ค้นบ้าน “แม่-สามารถ” พบเอกสารกู้ยืมเงิน-ทำบุญ ลงชื่อ “บอสพอล” เพิ่งทำในเรือนจำเมื่อ 12 พ.ย.67 ส่อทำเพื่อช่วยคนผิด เจอโทษหนักแน่
เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 10:52:51
• เอกสารดังกล่าวมีลายเซ็น "บอสพอล" เกี่ยวข้อง
• หากพบว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหา จะมีความผิดหนัก โทษเทียบเท่าคดีไซยาไนด์
MGR Online - ดีเอสไอ ค้นบ้านพัก“สามารถ-แม่” เจอเอกสารเงินกู้ยืม-ทำบุญ รวม 2.2 ล้านบาท ลงชื่อ “บอสพอล” เพิ่งทำขึ้นในเรือนจำ เมื่อ 12 พ.ย.67 โดยทนายรายหนึ่ง ชี้พิรุธทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา ส่อเจอโทษหนักเหมือนคดี “แอม ไซยาไนด์”
วันนี้ (28 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีพิเศษที่ 115/2567 (คดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน กรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด) นำหมายค้นและหมายจับเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 2 แห่ง คือ บ้านพัก นายสามารถ เจนชัยจิตรวณิช ในหมู่บ้านหรู ย่านถนนพรานนก-พุทธมณฑล แขวงบางพรหม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และ บ้านพัก นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ แม่ของนายสามารถ ที่บ้านพักในซอยพญานาค เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นพบเอกสารที่ ระบุ วันที่ 12 พ.ย. 67 จัดทำขึ้นโดยทนายรายหนึ่ง อ้างว่า จัดทำขึ้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลการโอนเงินให้กับมารดานายสามารถ โดยเนื้อหาในรายละเอียดแจ้งว่าการรับโอนเงินรวม 2,200,000 บาท รวม 12 ครั้ง ซึ่งชี้แจงว่าเป็นการกู้ยืมเงินและนายสามารถชำระคืนเป็นเงินสดแล้ว บางรายการแจ้งว่าเป็นเงินที่ฝากไปทำบุญ บางรายการแจ้งว่าเป็นการกู้ยืมเงิน บางรายการทำบุญทอดกฐิน แถมมีหนังสือเอกสารว่าขอบคุณ มารดาของนายสามารถ ที่ได้กู้ยืมเงินและได้คืนหมดแล้ว พฤติการณ์จากหนังสือดังกล่าวแหล่งข่าวบอกถึงความเท็จ หลายประการ เช่น
1. การยืมเงินเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีมาโดยตลอดทุกๆ ครั้ง แต่ทำไมการคืนเงิน บอสพอลจึงรับว่าได้รับเงินคืนเป็นเงินสดครบถ้วน ไม่ใช่ปกติของวิญญูชน
2. การทำบุญซึ่งเป็นหลักแสน ย่อมต้องมีใบอนุโมทนาบัตร เป็นธรรมดาที่ต้องใช้ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เงินทำบุญถ้าอ้างไปถึงวัดใดแล้ว ย่อมจะเป็นพยานหลักฐานในการมัดตัวให้แน่นหนาขึ้น
3. เอกสารดังกล่าว เป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายน่าจะพยายามหาช่องทางในการช่วยซ่อนเร้น ความจริงที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดโดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิดไว้เป็นการล่วงหน้า มีการติ๊กเครื่องหมายให้บอสพอล ลงชื่อในจุดต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งย่อมไม่ใช่เอกสารที่แสดงเจตจำนงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่น่าจะเป็นเรื่องของบุคคลดังกล่าวต้องการช่วยเหลือลูกความมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง อันไม่ใช่หน้าที่ของทนาย
นอกจากนี้ ในเอกสารนี้ คณะพนักงานสอบสวนยังเชื่อว่า มิใช่เอกสารของ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ “บอสพอล” เป็นผู้จัดทำขึ้น แต่อาจเป็นเอกสารที่บุคคลและคณะบุคคลร่วมกันในการจัดทำขึ้นอันเป็นเท็จเพื่อจะช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องหาที่กระทำความผิดเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ ตามมาตรา 189 ซึ่งถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และประพฤติผิดในจรรยาบรรณทนายความ อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งอาจจะมีความคล้ายกับกรณีคดี “แอม ไซยาไนด์” ที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกทนายความในคดีถึง 2 ปี ก็เป็นได้
ที่มา : MgrOnline