สมาคมนักวางแผนการเงินไทย’ เปิดมุมมองตอบรับเทรนด์เทคโนโลยี AI
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 16:44:37
• สมาคมฯ เผยแพร่มุมมองการวางแผนการเงินยุคดิจิทัล
• เจาะลึกแนวโน้มและความเสี่ยงด้านการเงินในอนาคต
• เน้นการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลและทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดมุมมองตอบรับเทรนด์กับการวางแผนการเงินยุคดิจิทัลในงาน ‘TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024’ พร้อมเจาะลึกแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงอนาคต และการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล
“สมาคมนักวางแผนการเงินไทย” หรือ TFPA ชี้เทรนด์ AI กับการวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล ผ่านงานสัมมนาใหญ่ “TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024” ด้าน “สำนักงาน คปภ.” รุกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีรองรับ AI “เกียรตินาคินภัทร” มองการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องใหญ่ พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 ท้าทาย ส่วน “สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” และ “ผู้บริหาร ViaLink - สถาบันอนาคตไทยศึกษา” มอง AI ยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100% ขณะที่ “สำนักงาน ก.ล.ต.” เร่งกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เล็งย้าย Investment token อยู่ใต้การกำกับของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ “EY Thailand - เมพ คอร์ปอเรชั่น” แนะการส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาและสินทรัพย์ดิจิทัล ควรทำทะเบียนทรัพย์สินและพินัยกรรม
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่มีผลต่อการวางแผนการเงิน ล่าสุดได้จัดงานสัมมนาใหญ่ “TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด AI กับการวางแผนการเงิน” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงในอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และแนวทางการเตรียมตัวรับมือ 2) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กับผลกระทบที่มีต่อบริการทางการเงิน และการประกันภัย โดยมีความเห็นว่า AI จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อนักวางแผนการเงินในแง่ของการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการที่มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ความสามารถของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เพราะในการให้คำแนะนำกับลูกค้า ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่หลากหลายและภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนของลูกค้า ความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงในมิติของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างความไว้วางใจ ซึ่ง AI ยังขาดทักษะในด้านนี้ และ 3) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล (Digtial Intellectual Property) และกระบวนการบริหารจัดการส่งมอบให้ทายาท
สำนักงาน คปภ. เตรียมพร้อมรับ AI
ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึง AI และการขับเคลื่อนการประกันภัยและความท้าทายว่า สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการขับเคลื่อนภายในสำนักงาน คปภ. และอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี” เพื่อรองรับ ได้แก่ 1) “การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล” โดยการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทุกมิติ เช่น การรับเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัย, โมบายแอปพลิเคชัน OIC Protect การออกใบอนุญาตด้วยระบบ E-License เป็นต้น 2) “การเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัย” โดยดำเนินการพัฒนา Insurance Bureau System (IBS) และ OIC Gateway เพื่อให้บริการข้อมูลแก่อุตสาหกรรมประกันภัย และมีแผนขยายบริการข้อมูลไปสู่ทายาทผู้เอาประกันภัยในปี 2568 และ 3) “ข้อมูลเปิดด้านการประกันภัย” เช่น พัฒนา OIC connect การเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น
ทั้งนี้ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ได้ประมาณการว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยมีตัวอย่างของบริษัทที่นำ AI มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน เช่น PINGAN บริษัทประกันภัยรายใหญ่จากจีน นำ AI มาใช้ในกระบวนการเคลมประกันภัยรถแบบครบวงจร Lemonade จากสหรัฐฯ นำ AI ใช้ประเมินความเสี่ยงและอนุมัติกรรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยอยู่ในระยะแรกของการประยุกต์ใช้ Generative AI โดยมีผลสำรวจพบว่า มีองค์กร 30.8% ที่เริ่มใช้งาน Generative AI แล้ว และในจำนวนนี้ 19.2% ได้ใช้งานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และ 23.1% ใช้งานแล้ว 6-12 เดือน นอกจากนี้ พบว่า 5 อันดับแรกของประเภทการใช้งาน Generative AI ของบริษัทประกันภัย ได้แก่ 1) ปรับปรุงกระบวนการเคลมประกันภัย 2) ตรวจสอบการทุจริตเคลมประกัน 3) กำหนดราคา 4) บริการลูกค้า และ 5) กิจกรรมการตลาด โดยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. มีแผนจัดทำ AI Framework เพื่อกำกับดูแลและสร้างความสมดุลในการใช้ AI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และจริยธรรม
5 การเปลี่ยนแปลงที่มากับ “โดนัลด์ ทรัมป์”
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวถึงแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ว่า การได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1) การดำเนินการกับผู้อพยพมายังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย อาจมีผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 2) นโยบายการคลัง เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจทำให้สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดดุลการคลัง 3) De-Regulation เช่น การยกเลิกกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เป็นต้น 4) การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงนโยบายทางการค้า
