“จตุพร”เชื่อ ยธ.-ดีเอสไอ จ้องดำเนินคดี“ส.ว.อั้งยี่-ซ่องโจร” หวังทุบพรรคร่วมฯ ให้ยอม
เผยแพร่ : 24 ก.พ. 2568 11:15:28
• นายจตุพร เชื่อว่าเป็นการเล่นการเมืองใหญ่ เพื่อต่อรองอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาล
• นายจตุพร มองว่าการดำเนินคดีดังกล่าวไม่ใช่การเอาผิดด้วยความจริงใจ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์โดยเชื่อว่า กระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จ้องดำเนินคดี “สว.อั้งยี่-ซ่องโจร” สะท้อนถึงการเมืองเล่นใหญ่ หวังทุบเพื่อต่อรองอำนาจในพรรคร่วมรัฐบาล และไม่ได้เอาจริงจังให้เกิดบรรทัดฐานยุติธรรมกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
อีกทั้งระบุว่า วันนี้ (23 ก.พ.) ครบรอบ 34 ปีของทหารบกรหัส 0143 เข้ายึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 ก.พ. 2534 จากนั้นตามมาด้วยเหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 และ 22 พ.ค. 2557 โดยขณะนี้เริ่มมีเสียงแว่วเหตุการณ์แบบนี้กันมาอีกแล้ว เพราะแต่ละเรื่องของการเมืองในรัฐบาลล้วนเดินไปสู่สาเหตุนำไปอ้างยึดอำนาจได้ทั้งสิ้น
“ยิ่งกรณี ดีเอสไอ จะดำเนินคดี 138 จาก 200 สว.ในข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร ซึ่งเป็นข้อหาหนักกับคนทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และจะลุกลามบานปลายให้การเลือกตั้ง สว.ปี 2567 โมฆะหรือไม่”
นายจตุพร กล่าวว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ คณะกรรมการคดีพิเศษ หรือบอร์ดคดีพิเศษที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะประชุมพิจารณารับคดีสั่งฟ้อง สว.138 คนเป็นคดีพิเศษหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเลือกตั้ง สว. 2567 อาจมีการฮั้วกันแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ออกแบบไว้ให้ฮั้วกันในกลุ่ม สว.สายอาชีพมาเลือกไขว้กัน ดังนั้น ถ้า สว. 138 คนทำผิดตามข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจรจริงแล้วจะลุกลามถึงการเพิกเฉยการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยหรือไม่
"ประเด็นหลักคือ จะไปถึงขั้นโมฆะทั้ง 200 สว.หรือไม่ ถ้าโมฆะ สว.ชุดเก่าอาจกลับมาทำหน้าที่รักษาการณ์จนกว่าจะมี สว.ใหม่หรือไม่ ดังนั้น 25 ก.พ.นี้ นายภูมิธรรม จะกล้าสั่งให้นำเรื่องดำเนินคดีเข้าบอร์ดคดีพิเศษหรือไม่"
นายจตุพร กล่าวว่า บอร์ดคดีพิเศษจะรับหรือจะยื้อคดี สว.อั้งยี่-ซ่องโจร จึงเป็นภาพสะท้อนการต่อรองทางการเมืองกันชัดเจน ยิ่งการฟ้อง สว.ตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ยังแสดงถึงเกมการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการทุบบางพรรคให้ยอมในพื้นที่ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของพรรคแกนนำ
"ถ้า สว.ทำผิดจริงตามข้อหาของดีเอสไอแล้ว คนติดคุกต้องเป็น กกต. เพราะมีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว ไปรับรองได้อย่างไง ดังนั้นความผิดอยู่ที่คุณ เพราะผลการเลือกตั้งของคุณนำพาไปสู่คดีอั้งยี่-ซ่องโจรได้ไง”
