กทพ.ครบรอบ 52 ปี เตรียมเปิดสะพานพระราม 10 "ด่วนพระราม 3"-ยันไม่ล้ม N1 แต่ต้องปรับรูปแบบใหม่ลดเวนคืน

เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 16:20:22
X
• เตรียมเปิดสะพานพระราม 10 (พระราม 3-ดาวคะนอง) ปลายปี 2567
• ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ 100% ใน 4 ปี
• โครงการ N1 ไม่ถูกยกเลิก แต่ต้องปรับแบบ ลดค่าก่อสร้างและเวนคืน
• โครงการทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกายังล่าช้า รอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

กทพ.ครบรอบ 52 ปี เร่งเปิดใช้สะพานพระราม 10 “ทางด่วนพระราม 3- ดาวคะนอง” ปลายปี 67 “สุรเชษฐ์“ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ เชิงพาณิชย์ 100% ใน 4 ปี ยันไม่ล้มทางด่วน N1 แต่ต้องปรับรูปแบบ ลดค่าก่อสร้าง-เวนคืน ตอกเข็มด่วน’จตุโชติ-ลำลูกกา”ติดหล่มพรฎ.เวนคืนไม่ออก

วันที่ 27 พ.ย. 2567 นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) กล่าวในการเป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ครบรอบ 52 ปี ว่า กทพ. เป็นหน่วยงานที่ภารกิจอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทพ. มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass รวมถึงการเปิดบริการ Application EXAT Portal และล่าสุดคือการพัฒนาโครงการสะสมคะแนน “EXAT REWARD” เพื่อยกระดับ การให้บริการบัตร Easy Pass เพิ่มความคุ้มค่าให้กับประชาชนในการใช้ทางพิเศษอีกด้วย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร (กม.) มีปริมาณจราจรประมาณ 1.7 ล้านคน/วัน มีรายได้จากค่าผ่านทางประมาณ 68.7 ล้านบาท/วัน โดยมีแผนลงทุนทางพิเศษอีก 10 โครงการ งบลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท ในอีก 10 ปี เนื่องจากเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

@เตรียมเปิดใช้สะพานพระราม 10

โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ 1. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. ซึ่งแบ่งก่อสร้างงานโยธา 4 สัญญา ปัจจุบันสัญญาที่ 4 คือ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยได้รับพระราชทานชื่อ สะพานทศมราชัน หรือสะพานพระราม 10 ซึ่งเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร โดยในวันที่ 14 ธ.ค. 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดําเนินทรงเปิดสะพานฯ หลังจากนั้น จะมีงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

โดยขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพื่อกำหนดวันเปิดใช้สะพานพระราม 10 อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าเร็วสุดคือปลายเดือนธ.ค.2567 ต้อนรับการเดินทางเทศกาลปีใหม่ หรืออย่างช้าต้นเดือนม.ค. 2568 ซึ่งสะพานพระราม 10 มีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป/กลับ รวม 8 ช่องจราจร) จะช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรจากสะพานพระราม 9 ปัจจุบันที่มีกว่า 1.5-2 แสนคัน/วันได้อย่างมาก ส่วนทางด่วน สายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ จะเปิดให้บริการตลอดสายได้ภายในปี 2568

“หลังจากเปิดใช้ทางด่วนพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ฯตลอดสายแล้ว กทพ.เตรียมแผนที่จะปิดสะพานพระราม 9 ซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ซึ่งเดิมเคยประมาณการณ์ค่าซ่อมบำรุงไว้ที่ 1,000 ล้านบาท แต่ได้หารือกับทีมวิศวกร เพื่อหาแนวทางที่จะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อประหยัดงบประมาณ”

2.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. มูลค่าสัญญา 18,699.93 ล้านบาท ซึ่งกทพ.ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เมื่อเดือนส.ค. 2567 แต่ตอนนี้ ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเนื่องจาก ต้องรอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอครม.ได้เร็วๆนี้ จากนั้นจะเร่งรัดการก่อสร้าง ภายใน 3 ปี โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2571

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญในเขตเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางยกระระดับชั้นที่ 2 (ช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังมีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่1 (ช่วงกะทู้- ป่าตอง) และ ระยะที่ 1 (ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด

@ยันไม่ล้ม ทางด่วนทดแทน N1 "เกษตร-งามวงศ์วาน"ขอเวลาทบทวนลดผลกระทบ

นายสุรเชษฐ์กล่าวถึงโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 (ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน -ถนนประเสริฐมนูกิจ) ว่า กทพ.ไม่ได้ยกเลิกโครงการ แต่เป็นการชะลอเพื่อทบทวนแก้ปัญหาเนื่องจาก การก่อสร้างเป็นอุโมงค์ที่มีความลึกมาก ทำให้มีค่าก่อสร้างสูง ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินติดลบ ขณะที่ต้องเวนคืนที่ดินกระทบประชาชนค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงรายงานบอร์ดกทพ.และกระทรวงคมนาคม เพื่อขอทบทวน รูปแบบก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบการเวนคืน โดยยืนยันความจำเป็นของเส้นทางนี้ ภายใต้หลักการ เพิ่มโครงข่ายทางด่วน เชื่อมกทม.ฝั่งตะวันตกและตะวันออก

“ยืนยันไม่ล้ม ยังคงเดินหน้าตามแผนเต็มที่ แต่ต้องทบทวนหาแนวทางดำเนินการอื่น เพื่อลดผลกระทบและลดค่าก่อสร้างลง ดังนั้นอาจจะไม่ใช้รูปแบบอุโมงค์ และไม่มีการปรับแนวเส้นทางเพราะจะไปสร้างปัญหาที่จุดอื่นแทน”

@เพิ่มรายได้ เชิงพาณิชย์ 100% ใน 4 ปี

นอกจากนี้ กทพ.มีแผนที่ตจะเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์จากพื้นที่ในเขตทางด่วน จากปัจจุบันที่มีรายได้ประมาณ 336 ล้านบาท/ปี เพิ่มเป็น 600 ล้านบาทภายใน 4 ปี หรือเติบโต 100% โดยปัจจุบัน กทพ.มีพื้นที่รวม 2 ล้านตารางวา เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดหาประโยชน์ได้ประมาณ 1 ล้านตารางวา ปัจจุบมีการใช้ประโยชน์ แล้ว 6 แสนตารางวา ซึ่งยอมรับว่าส่วนนี้ ยังต้องเข้าไปจัดระเบียบเพื่อทำสัญญาเช่าให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 4 แสนตารางวาที่เหลือจะมีแผนพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่ดินแปลงใหญ่ที่จะสามารถนำออกประมูลในรูปแบบ PPP ในปี 2568 คือ โครงการการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอครม.

ที่มา : MgrOnline