“ทรัมป์” กลับมาแล้ว จุดพลิกผัน แผนลดโลกเดือด !
เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 13:16:27
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ว่าเขาจะชูนโยบายยุติเงินเฟ้อ เพิ่มภาษี เพิ่มความสงบ และด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีมูลความจริง และไม่ได้เป็นนโยบายของเขาในปัจจุบัน
โปรดตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เสมอ
โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 พร้อมกับชูนโยบายยุติเงินเฟ้อ เพิ่มภาษี เพิ่มความสงบ กับอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม
วิกฤตจากสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อนที่เขาเคยมองเป็น “สิ่งลวงโลก” ล่าสุดจากเวทีประชุม COP29 ย่อมเป็นบทบาทหนึ่งที่จะบอกถึงท่าทีของเขาและอเมริกานับจากนี้
ทรัมป์เคยประกาศกร้าวกลางเวทีว่าปัญหาโลกร้อนเป็น “สิ่งลวงโลก” (hoax) และพร้อมที่จะเดินหน้าขุดน้ำมันต่อไปด้วยวลีเด็ดของเขา ‘Drill, baby drill’ (เจาะ ไอ้หนูเจาะ) ที่พร้อมทะลวงทุกแหล่งน้ำมันไม่เว้นแม้ในพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ทำให้ในสมัยแรกของเขาปริมาณการเจาะน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจนแซงรัสเซียและซาอุดิอาราเบีย และแน่นอนว่าเมื่อเขากลับมาอเมริกาจะเกรียงไกรอีกครั้ง
กว่าจะไปถึงจุดนั้น สิ่งแรกที่ทรัมป์ต้องทำคือหันหลังให้ข้อตกลงปารีสอีกครั้งเหมือนที่เขาเคยทำเมื่อเคยดำรงตำแหน่งผู้นำคนที่ 45 เขาให้เหตุผลว่ามันเป็นข้อตกลงที่อเมริกาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทำให้หนทางที่จะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศานั้นแทบจะกลายเป็นฝันกลางวัน เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ในสมัยของโจ ไบเดน มีกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการลดค่าครองชีพ พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลังงานสะอาดที่รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 40% ภายในปี 2030 แต่หลายสำนักข่าววิเคราะห์ว่าทรัมป์คงจะปรับเปลี่ยนกฎหมายนี้โดยตัดการสนับสนุนพลังงานสะอาดและเป้าหมายดังกล่าวออกไป
กระนั้นก็ตามธุรกิจพลังงานสะอาดยังสามารถยืนต่อไปได้เพราะพลวัตของตลาดได้ถูกขับเคลื่อนไปแล้ว เหมือนเช่นปริมาณการขุดเจาะฟอสซิลที่ไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อยในยุคสมัยของไบเดน แต่เมื่อไร้เป้าหมายและการผลักดันของรัฐอาจทำให้การพัฒนาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
อีกทั้งเดิมทีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินถูกสั่งให้ปลดระวางกันระนาวภายใน 8 ปี ซึ่งอาจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 1.38 พันล้านตันภายในปี 2047 ทว่าด้วยการมาของทรัมป์ที่เห็นเศรษฐกิจสำคัญยิ่ง แผนการนี้ดูท่าจะถูกพับเก็บไปในที่สุด
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของสิ่งที่ประธานาธิบดีผู้ไม่เชื่อในภาวะโลกรวนสามารถทำได้ แน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำก็เพื่อประเทศของเขาเองและคงไม่มีสิ่งใดจะคานค้ำอำนาจของเขาได้ เพราะขณะนี้คองเกรสได้กลายเป็นสีแดงไปแล้ว
แต่ในเมื่อโลกรวนมันไม่ได้เป็นเรื่องปลอมแต่งเหมือนที่เขาเชื่ออีกแล้ว แม้กระทั่งฐานเสียงอเมริกันคนรุ่นใหม่กลับเห็นว่า “โลกรวน โลกเดือด” นั้นของจริง แล้วอย่างนี้ทรัมป์ก็ย่อมไม่อาจจะทวนกระแสไปเสียทั้งหมด
ส่องทรัมป์ มิอาจปฏิเสธ “ความยั่งยืน”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่ามองใน 3 มิติ ที่มันเป็นความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง หรือพลวัต คือ มิติแรก เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) มิติที่สอง ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และมิติที่สามระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ (Technology and humans)
สิ่งที่มองเป็นปัญหาระยะยาว คือ ผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก และ ความยั่งยืน (sustainability) แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในขณะนี้ คือ ภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การทำสงคราม รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ดังนั้น อเมริกันเฟิร์ส แน่นอนว่าสนใจแต่ตัวมันเองอยู่แล้ว ฉะนั้นคงต้องการลดภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และแน่นอนว่าโลกต้องกลัวเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งวิธีการกันเงินเฟ้อก็คือ การนำเอาน้ำมันออกมาใช้ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนอย่างแน่นอน เรื่อง sustainability นั้นเป็นโจทย์ของทั้งโลก ไม่ใช่แค่ของอเมริกา ดังนั้น ไม่ว่ายุโรป เอเชีย จีน ต่างมาอยู่ในจุดนี้หมดแล้ว ฉะนั้นในเรื่องนี้แน่นอนว่ามันจะต้องมีความย้อนแย้งกัน ดังนั้นในเรื่อง sustainability จะไปต่อได้หรือไม่ แค่ไหนนั้น มันอาจมีสะดุดแต่มันต้องไปต่อแน่นอน เพราะโลกเราไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้อีกต่อไป
ส่วนประเด็นสำคัญ ในมิติที่ 3 เป็นเรื่องของเทคโนโลยีในอนาคต ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ซึ่งกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เรื่องเหล่านี้มันจะค่อยๆ พัฒนาให้ราคาถูกลง ดังนั้น โอกาสที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยชดเชย เพื่อตอบโจทย์เรื่องของ sustainability จะมีค่อนข้างสูง ทั้งหมดนี้มันคือพลวัตของทั้ง 3 มิติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งโลกยังไม่ได้คล้อยตาม แต่ ณ ปัจจุบันเรื่อง climate change จีนก็มีความซีเรียสไม่ต่างกับที่ยุโรป
ทรัมป์ กับทิศทางโลก (ร้อน)
