งานหิน! เชียงรายเล็งรื้อตึก-อาคารริมน้ำสาย กันพื้นที่ห่างฝั่ง 40 เมตรแก้น้ำท่วม

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 06:17:26
X
• รื้ออาคารสิ่งก่อสร้างริมน้ำสาย: เพื่อสร้างพื้นที่ว่างริมน้ำอย่างน้อย 40 เมตร
• สร้างพนังถาวรให้สูงเพียงพอ: เพื่อป้องกันน้ำท่วม
• มุ่งแก้ปัญหาระยะยาว: เพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วมในอนาคต

เชียงราย - หลายหน่วยงานเปิดเวทีหารือแนวทางแก้น้ำท่วมเชียงรายระยะยาว..ลงความเห็นต้องรื้ออาคารสิ่งก่อสร้างริมน้ำสาย กันพื้นที่ห่างฝั่งอย่างน้อย 40 เมตร สร้างพนังถาวรให้สูงพอ แต่แค่สำรวจเบื้องต้นพบผู้ครอบครอง ผู้เช่าพื้นที่ ผู้ใช้ประโยชน์ สุดซับซ้อน

ฝ่ายปกครอง จ.เชียงรายได้จัดประชุม ณ ที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งเทศบาล ต.แม่สาย และเทศบาล ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย อย่างถาวรหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมหารือ เห็นควรว่าหากจะแก้ไขปัญหาน้ำเข้าท่วมชุมชนชายแดนแม่สายต้องให้อาคารที่สร้างอยู่ติดลำน้ำสาย ซึ่งเป็นเส้นเขตแดน โยกย้ายออกห่างจากฝั่งน้ำเป็นระยะทางประมาณ 40 เมตร และสร้างพนังกั้นน้ำที่ถาวร อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งและมีการสร้างอาคารสถานที่เอาไว้มานาน รวมทั้งตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวชายแดนก็อยู่ติดกับลำน้ำสายอีกด้วย

นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย กล่าวว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงระดมกำลังฟื้นฟูชายแดน อ.แม่สาย โดยเฉพาะนำดินโคลนออกไปทิ้ง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก กระทั่งกองกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) ของฝ่ายปกครองก็จะเริ่มถอนกำลังกลับตั้งแต่วันนี้ (21 ต.ค.) แล้ว และถัดไปในวันที่ 28 ต.ค.กองกำลังทหารฝ่ายต่างๆ ก็จะกลับที่ตั้ง เป็นต้น

จากนั้นเทศบาล ต.แม่สายก็จะรับช่วงในการฟื้นฟูส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งพบปัญหาใหญ่คือ ระบบระบาย-จัดส่งน้ำให้ประชาชนไม่เหมือนเดิม เพราะดินโคลนเข้าไปอุดตันหมด สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวทางจังหวัดได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า โยธาธิการและผังเมือง ธนารักษ์ ส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เห็นควรว่าอาคารบ้านเรือนต้องอยู่ห่างจากริมฝั่งประมาณ 40 เมตร

สำหรับการดำเนินการ ได้มีการตั้งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดแรกเข้าไปสำรวจพื้นที่ทั้งหมดเพื่อนำมาประกอบการออกแบบ ชุดที่ 2 เข้าไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และชุดที่ 3 คือนำข้อมูลมาออกแบบเพื่อดำเนินการในอนาคต

ตนเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจอกับเหตุอุทกภัยแบบนี้ต่อไป แต่อาคารที่อยู่ริมฝั่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมากและซับซ้อน เช่น ริมฝั่งน้ำสายด้านตลาดสายลมจอย มีผู้เช่าเพียง 10 ราย แต่กลับมีผู้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่จริงถึงกว่าประมาณ 120 ราย เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะตอนนี้ระบบป้องกันน้ำท่วมที่เคยมีในอดีตเสียหายทั้งหมด 100% แล้ว จากกระแสน้ำที่เข้าท่วมเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันกำลังมีการสร้างพนังและบิ๊กแบ็กใหม่ ในระยะยาวคงต้องสร้างพนังถาวรเฉพาะฝั่งไทยเป็นหลักก่อน

ด้านนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ได้นำทีมงานฝ่ายแผนงานและยุทธศาสตร์ลงพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากลำน้ำสายล้นฝั่งทะลักเข้าท่วมเป็นจุดแรกๆ พร้อมระบุว่าการป้องกันน้ำสายล้นตลิ่งในฤดูน้ำหลากถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีการสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราวสูงเกือบ 3 เมตรเอาไว้ในบางจุด แต่ในระยะยาวทาง อบจ.เชียงรายได้เสนอให้มีการสร้างพนังแบบถาวรที่มีความแข็งแรงและสูง รับกระแสน้ำได้ คาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะได้หารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนกรณีการกันพื้นที่ริมฝั่งออกไป 40 เมตรนั้น อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินแต่จะได้หารือกันต่อไป



ที่มา : MgrOnline