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ประมาณ 18% และได้ดุลการค้าประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ส่วนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% มองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองมากกว่าจะสามารถขึ้นภาษีในอัตราดังกล่าวได้ทุกอุตสาหกรรม และ 5) นโยบายกับต่างประเทศด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การเจรจาระหว่างยูเครน-รัสเซีย การเจรจาสงครามการค้ากับจีน
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตช้ากว่าที่ควร และมีปัญหาด้านขีดความสามารถการแข่งขัน รวมถึงการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “บุญเก่าหมดเร็ว สร้างบุญใหม่ไม่ทัน” และปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตปีละ 4-5% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 มีความท้าทายคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไปหรือไม่ ขณะที่การปฏิรูปทางการคลังและการปรับขึ้นอัตราภาษีบางประเภทจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างแน่นอน และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในปีหน้าคือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงและสหรัฐฯ น่าจะยังไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย
ชี้ AI ไม่สามารถแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิวัติการเงินและประกันภัยด้วย AI & Data Analytics ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล โดยในอุตสาหกรรมการเงินสามารถนำมาปรับใช้กับ Micro Lending หรือ สินเชื่อรายย่อย โดยคนกลุ่มนี้อาจไม่มีประวัติในฐานข้อมูลระบบการเงิน หากนำ AI มาใช้ก็จะช่วยรวบรวมข้อมูลประวัติการใช้ชีวิตและพฤติกรรมทางการเงินบางอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ วงเงินเท่าไร และเหมาะกับสินเชื่อประเภทไหน หรือใช้เพื่อพิจารณาสินเชื่อแก่เกษตรกร
โดยการนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม มองว่า AI ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีความรู้สึก แตกต่างจากนักวางแผนการเงินเมื่อได้พูดคุยกับลูกค้า ก็อาจจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่า
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink และกรรมการผู้จัดการแห่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า AI มีความสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหลากหลายอาชีพ เช่น AI สามารถวิเคราะห์การทำ Discount Cashflow (DCF) ซึ่งต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลา แต่ AI สามารถวิเคราะห์ได้ในระยะเวลาไม่นานและสามารถแสดงข้อมูลในเชิงสถิติได้ นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้น มองว่าในอนาคตการนำ AI มาใช้ในการเคลมประกันภัย การตอบคำถามผ่านระบบแชตบอท หรืองานที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำกันทุกวัน จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการใช้ AI ก็มีเช่นกัน เช่น ต้นทุนการใช้สำหรับ SME จะสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จะต้องมีมนุษย์มารับผิดชอบเมื่อมีการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ของ AI
สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ อดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทั้งจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเข้ามาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI และสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลของธรรมชาติ หากไม่เร่งแก้ไขสภาพภูมิอากาศจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก โดยโลกจะเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมย้าย Investment Token อยู่ใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวถึงสถานะแนวนโยบาย การกำกับดูแล และพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในประเทศไทยและต่างประเทศว่า ประเทศไทยได้มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ในการกำกับดูแล Digital Asset และได้มีทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสากล โดยสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin, Ethereum เป็นต้น 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน ซึ่งคล้ายกับหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงให้ Investment token บางลักษณะเป็น “หลักทรัพย์” และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันประเทศไทยได้เสนอขาย Investment token แล้ว 3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 5.1 พันล้านบาท ได้แก่ สิริฮับ เดสทินี โทเคน และเรียลเอ็กซ์ และอยู่ระหว่างหารือเพื่อเสนอขายอีก 10 ราย และ 3. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำกับดูแลการเสนอขาย Digital Asset เพื่อระดมทุน จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับการเสนอขาย IPO โดยจะต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ขณะที่การเสนอขาย Investment token จะต้องมีผู้ให้บริการระบบเสนอขาย (ICO Portal) เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีทรัสตี (Trustee) เข้ามารับโอนทรัพย์สินโดยทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือ Token ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะได้เห็น Investment Token ที่ระดมทุนในโครงการผลิตคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเรื่องภาษีของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ผู้เสนอขาย Investment token ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ลงทุนใน Investment token และ Real Estate-Backed Token จะเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% แต่สามารถยื่นเสียภาษีพร้อมกันกับภาษีเงินได้ในช่วงปลายปีได้ และเสียภาษีจากส่วนต่างการขายสินทรัพย์ฯ (Capital Gain Tax) ขณะที่ Cryptocurrency ที่เทรดในตลาดทั่วไปได้รับการยกเว้น VAT และสามารถนำกำไรขาดทุนมาหักลบกันได้ ส่วน Utility Token มีการเสีย VAT ซ้ำซ้อนทั้งตอนออก Token และตอนใช้สิทธิ์ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมสรรพากร ให้มีการเสียภาษีเทียบเคียง
ที่มา : MgrOnline