สองสมาคมศัลยแพทย์ฯ ตกแต่งแห่งประเทศไทยผนึกกำลังจัดงาน Make Beauty Safe for LGBTQAI ให้ความรู้เพื่อศัลยกรรมที่ปลอดภัย
เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 23:01:44
1. เลือกแพทย์และวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
2. เลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน
3. ตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์
4. ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างถูกต้อง
ผู้เชี่ยวชาญแนะพิจารณา 4 ปัจจัยเพื่อการศัลยกรรมที่ปลอดภัย การเลือกแพทย์-วิสัญญีแพทย์ สถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงในการศัลยกรรมและได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ
เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทยจัดงาน Make Beauty Safe for LGBTQAI+ วาระพิเศษเพื่อเน้นย้ำสาระสำคัญของการศัลยกรรมปลอดภัยที่ต้องพิจารณาถึง 4 ปัจจัยสำคัญ การเลือกแพทย์-วิสัญญีแพทย์ สถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด พร้อมให้ข้อมูลการศัลยกรรมเต้านมและการเลือกใช้ซิลิโคนเต้านมสำหรับสาวข้ามเพศ แนะทุกการศัลยกรรมมีความเสี่ยงแต่หากพิจารณาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะช่วยลดความเสี่ยงในการศัลยกรรมและได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ โดยงานนี้ได้รับการสนับสนุนในบางส่วนจากบริษัทเครื่องมือแพทย์เกี่ยวกับการศัลยกรรมเสริมหน้าอก กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าเมนเทอร์ โดยบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เมดเทค (ประเทศไทย) จำกัด
ศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญของศัลยกรรมทุกชนิด ขึ้นกับความรับผิดชอบของแพทย์ สถานพยาบาล ผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ศัลยกรรมต่างจากธุรกิจอื่นที่ความเสียหายอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องทรัพย์สินและชื่อเสียง แต่หากเกิดความเสียหายจากการศัลยกรรมอาจเกิดอันตรายต่อผู้รับบริการ จึงขอส่งสาระสำคัญว่า Make Beauty Safe หรือ ศัลยกรรมปลอดภัยเป็นแก่นของการทุกศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสวย หากขาดเรื่องความปลอดภัย เรื่องอื่นก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเราสามารถรักษาความปลอดภัยไว้ได้ ศัลยกรรมนั้นเป็นเรื่องมีประโยชน์และมีความหมายต่อสังคม”
ภายในงานได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอินฟลูเอนเซอร์ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ประกอบด้วย รศ.นพ.กิดากร กิระนันทวัฒน์ นพ.ปิติ รุจนเวชช์ นพ. พีรยะ กนกศิลป์ ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ พญ.วนันยา โพธิ์ชัย นพ.วิศรุต ศรีวงษ์เรืองกิจ นพ.ศิวัตม์ ล้วนรักษา คุณกัญญ์วรา แก้วจีน คุณชนัญชิดา รุ่งเพชรรัตน์ และคุณฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ โดยมีแนวคิดที่เป็นประโยชน์ดังต่อไปนี้
อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ กล่าวว่า “แพทย์เป็นปัจจัยแรกๆ ที่ผู้รับบริการมักคิดถึงในเชิงของชื่อเสียงและการเป็นที่รู้จัก ในมุมมองของสมาคมวิชาชีพ ผู้รับบริการศัลยกรรมควรพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของศัลยแพทย์ด้านตกแต่งและเสริมสวย เพราะได้ผ่านการเรียนและฝึกฝนเฉพาะทาง 5-7 ปี เพื่อให้บริการบนพื้นฐานความปลอดภัยและแก้ไขขณะทำแล้วเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดเพื่อลดโอกาสเกิดความเสี่ยงต่างๆ ผู้รับบริการสามารถคัดกรองความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางได้ที่ เว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และเว็บไซต์แพทยสภา ที่มีข้อมูลการรับรองหลักสูตรเฉพาะทาง เนื่องจากศัลยกรรมเป็นบริการที่ไม่สามารถทดลองทำเหมือนบริการอื่นๆ ดังนั้น ไม่ควรรีบตัดสินใจ ควรปรึกษาแพทย์หลายท่าน จนพบแพทย์ที่เหมาะสมกับโจทย์ของตนเอง เมื่อคนไข้เลือกบริการบนพื้นฐานความปลอดภัยจะเป็นหัตถการเดียวที่ปลอดภัยทั้งชีวิต”
