“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ส่ง “แม่หยัว” ดิ้นสู้วิกฤตละคร เผยทางรอดเดียว ต้องแข่งกับมาตรฐานสากลให้ได้!

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 08:25:46
X
• เป็นซีรีส์ฟอร์มใหญ่และทำยากที่สุด: แม้มีแค่ 10 ตอน แต่ยากกว่าซีรีส์ 50 ตอนที่เคยทำมาก่อน
• ไม่ได้ตรงประวัติศาสตร์แบบเป๊ะๆ: บันทึกประวัติศาสตร์มีน้อย ทำให้เนื้อหาต้องอาศัยการตีความและทัศนคติของผู้เล่าในช่วงเวลานั้น
• จะเป็นดรามาพีเรียตที: เน้นความบันเทิงและดึงดูดผู้ชม

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เผย “แม่หยัว” แข่งมาตรฐานสากล เชื่อเป็นทางรอดเดียววิกฤตละคร ไม่รู้ทำได้ไหม แต่ทุ่มเทและตั้งใจ เป็น 10 ตอนที่เหนื่อย หากเทียบกับ 50 ตอนเมื่อก่อน บอกคนเบื้องหน้าเบื้องหลังเหนื่อย แต่เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ชี้คนดูน่าจะรู้เราสู้กับวิกฤตละคร 

ช่วงที่ผ่านมานี้คำว่า วิกฤตละคร คงเป็นคำที่เหล่าผู้จัดและนักแสดงหลายๆ คนได้มีการพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ เมื่อการผลิตละครน้อยลง ก็ย่อมสร้างผลกระทบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ซึ่งในเรื่องนี้ผู้กำกับฝีมือดีอย่าง “สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ได้ออกมาเปิดใจในงานเปิดตัวซีรีส์ฟอร์มยักษ์แห่งปี แม่หยัว ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 8 ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ยอมรับว่าตนกับทีมงานก็พยายามจะสู้กับวิกฤตินี้อยู่เช่นกัน และซีรีส์เรื่องนี้คนดูจะได้เห็นว่าพวกตนทำงานกันหนักมากแค่ไหน

“เราก็ตื่นเต้นเหมือนกันครับว่าออกมาแล้ว สำหรับตัวเองก็ดูหลายรอบ คราวนี้ก็อยากรอฟังคอมเมนต์จากทุกคนว่าได้ดูแล้วเป็นยังไง พวกเราก็ใส่สุดกันไปหมดแล้วทุกคน คราวนี้ก็รอฟังคำวิจารณ์ครับ คือยังไงเราก็ต้องตามหลักไสยศาสตร์ แล้วเราต้องตีหัวเข้าบ้านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นยังไงอีพีแรกเราต้องเอาให้อยู่ หน้าที่ของอีพีแรกคือเอาคนให้อยู่ดูต่อกับเราไปให้ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยทำไปด้วยความเชื่อที่ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น

ความยากในการทำเรื่องนี้คือรายละเอียดมันเยอะมั้งครับ รายละเอียดในทุกๆ อย่างเสื้อผ้าหน้าผม เซ็ตฉากวิถีชีวิต แมนเนอร์ของแต่ละคน อากัปกิริยา ทุกอย่างมันมีรายละเอียด แล้วมันเป็นเรื่องในรั้วในวังด้วย เราก็ไม่ได้เกิดมาแบบนั้นซะด้วย (หัวเราะ) ก็ต้องศึกษารีเสิร์จหาคนที่มีความรู้มาช่วยครับ”

