‘ChulaGENIE’ Gen AI ในมหาวิทยาลัยตัวแรกของไทย จากความร่วมมือจุฬาฯ-Google

เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 11:43:57
X
• ChulaGENIE เป็น Generative AI สำหรับใช้งานภายในมหาวิทยาลัย
• บุคลากรจุฬาฯ ใช้งานได้ต้นปี 2568 นิสิตใช้งานได้เดือนมีนาคม 2568
• เป็น AI สำหรับใช้งานในมหาวิทยาลัยตัวแรกของประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Google Cloud นำเครื่องมือสร้าง Generative AI มาพัฒนาเป็นผู้ช่วย AI ‘ChulaGENIE’ เตรียมเปิดให้บุคลากรใช้งานในช่วงต้นปี 2568 ก่อนเปิดให้นิสิตในช่วงเดือนมีนาคม โดยเป็นการพัฒนา AI ใช้งานในมหาวิทยาลัยตัวแรกของประเทศไทย

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับกูเกิล สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังของจุฬาฯ ในการพัฒนาด้าน AI - ChulaGENIE นับเป็นก้าวแรกที่จุฬาฯ และ Google ร่วมมือกัน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ก้าวสุดท้าย เรายังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันในอนาคต

“จุฬาฯ วางวิสัยทัศน์ที่จะเป็น AI University หมายรวมถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาการดำเนินงานในทุกๆ ด้านของมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการ ChulaGENIE นี้เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะมาพัฒนาการเรียนรู้และการทำงานวิจัยของนิสิตและคณาจารย์”
โมเดล ChulaGENIE ที่รองรับการใช้งานหลากหลาย
โดยคาดว่า ChulaGENIE จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม หรือ Game Changer ในการเรียนรู้ของนิสิต ChulaGENIE เป็น Chatbot อเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานความรู้ระดับโลกของ Google ต่อไปนี้ คณาจารย์หรือแม้แต่นิสิตเองจะสามารถ Customize ระบบ ให้ตอบโจทย์เฉพาะทางในด้านต่างๆ ของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์
อรรณพ ศิริติกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กูเกิล คลาวด์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในการพัฒนา ChulaGENIE ทางกูเกิล คลาวด์ เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการนำโมเดล AI อย่าง Gemini และเครื่องมือในการพัฒนา AI เฉพาะทาง Vertex AI ให้ทางจุฬาฯ นำไปใช้งาน ทำให้ได้ความสามารถของ Generative AI ที่รองรับการทำงานแบบหลายภาษา (Multilingua) และรองรับข้อมูลหลายประเภท (Multimodal)

“Google Cloud เชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ช่วยให้องค์กรอย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ AI ที่มีความรับผิดชอบไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่างๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา”

ขณะเดียวกัน ข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ที่ถูกเทรนเข้าไปใน ChulaGENIE จะไม่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธาณะ เปิดให้เฉพาะคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตกว่า 50,000 คน สามารถเข้าถึง Google AI Essentials โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อประโยชน์ทางด้านสังคมด้วย

ที่มา : MgrOnline