SCB FM มองบาทแนวโน้มบาททรงตัวในกรอบ 33.10-33.60 ในช่วง 1ทเดือนข้างหน้า

เผยแพร่ : 16 ต.ค. 2567 18:57:32
X
• กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ 2.25% ด้วยคะแนนเสียง 5:2
• เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังประกาศของ กนง.
• เงินบาทมีการปรับตัวกลับมาใกล้เคียงระดับเดิม
• SCB FM ยังคงมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets : SCB FM) เปิดเผยว่า หลัง กนง. มีมติ 5:2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาที่ 2.25% เงินบาทปรับอ่อนค่าเล็กน้อย ก่อนที่จะมี Correction กลับมาที่ระดับใกล้เคียงเดิม SCB FM มองว่าในระยะ 1 เดือนนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 33.10-33.60 ก่อนที่ในช่วงปลายปี เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในกรอบ 32.50-33.00

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส มองว่า กนง. ยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงต่อ (เหลือการประชุมอีก 1 รอบในปีนี้) แต่การตัดสินนโยบายต่อไปจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ใกล้เคียงกับระดับดอกเบี้ยดุลยภาพ (Neutral rate) แล้ว

โดยหลังผลการประชุม กนง. เงินบาทปรับอ่อนค่า ก่อนที่จะมี Correction กลับมาที่ระดับใกล้เคียงเดิม ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yields) ปรับลดลง โดย yields ระยะ 2 ปี ปรับลดลง 10 bps มาที่ราว 1.91% ส่วน yields ระยะ 10 ปี ปรับลดลง 8 bps มาที่ราว 2.42%

ทั้งนี้ มองว่าในระยะ 1 เดือนนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 33.10-33.60 หลังจากที่มี Correction ปรับอ่อนค่าขึ้นมาตามที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังไม่อ่อนแอลงมากจนทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด อีกทั้ง สงครามในตะวันออกกลางจะยังไม่ทวีความรุนแรง และการเมืองไทยจะยังไม่เปลี่ยนอย่างมีนัย

ในช่วงปลายปี ยังมองเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในกรอบ 32.50-33.00 หาก Harris ชนะการเลือกตั้ง และเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยฟื้นตัวได้ตามที่ประเมิน ซึ่งอาจทำให้ตลาดทยอย Price-out rate cuts ของ กนง. ออกไปบ้าง (ปัจจุบันตลาดมองลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในไตรมาสแรกปีหน้า และให้โอกาสราว 80% ที่จะลดอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ปีหน้า) ซึ่งจะทำให้ yields ทยอยกลับมาสูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับเหตุผลหลักในการลดดอกเบี้ยรอบนี้คือ เสถียรภาพระบบการเงิน (ด้านสินเชื่อ) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะไม่ทำให้หนี้ใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะสินเชื่อครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จึงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt deleveraging) อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ย และทำให้การชำระหนี้ดีขึ้น

ด้านมุมมองเศรษฐกิจ กนง. มองว่ามีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อไปได้

ด้านเงินเฟ้อ กนง. มองว่าจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี และความเสี่ยงเงินฝืดยังต่ำ เพราะราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้างและต่อเนื่อง

ธปท. ชี้แจงว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลจากแรงกดดันทางการเมือง แต่รับว่าได้นำมุมมองจากฝั่งการเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานโยบาย สำหรับเป้าเงินเฟ้อจะมีการพูดคุยกันอีก โดยจะดูแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว และกรอบเงินเฟ้อต้องยืดหยุ่นและไม่ควรอยู่สูงเกินไป

ที่มา : MgrOnline