รถไฟ”เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”สร้างแล้ว 20% “กรมราง”พาดูอุโมงค์ ระบบระบายน้ำป้องกันภัยธรรมชาติ

เผยแพร่ : 29 พ.ย. 2567 02:05:42
X
• โครงการก่อสร้างแล้วกว่า 20%
• ออกแบบระบบระบายน้ำและอากาศภายในอุโมงค์ เพื่อรับมือกับพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติและมรสุม
• โครงสร้างอุโมงค์มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติครบถ้วน

“กรมราง”พาดูอุโมงค์รถไฟ”เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”สร้างแล้วกว่า 20 % เผยออกแบบระบบระบายน้ำ-อากาศแผ่นดินรับมือพื้นที่เสี่ยงเจอมรสุมผ่าน และสร้างมาตรฐานงานโครงสร้าง ที่มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติครบถ้วน

นายพิเชฐ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทาง”เด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ”ระยะทางรวมประมาณ 323.10 กม. ซึ่งแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ เป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) มีจำนวนสถานีรถไฟทั้งสิ้น 26 สถานี โดยเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันการก่อสร้างรวมมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 20 % โดยยังล่าช้ากว่าแผนประมาณ 3.7% ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มั่นใจว่า ในปี 2568 จะเร่งงานให้กลับมาทันกับแผนงานหรือเร็วกว่าได้แน่นอน

โดยการก่อสร้างรถไฟ ”เด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ” จะมีทั้งรูปแบบทางวิ่งระดับพื้นดิน ทางยกระดับ และยังมีอุโมงค์คู่ทางเดี่ยวจำนวน 4 อุโมงค์ ประกอบไปด้วย อุโมงค์สอง ในพื้นที่ จ.แพร่ ความยาว 1.175 กม. อุโมงค์งาวในพื้นที่จ.ลำปาง ความยาว 6.24 กม. อุโมงค์แม่กา ในพื้นที่ จ.พะเยา ความยาว 2.7 กม. และอุโมงค์ดอยหลวง ในพื้นที่จ.เชียงราย ความยาว 3.4 กม. นอกจากนี้แล้วยังมีการออกแบบก่อสร้างสะพานรถไฟ (Railway Bridge) ทางยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) ทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) และรูปแบบอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ

ทั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ เป็นเส้นทางที่อยู่ในโซนร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้บางครั้งเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงเกินความจุของลำน้ำ เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำและไหลเข้าสู่เส้นทางในบางจุด จึงต้องมีมาตรฐานงานโครงสร้าง ที่มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

ดังนั้น กรมการขนส่งทางราง จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยในระบบราง โดยศึกษาเส้นทางรถไฟบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงดินถล่ม ทางทรุด เพื่อนำมาออกแบบงานโครงสร้างเพื่อป้องกันและลดความเสียหายต่อทางรถไฟในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น และมีการศึกษาจากตัวอย่างภัยพิบัติต่อระบบรางและแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหากรณีเกิดภัยต่อระบบรางจากต่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย จีน และประเทศไทย

พร้อมทั้งได้มีการลงพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทางรถไฟ ดินถล่มในอดีต รวมถึงวิเคราะห์และพิจารณาในรายละเอียดของอิทธิพลจากน้ำฝน สภาพภูมิประเทศ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีลักษณะเป็นเขตร้อนชื้น มีฝนตก 6 -7 เดือน/ปี จึงทำให้น้ำฝนเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการเกิดภัยในระบบรางของประเทศไทย

ซึ่งจะมีการจัดทำมาตรฐาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. มาตรฐานโครงสร้างระบบระบายน้ำ สำหรับการแก้ไขภัยพิบัติในพื้นที่ 2. เกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) สำหรับโครงสร้างมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3. ระบบแจ้งเตือนที่จะสามารถแจ้งเตือน เมื่อเริ่มมีสัญญาณของการเกิดภัยพิบัติ

โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการออกแบบมาตรฐานโครงสร้างระบบระบายน้ำ รวมถึงได้คัดเลือกจุดที่มีความเสี่ยงสูง 10 จุดนำมาออกแบบและจัดทำรายการประมาณการราคา รวมถึงแผนการดำเนินงานแก้ไขระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน และนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นส่วนช่วยในการวางแผน เพื่อการออกแบบโครงสร้างทางรถไฟให้สามารถรองรับเหตุภัยบัติเมื่อเกินฝนตกหนักได้

@อุโมงค์ดอยหลวงและอุโมงค์งาว สร้างเร็วกว่าแผน

โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 กรมราง ได้มีการลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟ สายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ เพื่อดูเรื่องการออกแบบและก่อสร้างระบบระบายน้ำ บริเวณอุโมงค์ดอยหลวงและอุโมงค์งาว ซึ่งเป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว โดยปัจจุบันการขุดเจาะดำเนินการได้เร็วกว่าแผนงาน โดยอุโมงค์ดอยหลวง คืบหน้า 27.752% เร็วกว่าแผนงาน 7.597% ส่วนอุโมงค์งาว คืบหน้า 18.27% % เร็วกว่าแผนงาน 2.68 %

@ออกแบบ ระบบระบายน้ำและอากาศรวมถึงป้องกันดินถล่ม

โดยทั้งสองอุโมงค์ได้มีการออกแบบระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ และระบบระบายน้ำให้สอดคล้องคล้องกับปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้น เพื่อให้น้ำสามารถไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป นอกจากนี้ยังมีการออกแบบการป้องกันดินถล่มบริเวณหน้า Portal Tunnel และตลอดแนวเส้นทางรถไฟ โดยมีการตัดความชันของลาดดินให้ลาดต่ำลง เพิ่มท่อระบายน้ำ รวมถึงมีการออกแบบโครงสร้างอุโมงค์ให้ป้องกันแรงแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่งด้วย

อีกทั้งยังได้ลงพื้นที่บริเวณที่มีการก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง (Railway Arch Culvert / BEBO) ซึ่งนำมาใช้ในโครงการนี้เป็นโครงการแรกของประเทศไทย โดยก่อสร้างด้วยคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบโค้งสำเร็จรูปจากโรงงาน ลดปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ แต่มีความแข็งแรงและมีการกระจายน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรับแรงกดได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับสะพานแบบคานตรงทั่วไป สามารถขนส่งไปติดตั้งได้ง่ายที่หน้างาน ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ช่วยเพิ่มความสูงจากเดิม 2.5 -3 เมตร เป็น 4 เมตร และเพิ่มความกว้างให้ทางลอด เพิ่มทัศนวิสัยและลดผลกระทบให้ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกกว่าท่อลอดแบบเหลี่ยม (Box Culvert) ในอดีต

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการก่อสร้างลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard (CY)) 1 แห่ง เพื่อเป็นจุดขนถ่ายและกระจายสินค้า ที่เชื่อมต่อกับขนส่งรูปแบบต่าง ๆ เช่น รถบรรทุกสินค้า และรถเทรลเลอร์ เพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมต่อไปยังพรมแดนสปป.ลาว และสามารถกระจายสินค้าทางบกเข้าสู่ประเทศเมียนมา รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นต่อระบบราง โดยได้ดำเนินโครงการศึกษาฯ เพื่อจัดทำระบบแจ้งเตือนภัย (DRT Alert) รวมถึงการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติ อันจะช่วยให้ลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีต่อการเดินรถ และช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการระบบรางมากยิ่งขึ้นต่อไป

ที่มา : MgrOnline