5 ประเด็นสำคัญยิ่งยวดซึ่งยังถูกปล่อยค้างคาไว้ หลังประชุมซัมมิตภูมิอากาศยูเอ็น COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน

เผยแพร่ : 28 พ.ย. 2567 00:55:51
X
• จีนแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว
• อินเดียแสดงท่าทีไม่สนใจและละเลยต่อการประชุม
• การประชุมสิ้นสุดลงโดยไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีของอินเดีย
ประธานการประชุมซัมมิตภูมิอากาศ COP29 มุคตาร์ บาบาเยฟ ขณะกล่าวในพิธีปิดการประชุม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบากู, อาเซอร์ไบจาน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2024
COP29: five critical issues still left hanging after an underwhelming UN climate summit in Azerbaijan
By Mark Maslin, Priti Parikh, Simon Chin-Yee
25/11/2024

ในการประชุมซัมมิตภูมิอากาศ COP29 คราวนี้ จีนแสดงความเอาจริงเอาจังมากเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลงทุนในพวกเทคโนโลยีสีเขียว ขณะอินเดียเพิกเฉยละเลยไม่ให้ความสำคัญแก่การประชุม กระนั้น ในทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุม อินเดียก็ได้แสดงความผิดหวังของพวกเขาด้วยคำแถลงที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง สำหรับสหรัฐฯได้อำลาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการอย่างจริงจังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเลย ในวันเดียวกับที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

การประชุมซัมมิตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 29 (หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า COP29) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้รับสมญาว่าเป็น “การประชุม COP ทางการเงิน” (finance COP) นั่นคือได้รับการคาดหมายว่าจะมีการจัดหาเงินทองซึ่งจะทำให้โลกสามารถเปลี่ยนผ่านหันเหออกมาจากการใช้พวกเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแผนการซึ่งประกาศเอาไว้ในการประชุม COP28 เมื่อปีที่แล้ว [1]
(ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change ใช้คำย่อว่า UNFCCC) จะมีการประชุมใหญ่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประจำทุกปี โดยถือว่าเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของผู้มีส่วนร่วมใน UNFCCC (UNFCCC parties) และเรียกการประชุมประจำปีนี้ด้วยคำย่อว่า COP (ย่อมาจาก Conference of the Parties การประชุมของผู้มีส่วนร่วม) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_Climate_Change_Conference -ผู้แปล)

การเจรจาของการประชุมคราวนี้จึงโฟกัสอยู่เรื่องการเพิ่มเงินจากจำนวนปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งพวกประเทศพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ที่จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือเหล่าประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด ให้สามารถสร้างศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของพวกเขาขึ้นมาได้ หลายฝ่ายหลายคนเรียกร้องให้เพิ่มตัวเลขนี้ขึ้นเป็น 10 เท่า นั่นคือจำเป็นต้องปรับขึ้นเป็นอย่างน้อยที่สุด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี [2]นอกจากนั้น การอภิปรายถกเถียงกันยังมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องใครควรเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินทุนให้แก่ กองทุนความสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage fund) [3] ซึ่งได้ตกลงกันให้จัดตั้งขึ้นในการประชุม COP27 โดยกองทุนนี้มุ่งให้การชดเชยแก่พวกประเทศกำลังพัฒนา จากผลกระทบอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมคราวนี้มีเนื้อหาต่างๆ ผสมผเสกันหลายหลาก และต่อไปนี้คือสรุป 5 ประเด็นสำคัญตามความคิดเห็นของทางคณะผู้เขียน ดังนี้:

1.ไหนล่ะ เงิน?

เรามีความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องลงทุนเป็นเงินระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ในเรื่องการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่าถึงแม้การประชุมปีนี้ได้รับการเอ่ยถึงว่าเป็น ปี COP ทางการเงิน เอาเข้าจริงก็มีการวางเงินมากองบนโต๊ะกันน้อยมากๆ

พวกประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องขอเงินจากเหล่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นจำนวนปีละ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035 โดยรวมเงินสมทบซึ่งเพิ่มเข้ามาแบบสมัครใจจากพวกประเทศซึ่งมีฐานะค่อนข้างมั่งคั่งแล้วแต่ยังถูกจัดชั้นเป็นชาติกำลังพัฒนาอยู่ อย่างเช่น จีน เข้าไว้ด้วย ทว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับ ณ ย่างเข้าวันใหม่ชั่วโมงแรกๆ ของวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ภายหลังการประชุมซัมมิตครั้งนี้เลยเวลากำหนดปิดมาแล้ว 33 ชั่วโมง คือคำมั่นสัญญาที่จะให้ต่ำกว่านั้นมาก นั่นคือปีละ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2035 โดยนับรวมทั้งที่มาจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน

กองทุนความสูญเสียและความเสียหาย [4] ตอนนี้ถือว่าเปิดขึ้นมาและดำเนินการกันแล้ว และมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือพวกชาติที่เปราะบางมากๆ มีเงินใช้จ่ายสำหรับรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทว่ายังคงมีงบประมาณต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน่าเศร้าใจมาก ซึ่งก็เหมือนๆ กับกลไกทางการเงินพวกนี้จำนวนมากนั่นแหละ แล้วยังไม่ได้มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นคนจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ และใครที่สามารถยื่นขอรับเงินจากกองทุนนี้ นอกจากนั้นแล้ว ณ ที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินปฏิบัติการอย่างอื่นๆ ด้วย เป็นต้นว่า เรื่องทำให้ภาคการเดินเรือ [5] และการขนส่งอื่นๆ ใช้เชื้อเพลิงในแบบปล่อยก๊าซมลพิษเป็นศูนย์ อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้จะต้องมีการใช้เงินทองเพื่อภูมิอากาศกันเป็นก้อนโตๆ ทีเดียว และขณะนี้แทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ให้เห็นกัน

2. จีนก้าวขึ้นมา, สหรัฐฯบอกลา, และอินเดียไม่ยอมออกจากบ้าน

จีนแสดงความเอาจริงเอาจังมากเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการลงทุนในพวกเทคโนโลยีสีเขียว เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจนมากจากการเข้ามีปฏิสัมพันธ์อย่างแข็งขันในการประชุม COP29 ทั้งจากระดับรัฐมนตรี, ภาคเอกชน, และระดับผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ดี จีนยังคงต้องการยึดมั่นอยู่กับคำจำกัดความของการเป็น “ชาติกำลังพัฒนา” ที่ได้ใช้กันมาตั้งแต่ตอนที่กำลังมีการสถาปนากรอบภูมิอากาศของสหประชาชาตินี้ขึ้นมา ย้อนหลังไปในปี 1992 ภายใต้คำจำกัดความดังกล่าว จีน—ที่เวลานี้เป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก— ยังคงถือว่าอยู่ระหว่างการพัฒนา และจึงจำเป็นเพียงแค่ต้องออกเงินสมทบร่วมส่วนอย่างสมัครใจ [6] ให้แก่เรื่องการเงินเพื่อภูมิอากาศ

ในอีกด้านหนึ่ง อินเดียเพิกเฉยละเลย COP29 โดยมองว่าเป็น “ปีประชุม COP ทางเทคนิค” (technical COP) ปีหนึ่งเท่านั้น ขณะที่คณะผู้นำอาวุโสพากันอยู่แต่ในประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเลือกตั้งในรัฐมหาราษฎร์ คณะผู้แทนของอินเดีย [7] บอกว่า เงินลงทุนจำนวน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้นควรที่จะมาจากพวกชาติพัฒนาแล้ว (ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมรวมถึงอินเดียด้วย) กระนั้น ในทันทีที่ที่ประชุมคราวนี้ลงมติรับรองการตกลงต่างๆ ของการประชุม อินเดียก็ได้แสดงความผิดหวังของพวกเขาในคำแถลงที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง

สำหรับสหรัฐฯได้กล่าวอำลาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการอย่างจริงจังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวันเดียวกับที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (5 พ.ย.) [8] ซึ่งนำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกซบเซาเหงาหงอย ณ ศาลาแสดงนิทรรศการของประเทศนี้ รวมทั้งมีการบอกยกเลิกห้องพักโรงแรมในกรุงบากูไปจำนวนหนึ่ง หลายฝ่ายหลายคนเสนอแนะว่าการที่ซัมมิต COP29 ขาดไร้ความทะเยอทะยานในเรื่องการเงิน ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากสหรัฐฯจะไม่ร่วมส่วนสมทบใดๆให้แก่กองทุนด้านนี้ ในระหว่างสมัยประธานาธิบดีของทรัมป์นั่นเอง [9]