ยอมรับมีการขยายความจากประวัติศาสตร์ เพราะที่บันทึกไว้จริงมีน้อยมาก
“คืออย่างที่พี่ลักษณ์ (ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์) เคยให้สัมภาษณ์ตอนจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์เราคิดจากช่องว่างของตัวประวัติศาสตร์ ที่บางอย่างมันเป็นการตีความเอาเองของผู้ถูกบันทึก บางอย่างประวัติศาสตร์ถูกเขียนหลังจากเกิดมาแล้วประมาณ 80 ปี 100 ปี เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ใครเขียนก็เป็นทัศนคติของคนนั้น แล้วเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง ในประวัติศาสตร์มันถูกบันทึกไว้น้อยมากตามสภาพสังคมของไทย เพราะฉะนั้นไทม์ไลน์มันอาจจะตรงกัน แต่ในรายละเอียดพบว่ามันอยู่ที่การตีความของผู้เล่าในแต่ละคนครับ

คือในแง่ของตัวละครมันจะมีความเป็นมนุษย์กันมากขึ้นทุกคน มันจะมีทั้งด้านดี ด้านร้าย ทุกคนจะเทาๆ มีความต้องการที่ไม่เชิงอุดมคติซะทีเดียว ต้องการแบบมนุษย์กันอย่างชัดเจน และมีด้านมืดกันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นละครพีเรียดดรามาแบบค่อนข้างจะสมจริงสมจัง และค่อนข้างจะเข้าไปเล่าน้ำเนื้อข้างในของตัวละครของแต่ละคนเยอะครับ

เราหยิบเอาเรื่องนี้มาเล่า แล้วคิดว่าจากประวัติศาสตร์ที่มันมีการหักกันไปหักกันมาอยู่ตลอด 400 กว่าปี อย่างไรเสียผมเชื่อว่ามันมีความรู้สึกของมนุษย์แบบนี้เกิดขึ้นในการหักกันไปหักกันมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพอเอามาทำเป็นซีรีส์ แล้วเราเข้าไปเล่าในใจของแต่ละตัวละครได้ มันก็ทำให้ซีรีส์มันความเข้มข้นและน่าติดตามครับ”

ตั้งใจทำแข่งกับมาตรฐานสากล แข่งกับทุกอย่างเพื่อสู้วิกฤตละคร
“ในแง่การให้ความรู้ข้อมูลเราขอไม่พูดถึง เพราะพบว่ามันเป็นการตีความของคนทำอย่างหนึ่ง แต่ว่าอย่างหนึ่งที่คนดูจะได้รับรู้แน่ๆ เลย ผมรู้สึกว่าคนดูน่าจะได้รับรู้ว่าละครโทรทัศน์ดีๆ มันยังมีอยู่ มันเกิดขึ้นได้จากพวกเราทุกคนทุกภาคส่วนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คนดูน่าจะได้รู้ว่าพวกเรากำลังสู้กับคำว่าวิกฤตละครโทรทัศน์อยู่ และผมเชื่อว่ามันเป็นทางรอดเดียวจริงๆ ที่จะทำให้วิกฤตนี้มันรอด เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เราต้องแข่งกับมาตรฐานสากลให้ได้ เราต้องแข่งกับความไม่ชอบ หรือความแอนตี้ละครโทรทัศน์ให้ได้ ซึ่งถ้าเกิดเราแข่งได้ เราสู้ได้ เราก็จะมีโอกาสรอด

ถามว่าแม่หยัวจะกอบกู้วิกฤตละครในตอนนี้ได้ไหม ไม่ทราบครับ ไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ทำจากความตั้งใจนั้น แต่เราทุ่มเทกันมาก เรียกว่าเป็นละคร 10 ตอนที่เราเหนื่อยมากถ้าเทียบกับละคร 20 กว่าตอน 50 อีพีที่เคยทำมายังไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อยเท่านี้ แต่เรื่องนี้เหนื่อยมากจริงๆ ไม่ใช่แค่ผมนะ ทุกคนเหนื่อยกันหมดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ถ้าไปเห็นสภาพทีมงานของเราทุกแผนกคือคิวท้ายๆ เอามาแต่งกายหยาบ กายอยู่ไหน ทุกฝ่ายเป็นแบบนั้น แต่ผมเชื่อว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันมา เลยทำให้ลุยกันต่อไปได้”







ที่มา : MgrOnline