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยว่าประเด็นหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีหน้าตาออกมาเช่นไร เพราะท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีมาโดยตลอด เชื่อว่า "ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง" และได้เคยนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปลายสมัยของการดำรงตำแหน่งครั้งที่แล้ว (แต่ โจ ไบเดน พาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมใหม่ทันที หลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากทรัมป์)
เป็นที่คาดหมายว่า ทรัมป์ จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีสอีกครั้ง และอาจเลยไปถึงการถอนตัวจากการเป็นรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีที่ให้กำเนิดความตกลงปารีส และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ (UNFCCC COP) เรื่อยมา ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในระดับโลก
เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน UNFCCC ในการดำเนินงานอยู่เป็นสัดส่วนหนึ่งในห้า (20.97%) ของงบประมาณประจำปีที่ 34.6 ล้านยูโร (แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปีนี้ สหรัฐฯ ติดหนี้ UNFCCC และยังค้างจ่ายในปีก่อน ๆ รวมอยู่กว่า 10 ล้านยูโร!) โดยประเทศที่ให้การสนับสนุนทุนรองลงมา ได้แก่ จีน (14.5%) เยอรมนี (8%) ญี่ปุ่น (7.66%) อังกฤษ (4.2%) และฝรั่งเศส (4.1%) ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยให้การสนับสนุนอยู่ 4 ล้านกว่าบาท (0.35%)
เมื่อขาดเม็ดเงินทุนที่ใช้ดำเนินงาน การขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานสะอาด จะแผ่วลงไปโดยปริยาย ประกอบกับทิศทางที่ทรัมป์ยังคงให้การสนับสนุนการผลิตและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อมลง จะไปสมประโยชน์บรรดาบริษัทและอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการมีภาระต้นทุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
สหรัฐฯ กับนโยบาย Rewind and Regain (America)
นโยบายที่คาดว่าทรัมป์จะนำมาใช้ คงเป็นไปตามแนวทาง Rewind and Regain (America) คือ พาโลกย้อนกลับไปในจุดที่เป็น carbon-intensive และมุ่งสนใจเอาเฉพาะประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้ ขณะที่นานาชาติต้องการจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุค low-carbon และเน้นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมระหว่างกัน
แม้ยุโรปจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่ low-carbon แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปสมัยล่าสุด พรรคการเมืองในฝ่ายขวาจัด ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มพรรคขวากลาง ยังครองที่นั่งมากสุด ซึ่งคาดหมายได้ว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไม่น่าจะมีความเข้มข้นขึ้นจากเดิม และเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการนำเสนอนโยบายใหม่ ๆ เพิ่มเติม
และการที่ประเทศจีน จะเข้ามาช่วงชิงบทบาทรักษ์โลก ขึ้นนำสหรัฐฯ แทนนั้น อาจจะต้องแลกมาด้วยการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินจำนวนมหาศาลโดยลำพัง ขณะที่ รัฐบาลจีนเอง ยังคงมีภาระที่ต้องจัดการดูแลปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง จีนจึงน่าจะยังคงสถานะเดิมเหมือนที่เป็นอยู่ หรือไม่ก็เพิ่มบทบาทความร่วมมือผ่านทางกลุ่มประเทศ BRICS แทน เพื่อดึงประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มมาร่วมสนับสนุน
ไทย ควรรับมือด้วยนโยบาย Reinforce and Resilient (Thailand)
ตามรายงาน Global Climate Risk Index ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของปริมาณการปล่อยของทั้งโลกรวมกัน (จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอินเดีย ปล่อยรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 83%)
ทำให้ไทยอยู่ในสถานะในกลุ่มประเทศที่ “มีการปล่อยต่ำ-แต่ผลกระทบสูง” จึงควรต้องแสวงหาการสนับสนุนทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินกู้แบบผ่อนปรน หรือการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่ให้สำหรับกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ในระหว่างวันที่ 11 - 22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ประเด็นสำคัญที่ไทยจะนำเสนอในที่ประชุม ได้แก่ ประเด็นการบรรลุ NDC 2030 ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% หรือคิดเป็น 222 MtCO2eq ประเด็นการเร่งผลักดัน พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม
ในบริบทของประเทศไทย การดำเนินนโยบายควรเป็นไปตามแนวทาง Reinforce and Resilient (Thailand) คือ เสริมแรงให้แต่ละภาคส่วนร่วมกันทำงาน เพื่อให้ไทยมีภาวะพร้อมผันจากผลกระทบทางนโยบายของประเทศขั้วมหาอำนาจ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกับภูมิรัฐศาสตร์ การทลายอุปสรรคและการกีดกันทางการค้าจากพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานโลกที่ไม่จำกัดขั้ว
ทั้งนี้ ภาครัฐสามารถออกนโยบายที่กำหนดทิศทางให้เป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกัน อาทิ การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรในการขับเคลื่อนของภาคเอกชน มาหลอมรวมกับจุดแข็งด้านบุคลากรในการทำงานระดับพื้นที่ของภาคประชาสังคมในการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรโดยชุมชนมีส่วนร่วม ผ่านโครงการผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (BECCS) หรือโครงการผลิตถ่านชีวภาพ (Biochar) จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green) เป็นต้น
ที่มา : MgrOnline