3. ซาอุดีอาระเบียพยายามทำให้งานกร่อย

ซัมมิตภูมิอากาศเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการตกลงอนุมัติร่างญัตติครั้งประวัติศาสตร์ญัตติหนึ่งในเรื่องว่าด้วย “การเปลี่ยนผ่านออกมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ทว่าตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของ COP29 ทีเดียว ทางซาอุดีอาระเบียก็พยายามทำให้แน่ใจว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกนำมาเน้นย้ำอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, และประเทศอื่นๆ จำนวนมาก –รวมกระทั่งถึงเพื่อนรัฐน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเอง (และชาติเจ้าภาพของ COP28) อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ [10]

ณ ชั่วโมงสุดท้าย ญัตตินี้จึงได้ถูกนำมารวมเข้าไว้ในการตกลง COP ของปีนี้ด้วย ทว่าอยู่ในลักษณะเพียงแค่การกล่าวถึงโดยอ้างอิงหมายเลขของย่อหน้าและหมายเลขของเอกสารเท่านั้น ดังนั้นคำว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิล” จึงไม่ได้ปรากฏในการตกลงของปีนี้แต่อย่างใด กระนั้น ตัวเอกสารระบุการตกลงกันในปีนี้ยังคงมีประโยคที่ว่า “พวกเชื้อเพลิงในระยะเปลี่ยนผ่าน สามารถที่จะแสดงบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้แก่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” การกล่าวเช่นนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นการอ้างอิงถึงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นเชื้อเพลิงในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างหนึ่ง ดังนั้นนี่จึงเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งสำหรับพวกกลุ่มล็อบบี้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล [11]

4. คำมั่นสัญญาในเรื่องก๊าซมีเทน

มีผลการประชุมที่เป็นไปในทางบวกบางประการออกมาจากซัมมิตครั้งนี้เหมือนกัน อย่างเช่น คำมั่นสัญญาในเรื่องก๊าซมีเทน (methane) มีเทน เป็นก๊าซซึ่งมีศักยภาพที่จะกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก และสามารถแพร่กระจายออกมาจากอาหารที่เน่าเสียย่อยสลาย ตลอดจนของเสียทางอินทรีย์อื่นๆ บ่อยครั้งทีเดียวจากหลุมฝังกลบที่ขุดลงไปในดิน ถัดจากเรื่องเกษตรกรรมและเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว นี่คือแหล่งที่มาใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของไอเสียมีเทนซึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์

ณ COP29 มี 30 ประเทศที่เป็นตัวแทนของการปล่อยไอเสียมีเทนจากของเสียอินทรีย์เกือบๆ 50% ของโลก ได้ลงนามให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยไอเสียเหล่านี้ [12] โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศในอนาคตของพวกเขา คำมั่นคราวนี้จะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การพัฒนาพวกเทคโนโลยีในการดักจับมีเทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ตั้งพวกหลุมกลบฝัง และในการใช้มีเทนเหล่านั้นบางส่วนมาเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อให้ความร้อนหรือกระแสไฟฟ้า

5. โฟกัสที่เยาวชน

ณ COP29 เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้กล่าวปราศรัยกับพวกผู้แทนเยาวชนว่า “พวกคุณมีสิทธิทุกๆ อย่างที่จะรู้สึกโกรธเกรี้ยว ผมเองก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวเหมือนกัน” [13]

สหราชอาณาจักรเป็นรายแรกของ 196 ประเทศที่ลงนามใน มาตราว่าด้วยเยาวชนสากล (universal youth clause) [14] ซึ่งจัดทำขึ้นมาเพื่อจะนำไปบูรณาการเข้าสู่คำมั่นสัญญาที่ประเทศต่างๆ ได้ให้ไว้ในเรื่องการตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนของพวกเขา (ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อว่า NDCs) ถ้าหากได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ แล้ว มาตรานี้จะทำให้ถือว่าเด็กๆ และคนหนุ่มสาวคือแกนกลาง ไม่เพียงในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ในฐานะที่จะเป็นผู้มีบทบาทก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศจำนวนมากเกิดการถดถอยทางการเมืองหันกลับมาต่อต้านการปฏิบัติการด้านภูมิอากาศแล้ว การมอบอำนาจให้แก่เยาวชนเช่นนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญจริงจังมาก เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้เข้ากุมบังเหียนเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับพวกเขาเองและสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย

