภาค เช่น APEC และ IPEF ที่พร้อมในการมุ่งมั่น เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลไทย ได้เสนอสิทธิพิเศษทางด้านธุรกิจ เช่น การยกเว้นวีซ่าและวีซ่าพำนักระยะยาวให้กับนักธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลาง ด้านเกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันในระดับโลก รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด อีกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชูวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมการค้าเสรีและข้อตกลง FTA ที่พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในกรอบ OECD ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสและต่อต้านการทุจริตเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
“เราเน้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 มีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทย รัฐบาลไทย ยังมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และไทยยังส่งเสริมความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและพัฒนาทักษะบุคลากร รวมทั้งการมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย ขับเคลี่อนการศึกษา และพัฒนาฝีมีอแรงงานเพื่อเตรียมรับอุตสาหกรรมอนาคตด้วย”
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ก่อนการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปค ที่เปรูได้มีโอกาสเดินทางไป ที่นครลอสแอนเจลิส และพบหารือภาคเอกชนสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมา ไทย สหรัฐฯ มีความร่วมมือการลงทุนระหว่างกันกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท และสร้างงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้รัฐบาลไทยตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยและกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจตลอดไป นายกรัฐมตรีกล่าวทิ้งท้าย
“อนึ่ง U.S.-APEC Business Coalition เป็นองค์กรพันธมิตรประกอบด้วย (1) National Center for APEC (NCAPEC) ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่เป็นกระบอกเสียงเชื่อมโยงภาครัฐและภาคธุรกิจสหรัฐฯ สร้างเวทีหารือ เชิงนโยบายกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อสนับสนุนการค้าเสรี และความร่วมมือระดับภูมิภาค (2) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) เป็นองค์กรภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสนับสนุนบริษัทสมาชิกในการส่งเสริมนโยบาย กฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ (3) สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) เป็นองค์กรธุรกิจที่มีสมาชิกเป็นบริษัทสหรัฐฯ ชั้นนำที่ลงทุนหรือดำเนินธุรกิจกับประเทศในอาเซียนโดยมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐมาอย่างยาวนาน”
ที่มา : MgrOnline