รศ.นพ.กิดากร กิระนันทวัฒน์ กล่าวว่า “ควรพิจารณาให้มีวิสัญญีแพทย์ที่ดูแลเราทั้งก่อน หลัง และระหว่างการผ่าตัดเพื่อสังเกตอาการและรายงานผลผู้ป่วยขณะที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดอยู่ นอกจากนี้ เครื่องมือแพทย์ หรือยาเป็นอีกปัจจัยสำคัญของศัลยกรรมปลอดภัย ควรศึกษาหาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจ แพทย์ที่มีจรรยาบรรณจะบอกข้อดีข้อเสียของเครื่องมือแพทย์ และมีข้อมูลอ้างอิงไปที่งานวิจัยที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ซิลิโคนเต้านม จะมีข้อมูลความปลอดภัย เช่น การในผู้ใช้ทั่วโลกและเป็นระยะเวลาเท่าไร เกิดความไม่ปลอดภัยกี่เปอร์เซ็นต์ สถานพยาบาลสะอาด ปลอดภัย ปัจจุบันสามารถดูเอกสารรับรองมาตรฐานจากราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด การเสริมหน้าอกเป็นผ่าตัดเสริมสวยทำแล้วควรจะดีขึ้น และความปลอดภัยมีความสำคัญมาก”
ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ กล่าวว่า “การสื่อสารระหว่างคนไข้กับแพทย์เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกอย่างในการผ่าตัดศัลยกรรมไม่ใช่เฉพาะเต้านม ควรเลือกแพทย์ที่รับฟังความต้องการของเรา พิจารณาบุคลิกเรา และเหตุผลในการทำหน้าอก ให้เวลาพูดคุยเพื่อค้นหาความต้องการที่ชัดเจนและตรงกับที่แพทย์สามารถทำให้ได้ การสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์กับคนไข้จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจและมีการแก้ไขน้อยลง”
ซิลิโคนสำหรับสาวข้ามเพศ
อ.ปิติกล่าวว่า “สำหรับสาวข้ามเพศ แพทย์จะฟังความต้องการของคนไข้ และพิจารณาในด้านกายภาพ เช่น ความกว้างจากฐานหน้าอกเดิม ความยืดหยุ่นของเนื้อ คนไข้ที่เคยมีประวัติการได้ฮอร์โมน ที่นอกจากทำให้มีเนื้อหน้าอกแล้ว ทำให้ผิวนิ่ม จะช่วยให้การเสริมหน้าอกมีปัญหาน้อยกว่าในคนที่มีเนื้อตึงและแข็ง ปัจจัยดังกล่าวทำมาพิจารณาเลือกขนาดของซิลิโคน ปัจจุบันซิลิโคนมีรูปทรงที่แตกต่างกัน ทรงกลม ทรงหยดน้ำ หรือผิวที่แตกต่างกัน ผิวเรียบ หรือผิวทราย โดยทั่วไปผมมีแนวโน้มที่จะเลือกซิลิโคนทีมีงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยรองรับ ได้รับ อย. จากไทยและสหรัฐอเมริกา การเลือกที่ถูกต้องทำให้ผลที่ออกมาแทบไม่ต่างกัน ปัจจุบันนอกจากคนไข้จะมาเสริมสวยแล้ว ยังต้องปลอดภัยในระยะยาวด้วย”
ปัจจุบันสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทยมีศัลยแพทย์ตกแต่งกว่า 400 รายชื่อสมาชิก ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับอนุมัติและวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือผู้ทรงคุณวุฒิในหลักสูตรสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง (Thai Board of Plastic and Reconstructive Surgery) จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา ตามหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งเป็นระยะเวลาของหลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร 7 ปี โดยประชาชนสามารถ ค้นหารายชื่อเพื่อตรวจสอบศัลยแพทย์ตกแต่งจากเว็บไซต์ของสมาคม https://www.thprs.org หรือ เฟสบุ๊ค facebook.com/ThaiPRS
ที่มา : MgrOnline