ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าแถลงผ่านทีวีเชิญกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าร่วมเจรจาสันติภาพเป็นครั้งที่ 2

เผยแพร่ : 16 ต.ค. 2567 16:34:11
X
• ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เชิญกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ
• มุ่งยุติความขัดแย้งทางอาวุธทั่วประเทศ
• เป็นการเชิญครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงเดือน
• สะท้อนความพยายามของรัฐบาลทหารในการผลักดันการเจรจาอย่างเปิดเผย

เอพี - ผู้นำรัฐบาลทหารพม่ากล่าวเชิญกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งทางอาวุธทั่วประเทศอีกครั้ง ที่นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงเดือนที่นายพลที่ปกครองประเทศได้ส่งเสริมการเจรจาอย่างเปิดเผย

ข้อเสนอของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐเนื่องในวันครบรอบ 9 ปี ของการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ที่ราวครึ่งหนึ่งขององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ 21 กลุ่มของประเทศ เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทัพได้ประกาศคำเชิญโดยตรงสำหรับการเจรจาสันติภาพนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือนก.พ. 2564 โดยคำเชิญมุ่งเป้าไปที่กองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตยรวมถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่คำเชิญดังกล่าวถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็ว

ในการออกอากาศสั้นๆ เมื่อวันอังคาร (15) พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า สภาทหารที่ปกครองประเทศจะปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงหยุดยิงเพื่อสันติภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เจรจาปัญหาของพวกเขาผ่านการเจรจา

“ความปรารถนาไม่สามารถเรียกร้องผ่านความรุนแรงด้วยอาวุธได้ แต่สามารถเจรจาที่โต๊ะการเมืองด้วยสันติวิธีเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว

หลายทศวรรษที่ผ่านมา พม่าได้เห็นวัฏจักรของการหยุดยิงที่นำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งสันติภาพที่ไม่ต่อเนื่อง แต่ไม่มีครั้งใดที่นำไปสู่การยุติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างครอบคลุม ที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้อำนาจในการปกครองตนเองในระดับที่พวกเขาแสวงหาในพื้นที่ชายแดนที่พวกเขาครอบครองอยู่

ปัจจุบัน กองทัพกำลังต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงกลุ่มกองโจรติดอาวุธหลายร้อยกลุ่มที่เรียกรวมๆ ว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยหลังจากกองทัพยึดอำนาจ

ในช่วงปีที่ผ่านมา กองทัพประสบกับความพ่ายแพ้ในสนามรบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และดูเหมือนว่าการโจมตีรุกคืบจะอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้าน

ในเดือนต.ค. 2558 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง และในเดือนก.พ. 2561 ภายใต้รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี มีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 2 กลุ่มเข้าร่วม

กองทัพมองว่าการหยุดยิงเป็นก้าวหนึ่งในการยุติการกบฎของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน การคงไว้ซึ่งการหยุดยิงกับกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปนั้นมีความสำคัญในเชิงยุทธวิธีสำหรับรัฐบาลทหาร เพื่อที่รัฐบาลทหารจะไม่ต้องสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียวกัน

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจและมีขนาดใหญ่บางกลุ่มเช่นกองทัพเอกราชกะฉิ่น และกองทัพสหรัฐว้า ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากพวกเขามองว่าขาดความครอบคลุม

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่าบางกลุ่มที่ลงนามในข้อตกลงได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2564 และเข้าเป็นแนวร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงา

กองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง ชิน และปะโอ พร้อมด้วยองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่าต่างปฏิเสธการเจรจาสันติภาพ

“เราเห็นว่าสิ่งที่กองทัพกำลังทำอยู่เป็นเพียงการสร้างเงื่อนไขเพื่อยืดเวลาให้กับการปกครองแบบเผด็จการทหาร ยังไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับการเจรจาที่นำโดยกองทัพในตอนนี้” โฆษกแนวร่วมนักศึกษา กล่าว

ที่มา : MgrOnline