พร้อมทั้งกล่าวว่า การทุบเพื่อต่อรองทางการเมือง เกิดขึ้นเป็นระยะในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะปัญหาตรวจสอบที่ดินทั้งกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ เขากระโดง ภูสอยดาว และล่าสุดสนามกอล์ฟเขาใหญ่-ปากช่อง ที่โยงไปพัวพันญาตินายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
“กรณีเหล่านี้เข้้าข่ายเป็นเกมการเมืองแบบทุบเพื่อต่อรองทั้งสิ้น และไม่ใช่การตรวจสอบที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่ดินระดับประเทศ อีกอย่างเพื่อไทยเล่นเกมแรงทุบเพื่อต่อรองนั้น ไม่แน่ชัดว่าต้องการต่อรองอะไรกันแน่ แม้แว่วมาว่าเพื่อต่อรองการแก้ รธน.จากภูมิใจไทย แต่เพื่อไทยกลับหนีลงมติแก้ รธน.มากที่สุด”
นอกจากนี้ ในทางการเมืองแล้ว เห็นเส้นสายความผิดปกติและสงสัยในความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมีมาตลอด และยิ่งในเดือนมีนาคม-เมษายนการผลักดันบ่อนกาสิโนและพนันออนไลน์จะเร่งรีบขึ้นตามคำประกาศของพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร และลูกสาวที่เป็นนายกฯ
นายจตุพร กล่าวถึงทักษิณ ไปนราธิวาสว่า ทักษิณ กล่าวขออภัยคนภาคใต้ในเหตุการณ์ตากใบเมื่อตุลาคม 2547 สมัยทักษิณเป็นนายกฯ แต่การพูดขออภัยแสดงถึงการหลีกเลี่ยงที่จะพูดขอโทษ เพราะคำพูดขออภัยเป็นคำพูดสื่อสารในความผิดเล็กน้อยปกติ ซึ่งไม่ใช่กรณีเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ตากใบจนทำให้คนตายมากกว่า 78 คน ดังนั้น การขออภัยจึงสะท้อนถึงไม่สำนึกรับผิดชอบกับนโยบายที่ผิดพลาดรุนแรงถึงขั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิต
"หากเปรียบเทียบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (เป็นนายกฯ ปี 2550) ลงใต้ยังกล่าวขอโทษในนามรัฐบาลต่อเหตุการณ์ไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่วันนี้ทักษิณ ลงใต้ ยิ่งปฎิเสธไม่ได้เลย เพราะชายแดนใต้ไม่สงบมาจากนโยบายสมัยทักษิณ เป็นนายกฯ ดังนั้น คำว่าขออภัยจึงมีความหมายที่เบากว่าคำว่าเสียใจ และคำพูดรับผิดชอบสูงสุดกับเหตุการณ์รุนแรงคือคำขอโทษ แต่ไม่ค่อยได้ยินหัวหน้ารัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนได้กล่าวขอโทษอย่างจริงออกมาเลย
อีกทั้งกล่าวว่า ทักษิณ ไปนราธิวาส เพราะทำหน้าที่ที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย แต่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นปัญหาของไทยโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมามาเลเซียไม่ให้ความร่วมมือแก้ปัญหาขบวนการสำคัญที่หลบซ่อนในมาเลเซียแต่มาเคลื่อนไหวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ยิ่งกว่านั้น ในสมัยทักษิณ เป็นนายกฯ ได้ยกเลิก ศอ.บต. และ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท. 43 จนนำพาให้ชายแดนใต้ไปสู่ความไม่สงบจนถึงขณะนี้ และทุกรัฐบาลแก้ไขไม่ได้ ส่วนชีวิตประชาชนและวัดได้รับผลกระทบ ต้องมีบังเกอร์ไว้เป็นที่หลบซ่อนตัว
"แล้วทักษิณกลับลงใต้กล่าวคำพูดแค่ขออภัย ซึ่งเป็นสิทธิ์ของทักษิณ และเป็นสิทธิ์ของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่สูญเสียในแต่ละเหตุการณ์จะได้ซึมซับกับคำพูดขออภัยที่แตกต่างจากคำขอโทษกับเหตุการณ์รุนแรงและชีวิตที่สูญเสียไป แม้เปลี่ยนแปลงไมได้แล้ว แต่ควรขอโทษอย่างจริงใจ ดังนั้น เราจึงมองกันคนละมิติ"
ประเทศไทยต้องมาก่อน
ที่มา : MgrOnline