“อิ๊งค์” ย้ำ น้ำท่วมเหนือจบแล้วเที่ยวได้ สั่งระดมช่วยใต้ เร่งเยียวยา เคาะมาตรการรับมือไฟป่า-ควัน-PM 2.5

เผยแพร่ : 29 พ.ย. 2567 13:47:55
X
• เร่งช่วยเหลือภาคใต้: รัฐบาลเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้และดำเนินมาตรการเยียวยา
• รับมือไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM2.5: ครม. อนุมัติมาตรการรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 โดยเน้นการควบคุมการเผาไหม้ทางการเกษตรและตรวจสอบควันดำจากรถยนต์

นายกฯ ย้ำ น้ำท่วมภาคเหนือจบแล้ว มั่นใจภาคเหนือเที่ยวได้ สั่งระดมช่วยเหลือน้ำท่วมใต้-เร่งมาตรการเยียวยา ครม. เห็นชอบมาตรการรับมือไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM 2.5 คุมพื้นที่เผาไหม้พืชเกษตร-เข้มตรวจรถควันดำ


วันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.20 น. ที่ มรภ.เชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม จ.เชียงใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร ) ว่า วันนี้เป็นการประชุม
ครม.สัญจร ครั้งแรก ที่มาจังหวัดเชียงใหม่ และจะลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อ จึงถือโอกาสติดตามเรื่องของอุทกภัยและการเยียวยาที่จะดูแลประชาชน ยืนยันว่า ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย สามารถท่องเที่ยวได้แล้ว และทั้งในและต่างประเทศ ก็สามารถท่องเที่ยวเหนือได้แล้ว เพราะน้ำท่วมจบเรียบร้อยแล้ว เมืองพร้อมเที่ยว

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า นอกจากนั้น จะมีงาน Winter festival ที่จะจัดทุกจังหวัดรวมกัน วันนี้จะมาตอกย้ำว่าภาคเหนือจะร่วมมือกับงานดังกล่าว และยังมีอีกหลายรายการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวให้เป็นจุดสนใจทั้งคนไทย และต่างชาติมาทำกิจกรรมในปลายปีและต้นปี 2568

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า หลังจบ ครม.สัญจร รัฐมนตรีจะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและหาทางใช้นวัตกรรมในการทำให้ปัญหาหมอกควันลดน้อยลง และดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยปีนี้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายแนวทาง และคาดว่า น่าจะช่วยบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างมาก

น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวว่า ครม.รับทราบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ ที่มีสาเหตุมาจากฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีปริมาณน้ำมาก ตนจึงสั่งการให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย รมช.มหาดไทย และ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ โดยจะอยู่หน้างาน เพื่อแก้ไขและให้ทำหน้าที่ต่อ โดยขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากคนในพื้นที่ว่าทาง กทม.ได้ส่งความช่วยเหลือ ทั้งเรือท้องแบน 7 ลำ เรือเครื่อง 5 ลำ รถกระบะ 2 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ มีเครน และมีเจ้าหน้าที่กู้ภัย 23 คน นายช่าง 4 คน รวมเป็น 27 คน เพื่อนำไปช่วยเหลือภาคใต้

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ ศบ.อต. ประสานงานกับ ศปช.ส่วนกลาง เร่งรัดสั่งการเรื่องการประกอบอาหารและโรงครัวพระราชทาน อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมให้อพยพประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสูง และจัดเตรียมหน่วยแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ดูเรื่องมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน

น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวว่า ครม.เห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ของไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง ในปี 2568 ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ เพื่อควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าวข้าวโพด อ้อย และจากโรงงานอุตสาหกรรม และควบคุมการเผาในกลุ่มพืชเป้าหมาย ตลอดจนควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมืองในช่วงที่มีวิกฤต PM 2.5 ให้ประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมือง และตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง และสร้างการจัดการหมอกควันข้ามแดนโดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ศูนย์แจ้งเตือน และศูนย์พัฒนาการเฝ้าระวังควบคุมระดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบและรับทราบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 พร้อมกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป สาระสำคัญ เช่น
1) พื้นที่เป้าหมาย
- พื้นที่ป่า : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จ.กาญจนบุรี และภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 25
- พื้นที่เกษตร : ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน (เช่น 17 จังหวัดภาคเหนือ เผาลดลงร้อยละ 30 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผาลดลงร้อยละ 20 ) และควบคุมการเผาในกลุ่มพืชเป้าหมาย (เช่น นาข้าว เผาลดลงร้อยละ 30 อ้อยโรงงานเผาลดลงร้อยละ 15)
- พื้นที่เมือง : ควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เมือง โดยควบคุมให้ยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบร้อยละ 100
2) การปฏิบัติการ
- ระยะเตรียมการ เช่น จัดทำแผนที่เสี่ยงเผาและแผนปฏิบัติการจัดการไฟป่า (ก.ทรัพยากรฯ) จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกรายชนิดของพืชเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผา (ก.เกษตรฯ)
- การจัดการไฟในป่า เช่น ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ จัดตั้งจุดตรวจและจุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการเผาป่า (ก.ทรัพยากรฯ) ควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง โดยในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ให้มีการออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมือง และตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง
(ก.คมนาคม ก.ทรัพยากรฯ สนง.ตำรวจแห่งชาติ กทม.) จัดการหมอกควันข้ามแดน โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ศูนย์แจ้งเตือน และศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน (ก.กลาโหม ก.ทรัพยากรฯ)
- กลไกการบริหารจัดการ เช่น แต่งตั้ง คกก. อำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ (รอง นรม. และ รมว. ดส. นายประเสริฐ เป็นประธาน) ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า 

ที่มา : MgrOnline