กนอ.ผนึกสถาบันปิโตรเลียมฯ - ม.มหิดล ลุยสกัด VOCs พื้นที่มาบตาพุด
เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 15:15:00
• กนอ. ร่วมมือ มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาแนวทางจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)
• มุ่งเน้นสารเบนซีน และ 1,3 - บิวทาไดอีน ในพื้นที่มาบตาพุด
• เป้าหมายคือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
• สร้างเมืองอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
กนอ.จับมือ มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาแนวทางจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) โดยเฉพาะสารเบนซีน และ 1,3 - บิวทาไดอีน ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ เรื่อง การสนับสนุนการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ระหว่าง กนอ.ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะสาธารณสุขศาสตร์) โดยมี นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ กนอ. (ฝ่ายปฏิบัติการ 3) ดูแลพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด, นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่สำนักงานใหญ่
นายอนุชิต สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายงานพัฒนาที่ยั่งยืน กนอ. เปิดเผยว่าความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ VOCs โดยเฉพาะสารเบนซีนและสาร 1,3 - บิวทาไดอีน ในบรรยากาศบริเวณริมรั้วในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด โดยมุ่งเน้นศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมสารดังกล่าว เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ VOCs ในพื้นที่มาบตาพุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมของ กนอ.ให้เกิดความยั่งยืน
นายคุรุจิต กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบูรณาการความเชี่ยวชาญจาก 3 หน่วยงาน เพื่อศึกษาและจัดทำข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับ VOCs ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยผลการศึกษาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการควบคุม VOCs เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป
ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร กล่าวถึงรูปแบบการศึกษาแนวทางจัดการ VOCs ในช่วง 2 ปีของ MOU ฉบับนี้ว่า จะมุ่งเน้นการวิจัย การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรการเชิงรุกในการควบคุม VOCs ให้อยู่ในระดับปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาบัญชีรายการปล่อยมลพิษ (Emission Inventory) การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์แหล่งกำเนิด การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการควบคุมมลพิษ
มาบตาพุดถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการลงนาม MOU ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้ง 3 ภาคส่วน เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือ หรือ MOU ทางวิชาการฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามโดยแนวทางการบริหารจัดการ VOCs ที่เกี่ยวข้องกับชั้นบรรยากาศ ตามบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ ครอบคลุมแนวทางการบริหารจัดการ VOCs ในหลายมิติ เช่น การตรวจวัดและติดตาม โดยการศึกษาการกระจายตัวของ VOCs ในชั้นบรรยากาศ การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง การประเมินผลกระทบ ด้วยการประเมินผลกระทบของ VOCs ต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ การควบคุมและลดการปล่อย VOCs จากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสะอาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การบำบัดมลพิษทางอากาศ และการสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของ VOCs และแนวทางการป้องกันแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
ที่มา : MgrOnline