“ศุภมาส” นำทีมผู้บริหารกระทรวง อว.ลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเชียงใหม่ติดตามการจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ เตรียมการรับมือและวางแผนการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ
เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 21:21:54
• ติดตามความคืบหน้าแผนที่แบบเคลื่อนที่ (MMS) สำหรับบริหารจัดการน้ำ
• เตรียมรับมือและวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ
• ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม
“ศุภมาส” นำทีมผู้บริหารกระทรวง อว.ลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเชียงใหม่ติดตามการจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ (System (MMS) เพื่อเตรียมการรับมือและวางแผนการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมกว่า 1,200 สถานีทั่วประเทศและเตือนภัยน้ำหลากในลำน้ำสาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย จำนวน 4 สถานี จัดทำแผนที่น้ำท่วมช่วยวางแผนป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.อว. และคณะผู้บริหารกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการดําเนินงานของกระทรวง อว.ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ที่ จ.เชียงใหม่
โดย น.ส.ศุภมาสและคณะได้เดินทางไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการนำผลการดำเนินงานในการนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปร่วมพัฒนาพื้นที่รวมถึงแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนมานำเสนอ ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส ได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานเทคโนโลยีสำรวจการจัดทำแผนที่แบบเคลื่อนที่ (System (MMS)) เพื่อเตรียมการรับมือและวางแผนการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม “อว.เพื่อประชาชน” โดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และรายงานสถานการณ์การเฝ้าระวัง การช่วยเหลือบรรเทา การฟื้นฟูหลังสถานการณ์น้ำท่วมและการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคตในพื้นที่ 5 จังหวัดพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์น้ำท่วม (การเฝ้าระวัง การช่วยเหลือบรรเทา การฟื้นฟู) ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและพะเยา
จากนั้น น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า หลังเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา กระทรวง อว.โดย สสน.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือสำคัญ เช่น สถานีโทรมาตรอัตโนมัติของ สสน. ซึ่งมีอยู่กว่า 1,200 สถานีทั่วประเทศ สามารถตรวจวัดปริมาณฝนและระดับน้ำแบบเรียลไทม์ แสดงผลข้อมูลออนไลน์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยน้ำหลากในลำน้ำสาย จำนวน 4 สถานี เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยฝนตกหนัก น้ำท่วมหลาก และดินโคลนถล่ม ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และยังมีแผนขยายการติดตั้งสถานีโทรมาตรให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตต้นน้ำและพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานีติดตั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแม่นยำและใช้ตัดสินใจบริหารจัดการภัยได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้ขยายการใช้งาน “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” ไปสู่ระดับพื้นที่ ผ่าน “ศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้หน่วยงานในจังหวัดมีระบบข้อมูลสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ สามารถชี้เป้าคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมรับมืออุทกภัย รวมทั้งยังช่วยวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำและทำการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันได้จัดทำเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว พร้อมทั้งจะขยายผลจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำให้ครบ 76 จังหวัด ต่อไป
“ล่าสุด เราได้นำระบบสำรวจภูมิประเทศแบบเคลื่อนที่ (Mobile Mapping System: MMS) สำรวจข้อมูลระดับของพื้นที่ และรอยระดับคราบน้ำท่วม (flood mark) จัดทำข้อมูลน้ำท่วมจากระดับคราบน้ำท่วมสูงสุดในปี 2567 ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจเสร็จแล้วในจังหวัดแพร่ พะเยา และน่าน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานท้องถิ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 รวมทั้งจะวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองทางด้านอุทกวิทยา เพื่อจัดทำแผนที่น้ำท่วมที่แสดงค่าระดับความสูงและน้ำท่วม ซึ่งจะช่วยในการวางแผนป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
ที่สำคัญกระทรวง อว.โดย สสน.ยังได้แนวทางฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืนใน 3 ส่วนหลัก คือ 1.พัฒนาคน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และสารสนเทศเพื่อการรับมือสถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำชุมชนดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 2. พัฒนาพื้นที่ ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำ สร้างความเข้มแข็งระดับพื้นที่ด้วยการจัดการน้ำชุมชน แก้ไขปัญหาตามสภาพภูมิสังคมและสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ 3.พัฒนาข้อมูลและระบบ โดยการต่อยอดการจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกจากเครื่องมือสำรวจ-ตรวจวัดที่ทันสมัยและครอบคลุม ผังภูมิประเทศกลางเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในภาวะวิกฤติ
ที่มา : MgrOnline