ซัมมิต COP29 มีการตัดสินใจที่เป็นเรื่องใหม่ซึ่งจะมีผลใหญ่โตต่อไปในอนาคตหรือไม่? คำถามคือ ไม่มี แต่ฝ่ายต่างๆ จำนวนมากก็มองการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นหินรองรับเท้าสำหรับการก้าวไปสู่ COP30 ซึ่งจะจัดขึ้นที่บราซิลในปีหน้า ซึ่งเป็นซัมมิตครั้งที่จะเป็นหลักหมายของการครบรอบ 10 ปีของข้อตกลงปารีส (Paris agreement) โดยที่การยื่นแผนการเพื่อลดการปล่อยไอเสียระดับชาติของประเทศต่างๆ ครั้งต่อไป ก็ถึงกำหนดต้องกระทำกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ด้วย

ในความเป็นจริง กระทั่งในสัปดาห์สุดท้ายของซัมมิตคราวนี้ โฟกัสก็ถูกปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วไปยัง COP30 ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “การประชุม COP เยาวชน” (Youth COP) เรื่องนี้มีหลักฐานรองรับ ณ COP29 ที่มีทั้งการส่งเสียงและการปรากฏตัวอย่างแข็งขันของพวกเยาวชน เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้จัดทำ NDCs ที่ถือเยาวชนเป็นแกนกลาง

อย่างไรก็ตาม หากจะตีความอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ก็ต้องยอมรับว่า COP29 คือความล้มเหลวรวมหมู่ เพราะไม่สามารถจัดหาจัดทำการลงทุนซึ่งจำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนโลกให้หันเหออกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซัมมิตครั้งนี้ถูกประทับชื่อเอาไว้ว่าเป็น ปี COP ทางการเงิน แต่เงินน่ะอยู่ที่ไหนล่ะ? ทั้งหมดเหล่านี้หมายความว่า เรายังคงกำลังเฝ้ามองดูอนาคตที่โลกจะต้องร้อนขึ้นในระดับสูงกว่า 3 องศาเซลเซียส

มาร์ค มัสลิน เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อยู่ที่มหาวิทยาลัย ยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน (UCL)ปรีตี ปาริค เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระหว่างประเทศ UCL ไซมอน ฉิน-ยี อาจารย์อาวุโส ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ UCL

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่นhttps://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/cop29-five-critical-issues-still-left-hanging-after-an-underwhelming-un-climate-summit-in-azerbaijan-244350

เชิงอรรถ
[1] https://theconversation.com/cop28-five-major-outcomes-from-the-latest-un-climate-summit-219655
[2] https://www.weforum.org/stories/2024/11/why-cop29-must-secure-trillion-dollar-climate-finance-goal/
[3] https://theconversation.com/cop27-will-be-remembered-as-a-failure-heres-what-went-wrong-194982
[4] https://unfccc.int/loss-and-damage-fund-joint-interim-secretariat
[5] https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/market-insights/latest-news/lng/111324-cop29-call-to-action-pushes-for-acceleration-of-zero-emission-fuels-uptake-in-shipping
[6] https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/market-insights/latest-news/energy-transition/111524-cop29-china-will-only-make-voluntary-climate-finance-contributions-official
[7] https://pib.gov.in/PressReleaseIframePage.aspx?PRID=2075707
[8] https://www.globalgovernmentforum.com/trump-expected-to-pull-out-of-paris-agreement-but-other-climate-rollbacks-may-be-tougher/
[9] https://www.politico.eu/article/climate-finance-proposal-cop29-azerbaijan-green-economy/
[10] https://www.theguardian.com/environment/2024/nov/22/cop29-uae-united-arab-emirates-transition-fossil-fuels-climate
[11] https://theconversation.com/thousands-of-corporate-lobbyists-are-at-the-un-climate-summit-in-baku-but-what-exactly-is-lobbying-and-how-does-it-work-242639
[12] https://cop29.az/en/media-hub/news/countries-representing-nearly-50-of-global-methane-emissions-from-organic-waste-pledge-to-reduce-emissions-from-sector
[13] https://news.un.org/en/story/2024/11/1156996
[14] https://universalyouthclause.org/the-clause

ที่มา : MgrOnline