NSM จัดเสวนา “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” ขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่มาตรฐานสากล
เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 13:11:15
• มุ่งสู่มาตรฐานสากลในการสื่อสารวิทยาศาสตร์
• เน้นการสร้างเครือข่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ
• อพวช. มีส่วนร่วมสำคัญในเสวนา
NSM จัดเสวนา “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” ขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่มาตรฐานสากลพร้อมสร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของไทยและนานาชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM จัดโครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” (International Symposium of Science Communication and Public Science Literacy) โดยร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญในระดับชาติและระดับนานาชาติด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณะรวมทั้งสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM กล่าวว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดและส่งต่อคุณค่าของวิทยาศาสตร์สู่สังคมในประเทศชั้นนำที่มีการใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ NSM ได้ระดมนักวิชาการด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และนิเทศศาสตร์ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ Thai PBS มาร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อสร้างผลงานนำไปปรับใช้เพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ตามบริบทต่าง ๆ ในสังคม
“NSM เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์และการพัฒนาด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และได้พัฒนาโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อช่วยพัฒนางานวิจัยด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปสู่ประชาชนพร้อมทั้งขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ไปสู่มาตรฐานสากลและยังเป็นการสร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของไทยและนานาชาติ ที่สำคัญจะช่วยพัฒนาบุคลากรและวิชาชีพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย” ผศ.ดร.รวิน กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เวทีเสวนาในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการรวมพลังความคิดและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงวิชาการด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพราะการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้นำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญเวทีนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายเข้าร่วม โดยเฉพาะ NSM ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานระดับประเทศที่ขับเคลื่อนงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด หวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และหลักสูตรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
สำหรับบรรยากาศในโครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์และการรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน” มี ดร.กรรณิการ์ เฉิน รอง ผอ.NSM และอุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมบรรยาย อาทิ Dr.CHO Sook-Kyoung, President of Global Public Communication of Science and Technology Network บรรยายความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในยุค AI รวมถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และบทบาทของไทยต่อการสร้างความตระหนักรู้ในวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอาเชียน, Dr.Finarya Legoh จาก The Indonesian Academy of Sciences Professor บรรยายบทบาทของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์กับสาธารณชน, Dr. Liu, Lan-Yu, Head of the Department of Science Communication, National Ping-Tung University, Taiwan บรรยายหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก, ผศ.ดร.ปอรรัชม์ ยอดเณร รองคณบดีด้านกิจการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายบทบาทของการสื่อสารมวลชนที่มีต่อการส่งเสริมการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย, นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ จาก อสมท.บรรยายบทบาทของสื่อในการเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์และสาธารณะและ ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายการแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : MgrOnline