ก.ล.ต.เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกลงทุน

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 11:13:23
X
ประเด็นหลัก:
• มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจชักชวนลงทุน
• ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง
• ก.ล.ต. แนะนำ 3 ข้อสังเกตเพื่อป้องกันตัวเอง
ข้อสังเกต:
1. การยิงโฆษณา: ระวังโฆษณาที่ปรากฏในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะที่มีข้อเสนอผลตอบแทนสูงเกินจริง
2. การขอเลขบัญชี: อย่าให้เลขบัญชีกับบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ
3. การตรวจสอบข้อมูล: ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจกับ ก.ล.ต. ก่อนลงทุน


สำนักงาน ก.ล.ต. เตือนผู้ลงทุนระวังมิจฉาชีพหลอกลวง แอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจชักชวนให้ลงทุน สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูง พร้อมแนะนำ 3 ข้อสังเกตระมัดระวังก่อนลงทุน การยิงโฆษณาในพื้นที่โฆษณาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ การให้ส่งเลขบัญชีโอนเงินที่เป็นชื่อของบริษัทที่นำมาแอบอ้างเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายให้ผู้ที่สนใจ และเชิญชวนให้เข้ากลุ่มสนทนาเพื่อรับฟังข้อมูลการลงทุน


นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. แจ้งเตือนประชาชนและผู้ลงทุนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพหลอกลวง แอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจชักชวนให้ลงทุน สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูง พร้อมแนะนำ 3 ข้อสังเกตระมัดระวังก่อนลงทุน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ภัยหลอกลวงลงทุนได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนเป็นมูลค่าสูงมาก และมักมาพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างแนบเนียน จนทำให้ผู้ถูกชักชวนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นการชักชวนโดยบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากสถิติการดำเนินการของ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสรวมทั้งสิ้น 3,451 ครั้ง โดยมีบัญชีโซเชียลมีเดียเข้าข่ายหลอกลงทุนที่ประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อปิดกั้น จำนวน 1,877 บัญชี โดยได้ปิดกั้นไปแล้วร้อยละ 99 และส่วนที่เหลือเป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องการหลอกลงทุนกรณีอื่นๆ

สำหรับพฤติการณ์หลอกลวงที่พบในระยะนี้ เช่น มิจฉาชีพมักยิงโฆษณาในพื้นที่โฆษณาของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เหมือนกับบริษัททั่วไปที่จะยิงโฆษณาเพื่อกระตุ้นการซื้อในสินค้าหรือบริการ โดยภาพและข้อความของโฆษณามักแอบอ้างชื่อ/โลโก้ของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดและคิดว่าเป็นโฆษณาของบริษัทที่อ้างมา พร้อมด้วยข้อความเชิญชวนให้เข้ากลุ่มสนทนาเพื่อรับฟังข้อมูลการลงทุน เช่น การซื้อขาย Big Lot และเมื่อเข้ากลุ่มมาแล้วหากแสดงความสนใจ มิจฉาชีพจะเข้ามาคุยกับผู้ที่สนใจเป็นการส่วนตัว และโน้มน้าวให้ลงทุนพร้อมกับจัดส่งลิงก์หน้าเว็บไซต์จริงของบริษัทที่นำไปแอบอ้าง เมื่อถึงขั้นตอนการโอนเงินเพื่อเปิดบัญชีซื้อขาย จะส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมและบัญชีธนาคาร (ของเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งที่เป็นชื่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคล) ที่ไม่ใช่ชื่อของบริษัทที่นำมาใช้แอบอ้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการหลอกลวงที่แนบเนียบขึ้น โดยมิจฉาชีพจะส่งเลขบัญชีโอนเงินที่เป็นชื่อของบริษัทที่นำมาแอบอ้างเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายให้กับผู้ที่สนใจ แต่หลังจากนั้นการโอนเงินเพื่อซื้อในครั้งถัดๆ ไป จะลวงให้โอนเงินค่าซื้อเข้าบัญชีอื่น (ของเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งที่เป็นชื่อของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ที่ไม่ใช่ชื่อของบริษัทที่นำมาใช้แอบอ้าง

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับข้อมูลชักชวนให้ลงทุน โดยฉพาะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่าหลงเชื่อเมื่อพบความผิดปกติ และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยมีจุดสังเกต 3 ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนี้ (1) หากถูกทักส่วนตัวและชักชวนลงทุนในช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ส่งข้อความในไลน์ส่วนตัว หรือกล่องข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊ก (Messenger) ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ เพราะผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่มักไม่ชักชวนลงทุนในลักษณะส่วนตัวผ่านโซเชียลมีเดีย (2) หากถูกชักชวนโดยอ้างชื่อ/ภาพของบุคคลใดก็ตามในข้อความโฆษณา ให้สงสัยไว้ก่อนและสอบถามด้วยตัวเองกับบริษัทที่ถูกอ้างชื่อว่า มีบุคคลนั้นเป็นบุคลากรทำหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุนอยู่ในบริษัทจริงหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือมีชื่อเสียง รวมทั้งต้องตรวจเช็กด้วยว่าบริษัทนั้นๆ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และ (3) ก่อนโอนเงินชำระค่าเปิดบัญชีซื้อขายหรือค่าซื้อต้องตรวจดูชื่อบัญชีธนาคารปลายทางก่อนโอนทุกครั้งว่า เป็นชื่อบัญชีของบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนจริงหรือไม่

นายเอนก กล่าวว่า “ภัยหลอกลวงลงทุนถือเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลกระทบทางลบต่อประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมของประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการ “ป้อง ปราม ปราบ” ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเงินการลงทุน รวมทั้งสามารถป้องกันตนเองจากภัยหลอกลงทุน นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการป้องปรามอีกด้วย เช่น การปิดกั้นแพลตฟอร์มหลอกลงทุน เป็นต้น เพื่อยับยั้งหรือจำกัดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนไม่ให้ขยายออกวงออกไปให้มากทึ่สุด” นายเอนก กล่าว

ที่มา : MgrOnline